เลือกตั้งและการเมือง

ศาลให้ประกัน ‘สุเทพ-14 กปปส.’ คดีชัตดาวน์กรุงเทพฯ สั่งยึดพาสปอร์ต ห้ามออกนอกประเทศ

โดย petchpawee_k

28 มิ.ย. 2567

79 views

สุเทพ และกลุ่ม กปปส. เฮ ได้ประกันตัว  หลังโดนศาลอุทธรณ์สั่งจำคุกไม่รอลงอาญา คดีชัตดาวน์กรุงเทพ ปี 57 มั่นใจว่าทำดี ต้องรับผลที่ดี ไม่กังวลหลังศาลชั้นต้น-อุทธรณ์ไม่รอลงอาญา ปรึกษาทนายสู้ฎีกา


วานนี้  (27 มิ.ย.2567) ศาลอาญา นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. กับพวกแกนนำและแนวร่วม รวม 37 คน ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ, ก่อการร้าย, ยุยงให้หยุดงานฯ, กระทำให้ปรากฏด้วยวาจาหรือวิธีการอื่นใดฯ ทำให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในราชอาณาจักรฯ, อั้งยี่, ซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองฯ, บุกรุกในเวลากลางคืนฯ และร่วมกันขัดขวางการเลือกตั้งฯ


จากกรณีปลุกระดมประชาชนมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขณะนั้น , ขัดขวางการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ทั่วไป เพื่อไม่ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่บริหารประเทศ , จัดตั้งกองกำลังพร้อมอาวุธบุกยึดสถานที่ราชการและหน่วยงานสำคัญหลายแห่ง เพื่อไม่ให้รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินได้ , ให้ข้าราชการระดับสูงรายงานตัวกับกลุ่ม กปปส. เพื่อแต่งตั้งคณะบุคคลเป็นรัฐบาลประชาชน เพื่อออกคำสั่งแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และ ครม. รวมทั้งนำมวลชน Shutdown ปิดถนนกรุงเทพมหานคร 7 จุดตั้งเวทีปราศรัย เหตุเกิดเมื่อปี 2556 - 2557


วันที่ 24 ก.พ.2564 ศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุกจำเลยรายสำคัญ โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในส่วนความผิดฐานกบฏและก่อการร้าย พฤติการณ์ชุมนุมไม่มีการใช้กำลังประทุษร้ายบุคคลใด เพื่อล้มล้างการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ นิติบัญญัติ อำนาจบริหาร จึงไม่เป็นความผิดฐานกบฏ และก่อการร้าย


โดยศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกแกนนำ 27 คน อาทิ นายสุเทพให้จำคุก 5 ปี, นายชุมพล จุลใส จำคุก 9 ปี 24 เดือน , นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ จำคุก 7 ปี ส่วนจำเลยคนอื่นก็รับโทษลดหลั่นกันไป และบางส่วนศาลพิพากษายกฟ้องอีก 12 คน รวม 39 คน แต่มีจำเลยเสียชีวิตแล้ว 2 คน


นายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความของนายสุเทพ เปิดเผยว่า วันนี้ ในส่วนของข้อหากบฏ ก่อการร้าย ศาลอุทธรณ์ ยืนให้ยกฟ้อง ส่วนข้อหาอื่น ทั้ง ยุยงปลุกปั่น มั่วสุม บุกรุกสถานที่ราชการ ขอให้นัดหยุดงาน และขัดขวางการเลือกตั้ง ศาลมีคำพิพากษาแก้โทษจำเลยหลายคน

โดยจำเลยหลัก คือ นายสุเทพ จำเลยที่ 1 ศาลสั่งแก้โทษ เหลือจำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา , นายชุมพล เหลือโทษจำคุก 1 ปี 8 เดือน ไม่รอลงอาญา , นายพุทธิพงษ์ เหลือโทษจำคุก 1 ปี ส่วนคนอื่น ศาลสั่งลงโทษจำคุกลดหลั่นกันไป และให้ยกฟ้องจำเลยรวม 19 คน


นายสวัสดิ์ ยังเปิดเผยด้วยว่า เหตุผลที่ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาแก้โทษ เพราะมองว่า แต่เดิมเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระ แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นความผิดกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท เนื่องจากเป็นความผิดที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน โดยในส่วนของจำเลยที่ศาล ไม่รอลงอาญา ขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ เพื่อขอปล่อยชั่วคราว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล


ภายหลังศาลอาญา รัชดาภิเษก อ่านคำพิพากษาอุทธรณ์แล้ว จำเลยที่ 1, 3-5, 7-8, 15-16, 24, 26, 29, 33-34, และ 37 ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอปล่อยตัวชั่วคราวชั้นฎีกา โดยศาลอาญา พิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างฎีกา โดยห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล โดยให้ยึดหนังสือเดินทางไว้ และแจ้ง สตม.โดยเร็ว


ส่วนจำเลยที่ 37 ศาลอาญา พิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณา ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างฎีกา โดยห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล โดยให้ยึดหนังสือเดินทางไว้ และแจ้ง สตม.โดยเร็ว เช่นกัน

ต่อมา นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กล่าวถึงกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาเเก้ลดโทษจำคุก เเต่ไม่รอลงอาญา ว่า ทุกอย่างเป็นกระบวนการยุติธรรมที่เป็นไปตามดุลพินิจของศาล พวกตนที่เป็นจำเลยมีความตั้งใจมาตั้งแต่ตอนต่อสู้คดีในศาลชั้นต้นแล้ว ไม่ว่าศาลจะมีคำพิพากษาใดๆเราก็น้อมรับคำพิพากษาของศาล ซึ่งวันนี้ศาลอุทธรณ์ก็ได้ยกฟ้องจำเลยเพิ่มขึ้น จากเดิม 12 คนก็เป็น 19 คน เพราะส่งผลให้ครอบครัวของจำเลยมีความสุขไม่ต้องกังวล ส่วนพวกเราที่ศาลจำคุกไม่รอลงอาญาก็จะสู้คดีต่อในชั้นศาลฎีกา ไม่มีความเห็นที่จะไปวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาการใช้ดุลพินิจของศาลอุทธรณ์

เมื่อถามว่าคดีผ่านมา 2 ศาลแล้ว ไม่รอลงอาญา หนักใจหรือไม่นั้น นายสุเทพ  ตอบว่า เจตนาที่เราออกมาตั้งแต่ต้น เป็นเจตนาดีที่เราทำเพื่อประเทศชาติ เมื่อเรามั่นใจว่าทำความดี เราก็จะต้องรับผลที่ดี ใจเราก็ดีมาตั้งแต่ต้นไม่มีความกังวลอะไร ส่วนในชั้นฎีกาจะขอให้ศาลรอการลงโทษหรือไม่ก็ต้องไปปรึกษาทนายเพื่อต่อสู้คดีในชั้นฎีกาอีกครั้งหนึ่ง



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/s2XpWUP_Xts

คุณอาจสนใจ

Related News