เลือกตั้งและการเมือง

‘ส.ว.อำพล’ ชี้ผลเลือกตั้ง สะท้อนเจตนามหาชน ไม่ควรแทรกแซง ‘ครูหยุย-หมอพรทิพย์’ ปิดสวิตช์ตัวเอง งดออกเสียงนายกฯ

โดย petchpawee_k

16 พ.ค. 2566

812 views

‘ส.ว.อำพล’ โพสต์ ผลการเลือกตั้งสะท้อนเจตนามหาชน ไม่ควรแทรกแซง และปล่อยให้กลไกประชาธิปไตยทำงานต่อ ด้าน ‘ครูหยุย’ ส.ว. มองผลเลือกตั้งเป็นเรื่องปกติ ลั่นปิดสวิตช์ตัวเอง งดออกเสียงนายกฯ


วานนี้ (15 พ.ค.) นพ.อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุ “สานพลังสร้างไทย” ผลการเลือกตั้ง14 พ.ค.66 สะท้อนเจตนามหาชนชัดเจนแล้ว


จากนี้ไป ควรปล่อยให้กลไกประชาธิปไตยทำงานต่อ ไม่ว่าใครก็ตาม อย่าได้แทรกแซงไม่ว่าจะอ้างเหตุผลใด ร่วมกันสานพลังสร้างชาติ ตามบทบาทหน้าที่ของทุกฝ่าย จะดีกว่า ประเทศไทยถึงจะไปต่อได้”

-----------------------------------------------------------

ขณะที่ แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจน์สุนันท์  กล่าวว่า ครั้งแรกที่สนับสนุน เพราะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับพิเศษที่บัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลที่อยากจะได้มาเพื่อปฏิรูป แต่พอได้มาแล้วไม่เห็นทำอะไรได้เลย ทิศทางส่วนตัวมีความเห็นว่าจะไม่โหวต เพราะหลักการของการเมืองทั่วไป มันไม่สมควรให้ ส.ว. มาโหวตอยู่แล้ว เพราะ ส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

-----------------------------------------------------------

ด้าน นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นว่า เป็นเรื่องธรรมดา เมืองไทยก็เป็นแบบนี้ เป็นวัฏจักรแต่ละยุค ยุคนี้ยุคคนรุ่นใหม่ ก็เป็นเรื่องธรรมดา และไม่รู้สึกห่วงสถานการณ์ข้างหน้า เพราะสังคมไทย เป็นสังคมของการ บาลานซ์กันอยู่แล้ว เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะมีความสมดุลเกิดขึ้น มันเป็นพหุสังคมที่มีแรงหลายแรงถ่วงดุลกันไปมา บางเรื่องถ้าแหลมมากไปสุดท้ายก็จะทู่ลง


ส่วนบทบาทของ ส.ว. ในการโหวตนายกฯ นายวัลลภ ก็ย้ำว่าไม่มีอะไร ส.ว. ก็ทำหน้าที่ของ ส.ว.ไป อย่าไปซีเรียส ตนเป็นคนกลุ่มน้อย ของ ส.ว. ที่ชัดเจนแล้วว่า เราปิดสวิตช์ตัวเอง เมื่อปิดสวิตช์แล้วก็จะไม่ยุ่ง จะใช้สิทธิงดออกเสียง ซึ่งตอนที่เราประกาศปิดสวิตช์ก็เห็นมีเสียงชื่นชมกันใหญ่ แต่พอถึงเวลาก็อยากจะให้เราโหวตไหน มองว่าเป็นเรื่องแปลก


ยืนยันว่า กลุ่ม ส.ว.ที่ปิดสวิตช์ ตัวเองขณะนี้ มีประมาณ 20 คน ซึ่งก็ดูจากฐานเดิมที่โหวตเรื่องรัฐธรรมนูญในรัฐสภา
------------------------------------------------------------

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. กล่าวถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่มาจากพรรคฝ่ายประชาธิปไตยว่า ขอรอดูให้พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้ง ตั้งรัฐบาลให้ได้ก่อน เพราะยังไม่ถึงขั้นตอนของสมาชิกวุฒิสภา ถ้าตั้งรัฐบาลได้แล้วถึงจะเข้าสู่กระบวนการเลือกประธานสภาและเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งสมาชิกวุฒิสภาไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องหรือยุ่งเกี่ยวกับสภาผู้แทนราษฎร เพราะไม่ใช่อำนาจหน้าที่ เป็นเรื่องของสภาผู้แทนฯ ในการจัดตั้งรัฐบาลให้ได้


ส่วนกรณีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุจะตั้งรัฐบาล 309 เสียง นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า ต้องรอให้ถึงเวลาพิจารณาก่อน เพราะขั้นแรก ส.ส.ต้องไปรวมเสียงให้ได้มากกว่า 250 เสียง แต่ส่วนตัวมองว่าเมื่อมาถึงขั้นตอนเลือกนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 ส.ว.จะพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี คือจะต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้น จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์เป็นหลัก ถ้าใครมีคุณสมบัติตรงนี้ ส.ว.จะพิจารณา  ซึ่ง ส.ว.ทุกคนมีคุณวุฒิ วัยวุฒิที่จะตัดสินใจด้วยตัวเองได้  


แต่ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลหรือองค์กรอิสระ ต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติทุกคนทุกองค์กร และทิศทางของการโหวต ส่วนตัวมองว่าที่ผ่านมาเกือบจะเอกฉันท์ แน่นอนอาจมีบางส่วนเห็นต่างก็งดออกเสียงหรือโดดไปฝ่ายตรงข้ามก็เคยมี เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีทั้ง ส.ว.เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/FFEMqUjdS68

คุณอาจสนใจ

Related News