เลือกตั้งและการเมือง

'นันทนา' ประกาศเป็น 'สว.พันธุ์ใหม่' ยินดีให้เสนอชื่อนั่ง ปธ.วุฒิฯ พร้อมรีแบรนด์ สว.ต้องเป็นที่พึ่งประชาชน

โดย paweena_c

12 ก.ค. 2567

75 views

'นันทนา' ประกาศ! เป็น 'สว.พันธุ์ใหม่' ยินดีหากกลุ่มเสนอชื่อนั่งประธานสภา ชี้ สว.เป็นนักการเมือง แต่ต้องอิสระจากพรรคการเมือง พร้อมรีแบรนด์ภาพลักษณ์ ให้ สว. เป็นที่พึ่งประชาชน มองการรวมกลุ่ม สว.ควรทำ เพื่อขับเคลื่อนวาระประชาชน 

รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก เผยกรณี สว.ใหม่ กล่าวว่า กลุ่มของตนที่รวมตัวกันใช้ชื่อว่า 'สว.พันธุ์ใหม่ รับใช้ประชาชน' หรือเรียกสั้น ๆ ว่า 'สว.พันธุ์ใหม่' ประกอบด้วยบุคคลประมาณ 30 คน ซึ่งหลังจากที่ กกต. รับรองครบ 200 คนแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการเปิดประชุมสภา

ในส่วนของกลุ่มเอง หลังจากไปรายงานตัวกันแล้ว ก็มีการประชุมกันว่า ในวันประชุมสภาจะมีการเลือกประธาน รองประธานสภา และเจรจาตกลงกันว่ากรรมาธิการชุดต่าง ๆ จะมีประธานและรองประธานเป็นใคร หรือใครอยากจะเข้าไปทำงานในกรรมาธิการชุดใหม่ ซึ่งเชื่อว่าเป็นช่วงที่แต่ละกลุ่มก็ได้ไปปรึกษาหารือกัน

เมื่อถามถึงความพร้อม ของการเสนอชื่อชิงตำแหน่งประธานสภา ซึ่งหลายคนมองว่าอาจารย์เป็นบุคคลที่โดดเด่นที่สุดในกลุ่ม รศ.ดร.นันทนา มองว่าหากกลุ่มมีมติเสนอชื่อตนเองชิงตำแหน่งประธานสภา ตนเองก็ยินดี

ส่วนกรณีการสนับสนุนบทบาททางการเมืองของผู้หญิง ตนเองเห็นด้วย ในการสนับสนุนให้ผู้หญิงมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น การเข้ามาแสดงบทบาทในฐานะรองประธานสภาก็เป็นแนวทางหนึ่งในการที่จะให้ผู้หญิงนั้นได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นรองประธานด้านนิติบัญญัติ

ด้านจุดยืนของกลุ่มในการส่งบุคคลลงตำแหน่งต่าง ๆ โดยสปิริตแล้วก็คงต้องส่งชิงทุกตำแหน่ง ส่วนจะได้หรือไม่ได้ ก็เป็นการลงมติของในสภา มีบุคลากรที่มีศักยภาพ มีความเหมาะสมที่จะเข้าไปทำหน้าที่ตรงนั้นได้ เราก็สนับสนุนให้มีการเสนอชื่อเข้าชิง โดยวิธีการก็จะเสนอชื่อบุคคลในแต่ละตำแหน่งของวุฒิสภา เช่น ตำแหน่งประธานสภาก็จะเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่ง หลังจากนั้นก็ลงมติกัน ซึ่งจะเสนอชื่อและลงมติกันไปแต่ละตำแหน่ง

ซึ่งตอนนี้ ในกลุ่มที่มี 30 คน ก็มีการประชุมกันอย่างเข้มข้น และมองไปถึงเรื่องของคณะกรรมาธิการชุดต่าง ๆ ด้วย เพราะว่ากรรมาธิการในวุฒิสภามี 28 คณะ ซึ่งตรงนี้จะเป็นการขับเคลื่อนที่มีเนื้อหาสาระมากพอสมควร เพราะฉะนั้นกรรมาธิการชุดต่าง ๆ ก็เป็นสิ่งที่สมาชิกจะต้องตัดสินใจ ว่าตัวเองน่าจะมีคุณสมบัติสอดคล้องไปกับกรรมาธิการชุดไหน แล้วก็มีการเสนอชื่อเข้าร่วมในกรรมาธิการนั้น ๆ 

เมื่อถามว่ามีความสนใจงานภารกิจส่วนไหนเป็นพิเศษไหม รศ.ดร.นันทนา กล่าวว่า ในเรื่องของการดำรงตำแหน่งประธานหรือรองประธานวุฒิสภา ก็จะเป็นผู้ทำหน้าที่ในเรื่องการบรรจุระเบียบวาระ และการควบคุมการประชุม ตรงนี้ก็จะมีความสำคัญในการที่จะควบคุมให้การประชุมดำเนินไปแบบโปร่งใส แล้วก็ได้เนื้อหาสาระ ให้สมาชิกอยู่ในการประชุมได้บรรลุเป้าหมาย นี้เป็นบทบาทหนึ่งที่มีความสำคัญสำหรับสภา

ในขณะเดียวกันเรื่องของกรรมาธิการ โดยเนื้องานแล้วก็จะต้องเจาะลงไปในเชิงข้อมูลรายละเอียด ในการที่จะผลักดันเรื่องต่าง ๆ ซึ่งการทำงานตรงนี้จะเป็นการจะผลักดันในเชิงรุกได้ ส่วนนี้ก็เป็นอีกบทบาทที่สำคัญในเชิงของการทำงาน ตลอดระยะเวลาของวาระคือ 5 ปี ทั้งนี้ก็มีความสำคัญทั้ง 2 บทบาท

ทั้งนี้มองว่า สว.ชุดที่ผ่านมา เราไม่เคยเห็นผลงานหรือการสื่อสารกับประชาชนว่าเขาทำอะไรไปบ้าง ประชาชนจำนวนมากก็เลยมองว่า สว.ไม่มีความหมายอะไร แต่สำหรับ สว.ชุดนี้ เมื่อเข้าไปแล้ว ต้องบอกว่าเข้าไปรีแบรนด์ภาพลักษณ์ของ สว. ให้เป็น สว. ที่รับใช้ประชาชน แล้วก็ผลักดันวาระประชาชน

"สิ่งเหล่านี้จะถูกหยิบยกขึ้นมาทำทันทีหลังจากที่ สว.ได้เริ่มเข้าสู่สภา แล้วก็เริ่มทำหน้าที่เลย ฉะนั้นประชาชนก็จะได้เห็น สว.พันธุ์ใหม่ เข้าไปทำหน้าที่แล้วก็ขับเคลื่อน ตรงนี้ก็จะเป็นพันธกิจที่เราจะเร่งเข้าไปในการที่จะปรับภาพลักษณ์ของ สว. แล้วก็ทำให้ สว. เป็นที่พึ่งของประชาชนได้มากขึ้น"

กรณีมีข้อสังเกตว่า ตำแหน่งประธานสภา เมื่อใครมานั่ง คนนั้นก็จะเปลี่ยนไป พูดอะไรไม่ค่อยได้ การปรับบทบาทแบบนี้ จะกระทบบทบาทอาจารย์ไหม?

รศ.ดร.นันทนา กล่าวว่า ก็อาจจะเป็นอย่างที่ว่า เพราะพอขึ้นไปอยู่บนบัลลังก์ ก็ต้องทำหน้าที่เหมือนเป็นผู้คุมกฎ ทำให้การประชุมนั้นบรรลุเป้าหมาย แต่เมื่อลงมานั่งข้างล่าง ก็ต้องสามารถทำหน้าที่สมาชิกในการที่จะอภิปรายได้

กรณีมีคนมองว่าเป็น 'หัวหมู่ทะลวงฟัน' ของกลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่ สมมุติอาจารย์ได้รับตำแหน่งเป็นประธาน หรือรองประธานวุฒิสภา หน้าที่ตรงนั้นจะเป็นอุปสรรคต่อการทำงานหรือไม่? 

รศ.ดร.นันทนา บอกว่า โดยบทบาทที่แสดงอยู่ และในเรื่องของการทำหน้าที่ ตนเองยังชัดเจนเหมือนเดิมแต่สมมุติว่าถ้าเป็นประธานสภา ก็อาจจะไม่สามารถลงมาทำหน้าที่เป็นสมาชิก แต่ถ้าเป็นรองประธานก็สามารถลงมาอภิปรายได้ ฉะนั้นในบทบาทของรองประธานสภา ก็จะทำหน้าที่ได้ 2 สถานะ คือเป็นรองประธานสภาเมื่อนั่งอยู่บนบัลลังก์ และเป็นสมาชิกเมื่อลงมาอยู่ข้างล่างเป็นผู้อภิปราย

ส่วนประเด็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า สว. ต้องเป็นอิสระ แต่ปัจจุบันมีการรวมตัวเป็นกลุ่มกันแบบนี้ จะเหมาะสมหรือไหม มองว่าจะเป็น สว.การเมืองเกินไปไหม รศ.ดร.นันทนา มีความเห็นว่า "สว.เป็นนักการเมืองอยู่แล้ว ที่คนเขาบอกว่าต้องปลอดการเมืองนั่นไม่ใช่เลย"

ในทางรัฐศาสตร์ เราเป็นผู้เล่นในฐานะนักการเมืองแล้ว เพราะ สว.ทำหน้าที่ผลักดันวาระประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องทางการเมืองทั้งสิ้น จึงไม่ใช่ปลอดการเมือง แต่ต้องปลอดจากการครอบงำของพรรคการเมือง อันนี้ถึงจะถูกต้อง

ส่วนอีกประเด็น ที่บอกว่า สว.อิสระ คำว่า 'อิสระ' คืออิสระจากพรรคการเมือง แต่พวกเราก็จะต้องมีกลุ่มก้อนที่ร่วมอุดมการณ์กัน ดังนั้นการรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มต่าง ๆ จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติ มันเป็นเรื่องที่ควรจะกระทำ เพราะถ้ามารวมตัวกันตามอุดมการณ์ แล้วมาขับเคลื่อนวาระต่าง ๆ ร่วมกัน วาระนั้นก็จะมีพลัง

แต่หาก 'อิสระ' คือไม่ต้องรู้จักใครเลย มาคนเดียวโดดเดี่ยวผู้น่ารัก อันนี้ก็คงจะไม่สามารถขับเคลื่อนอะไรให้ประชาชนได้เลย การรวมตัวกันจึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมและควรทำ


คุณอาจสนใจ

Related News