เลือกตั้งและการเมือง
สว.เห็นชอบ 'เสียงข้างมาก 2 ชั้น' ทำประชามติ - 'นันทนา' ชี้ทำแบบนี้ ชาวบ้านมองทำตามใบสั่ง
โดย nattachat_c
1 ต.ค. 2567
21 views
วานนี้ (30 ก.ย. 67) ที่รัฐสภา ในประชุมวุฒิสภา (สว.) ที่มีนายมงคล สุระสัจจะ ปรธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว
นางสาวนันทนา นันทวโรภาส สว. ลุกอภิปรายคนแรกในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ลุกขึ้นอภิปรายในมาตรา 7 แก้ไขมาตรา 13 โดยระบุว่า ความจริงตนเองควรขึ้นไปนั่งบนบัลลังก์แถลงผลการประชุมพิจารณา พ.ร.บ.ประชามติที่สนับสนุนร่างของสภาผู้แทนราษฎรอย่างราบรื่น ถึงตอนนี้ก็ยังงงว่า ทำไมตนเอง และกรรมาธิการฝ่ายรัฐบาล 5 คน จะต้องอภิปรายคัดค้านมติของคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ทั้งที่การประชุมครั้งแรกทุกคนดูเหมือนจะยอมรับ และสนับสนุนแนวทางของเสียงข้างมากชั้นเดียวตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้เสนอมา
ตลอดการประชุม 4 ครั้งเรามีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชน เช่น ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ศ.วุฒิสาร ตันไชย นายกฤช เอื้อวงศ์ นายนิกร จำนง ที่อภิปรายข้อดีของแนวทางเสียงข้างมากชั้นเดียวอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม ซึ่งกรรมาธิการขอให้ลงมติสนับสนุนไปในทิศทางเดียวกัน ปฏิเสธการแปรญัตติของนายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว.ที่เสนอให้มีการแก้ไขข้อความในมาตรา 13 ให้กลับไปใช้เสียงข้างมากสองชั้นในการทำประชามติรัฐธรรมนูญ
ในการประชุมครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา ประธานคณะกรรมาธิการเสนอให้ที่ประชุมทบทวนมติที่กรรมาธิการได้ลงมติไปการประชุมครั้งที่ 4 น่ามหัศจรรย์ที่กรรมการอภิปรายสนับสนุนโดยพร้อมเพรียง ก่อนลงมติเห็นชอบในมาตรา 13 ให้การทำประชามติต้องใช้เสียงข้างมากสองชั้น กล่าวคือให้มีผู้มาใช้สิทธิมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
นางสาวนันทนา กล่าวต่อว่าในวันอังคารที่ 24 ก.ย.67 มีหัวหน้าพรรคการเมืองหนึ่งระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงตั้งคำถามว่าเป็นเหตุให้มีการกลับมติในวันพุธที่ 25 ก.ย.หรือไม่ การกลับมติโดยพร้อมเพรียงกันด้วยเสียง 17:1 มันไม่งาม ชาวบ้านจะนินทาว่าการลงมติครั้งนี้เป็นไปตามใบสั่ง
น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. ฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อย ยังได้อภิปรายว่า ขอสว.อย่าความจำสั้น เพราะการลงมติวาระแรก มีผู้ลงมติรับหลักการ 179 เสียง ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญที่มีปัญหา ทำให้การเมืองไร้เสถียรภาพ ปัญหาเศรษฐกิจ ดังนั้น ขอให้กฎหมายประชามติเป็นก้อนหินก้อนแรก เพื่อสร้างถนนประชาธิปไตย
ขณะที่ นายนิกร จำนง กมธ.เสียงข้างน้อยในสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) อภิปรายว่าไม่เห็นด้วยกับ กมธ.เสียงข้างมาก เนื่องจากการศึกษาของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน และตนทำงานในคณะดังกล่าวพบว่า เกณฑ์ออกเสียงประชามติด้วยเสียงข้างมาก 2 ชั้น เป็นอุปสรรคที่ทำให้ประชามติผ่านยาก จึงเสนอให้แก้ไขให้ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว ซึ่งเป็นฉบับที่เสนอให้วุฒิสภาพิจารณา
นายนิกร อภิปรายด้วยว่าหาก สว. เห็นด้วยกับ กมธ.เสียงข้างมาก ต้องกลับไปสภาฯ ทั้งนี้ เชื่อว่าสภาฯ จะยืนยันตามร่างของตนเอง เพราะได้ลงมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ ดังนั้น สิ่งที่ตามมาคือ ตั้ง กมธ.ร่วมกันฝ่ายละ 10 คน หากตกลงไม่ได้ ไม่มีข้อสรุป และส่งไปยังแต่ละสภา พิจารณา หากสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบ ต้องถูกแขวนไว้ 180 วัน จากนั้นสภาฯ ถึงจะลงมติ ซึ่งจะใช้ร่างของสภาฯ ไม่ผ่านวุฒิสภา
นายนิกร จำนง ยังได้บอกอีกว่า สิ่งที่จะกระทบคือ รัฐธรรมนูญของประชาชนจะเกิดไม่ทันในรัฐสภาชุดนี้แน่ เพราะมีเวลาไม่ถึง 3 ปี แล้วใครจะรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้น ที่จะไม่มีรัฐธรรมนูญของประชาชน ตามที่คณะกรรมการฯ เล็งกันไว้ คือ ทำประชามติพร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่น วันที่ 2 ก.พ. 68 หากไม่ทันจะเพิ่มค่าใช้จ่าย ผมตั้งความหวังไว้ ผมอยากให้ สว.เห็นด้วยกับร่างของสภา ไม่เช่นนั้นจะสุ่มเสี่ยงถูกโทษว่ารั้งรัฐธรรมนูญของประชาชนไว้
นายนิกร อภิปรายด้วยว่า ตนขอเสนอวันและเวลา รวมถึงโอกาส คือ แม้สว.จะโหวตตามกมธ.ที่แก้ไข ส่งไปสภาฯ 9 ต.ค. พิจารณาตั้งกมธ. ร่วมกัน จากนั้น มีเวลา 16 - 23 ต.ค. กมธ.พิจารณาหาทางออก ต่อมา วันที่24 ต.ค. กมธ.ร่วมกันส่งให้สองสภา 28 ต.ค. วุฒิสภาเห็นชอบตามร่างของกมธ.ร่วมกัน จากนั้น 30 ต.ค. ให้ความเห็นชอบ และ 31 ต.ค. สามารถทำตามกระบวนการของการประกาศใช้กฎหมาย และสามารถทำประชามติได้ทันวันที่ 2 ก.พ. 68 แต่หากทำไม่ทันเวลาจะไหลไป ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องของพรรคใด แต่เป็นเรื่องว่าจะมีรัฐธรมนูญของประชาชนในยุคสมัยนี้ได้หรือไม่
ส่วน นายพิสิษฐ์ อภิปรายว่าตนเสนอคำแปรญัตติให้กมธ.พิจารณาแก้ไข เพราะไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขให้มีเสียงข้างมากเพียงชั้นเดียว ทั้งนี้ ที่ระบุว่า ไม่แก้ กลัวว่าประชามติไม่ผ่านนั้น หากเปรียบเทียบกับการทำประชามติรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2550 และ 2560 พบว่า ผู้ออกมาใช้สิทธิ และคะแนนเสียง ต่างผ่านเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น ทั้งสิ้น ดังนั้น อย่ามาอ้างว่าหลักการดังกล่าวจะทำให้การทำประชามติเป็นไปได้ยาก ส่วนที่ระบุเหตุผลว่า กลัวไม่ทันกับการเลือกตั้ง อบจ. ช่วง ก.พ. 68 ตนมองว่าสามารถใช้พ.ร.บ.ประชามติ ฉบับปัจจุบัน ได้
ด้าน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการทำประชามติ เนื้อหาระบุว่า อย่ากลัว หาก ส.ว.จะแก้ กม.ประชามติ จากร่างเดิมของ ส.ส. 30 กันยายน 2567 คือวันที่ วุฒิสภานัดประชุมเพื่อลงมติวาระ 2 และ 3 ใน พ.ร.บ.ประชามติ ที่อยู่ในขั้นวุฒิสภา
ประเด็นที่หวาดหวั่นกันคือ การแก้กลับไปใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น (double majority) สำหรับการทำประชามติเรื่องสำคัญ เช่น แก้รัฐธรรมนูญ ว่า ชั้นที่ 1 ต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกินครึ่ง และชั้นที่สอง มติที่ชนะก็ต้องเกินครึ่งของผู้มาใช้สิทธิ
นายสมชัยระบุต่อว่า ความเป็นห่วง คือหากกลับไปใช้เกณฑ์นี้ หากรัฐบาลจะจัดให้มีการลงประชามติแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าจะไม่ทัน เพราะหากส่งกลับไปที่สภาผู้แทนแล้ว ส.ส.เห็นต่าง ส.ส.จะยืนยันอีกครั้งได้ก็ต้องรอไว้ 180 วัน หลายคนเลยแปลว่า เดือนกุมภาพันธ์ไม่ทันแน่ และกว่าจะมีกฎหมายประชามติที่รัฐบาลอยากได้ ก็อาจเป็นเกือบปลายปี 2568
นายสมชัยระบุถึงทางออกของเรื่องนี้ว่า
1.รอลุ้น ส.ว. จะลงมติเรื่องนี้ ตามเสียงข้างมากของกรรมาธิการ (ใช้ 2 ชั้น) หรือตามเสียงข้างน้อย (ใช้ 1 ชั้น)
2.หากสุดท้ายร่างของวุฒิฯ ในการลงมติวาระเป็นแบบ double majority รัฐบาลก็ไม่ต้องปอดแหก เลื่อนความตั้งใจจัดประชามติแก้รัฐธรรมนูญออกไปจากเดือนกุมภาพันธ์ 2568
3.เนื่องเพราะคาดว่าวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568 จะมีการเลือก ส.อบจ. ทั้งประเทศ ซึ่งไม่ยากที่จะมีคนมาใช้สิทธิเกินครึ่งอยู่แล้ว จึงไม่สมควรวิตกว่า หากทำประชามติ จะไม่ผ่านด่านแรก
4. ครม.จึงควรมีมติให้มีการทำประชามติเพื่อให้มี ส.ส.ร. จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้เลย โดยไม่ต้องสนใจว่า พ.ร.บ.ประชามติ จะมีหลักเกณฑ์ double majority หรือไม่ เพราะไม่ว่าจะมีหรือไม่มี หากจัดในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568 คนก็ควรมาใช้สิทธิเกินครึ่งค่อนข้างแน่
5.หาก ครม.ยังยึกยัก ไม่ยอมให้มีการลงประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ก็สมควรให้ด่าพรรคเพื่อไทย และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ที่เป็นตัวหลักในเรื่องนี้ ว่า ตระบัดสัตย์ อีกรอบได้เลย
ส่วนที่ รัฐสภา นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวาระเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวันที่ 3 ต.ค.นี้ ว่า ร่างกฎหมายจะสำเร็จเป็นกฎหมายได้ก็เป็นเรื่องของ สส. และ สว. ที่จะต้องเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะเป็นอย่างไร ตนคิดว่าทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้ เพราะพรรคการเมืองบางส่วนได้เสนอร่างกฎหมายขอให้มีการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง บางส่วนบอกว่าหากนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองแล้ว ก็ให้รวมกับคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย แต่ขณะนี้ร่างกฎหมายทั้งหมดรวมถึงรายงานของกมธ.วิสามัญนิรโทษกรรมฯ ชุดที่ตนเป็นประธานก็ยังค้างอยู่ในสภาฯ กำลังรอการพิจารณา
นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ตนคิดว่าเพื่อให้เป็นไปได้ดีที่สุดและละมุนละม่อมที่สุด ควรนำเรื่องทั้งหมดไปหารือกับหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค รวมถึงพรรคฝ่ายค้านเพื่อให้ตกผลึก แต่ท้ายที่สุดแล้วพรรคการเมืองจะมีความเห็นอย่างไร พร้อมจะเสนอร่างกฎหมายด้วยหรือไม่ ซึ่งที่ต้องทำเช่นนี้ เพราะพรรคการเมืองเป็นองค์ประกอบสำคัญในสภาฯ ฉะนั้น หากเราไม่ฟังกัน เมื่อมีการเสนอและพิจารณากันแล้วก็จะคล้ายกับเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ ตนจึงได้ปรึกษานายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) อยากให้เลื่อนวาระออกไปเพื่อรอฟังความคิดเห็นของหัวหน้าพรรคการเมืองให้ครบถ้วนก่อน ซึ่งไม่น่าสายเกินไป
เมื่อถามถึง กรณีที่มีบางพรรคออกมาบอกว่าไม่ขอรวมการนิรโทษกรรมมาตรา 112 นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนั้นต้องให้เขาตกผลึกมาว่าเป็นเช่นนี้ เวลามาพิจารณากันก็จะเห็นภาพและตัดสินใจได้ถูก ซึ่งตนทราบดีว่าบางพรรคต้องการและบางพรรคไม่ต้องการ เพราะตนเป็นประธานกมธ.มาก็ทราบดี เพราะได้มีการพูดคุยกันในกมธ.เพียงแค่ไม่ได้มีการเชิญพรรคต่างๆ มาพูดคุยกันอย่างเป็นทางการ ฉะนั้น จึงคิดว่าฟังหัวหน้าพรรคการเมืองดีที่สุดว่าเห็นอย่างไรกับประเด็นนี้ เพื่อเดินหน้าต่อไปจะได้ถูก
เมื่อถามว่า จะต้องมีการคุยอย่างเป็นทางการหรือไม่ หรือตีกรอบไว้เมื่อไหร่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า อยากให้นายวิสุทธิ์เป็นคนทำหน้าที่ ซึ่งอาจจะพูดคุยกับรองนายกรัฐมนตรีเพื่อให้นัดหัวหน้าพรรคมาพูดคุย และในการพูดคุยอาจจะรวมเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปด้วย เพราะถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่จำเป็นต้องคุยกัน
ทั้งนี้ หลังจากที่ที่ประชุมอภิปรายแล้วเสร็จ ได้ลงมติ ผลปรากฎว่า เสียงข้างมาก เห็นชอบด้วยกับการแก้ไขของกมธ.เสียงข้างมาก 164 เสียง ไม่เห็นด้วย 21 เสียง และ งดออกเสียง 9 เสียง
จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาเรียงลำดับมาตราที่เหลือ และสรุปทั้งฉบับ ก่อนลงมติในวาระสามว่า จะเห็นชอบด้วยทั้งฉบับหรือไม่ ผลปรากฎว่า เสียงข้างมาก 167 เห็นชอบกับ เห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติม 19 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/ib7P5BG4o3Y