เลือกตั้งและการเมือง

นักวิชาการวิเคราะห์ 8 ปี 'ประยุทธ์' ไปต่อได้หรือไม่?

โดย panwilai_c

14 ส.ค. 2565

89 views

ประเด็นร้อนการเมืองที่กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคม คือ วาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทีมข่าวการเมืองพูดคุยกับนักวิชาการถึงแนวทางการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงประเด็นนายกฯ คนต่อไป



การนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลายเป็นประเด็นร้อนแรงอีกครั้ง เพราะอีกเพียง 1 สัปดาห์ ผู้นำรัฐบาลคนนี้ จะดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีตั้งแต่เป็นนายกฯครั้งแรก ทำให้เป็นที่ถูกจับตาอย่างหนักว่าหากไปต่อ จะขัดกับหลักรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ห้ามไม่ให้นายกฯนั่งเก้าอี้รวมกันเกิน 8 ปี




แนวทางการตีความสถานะนายกฯประยุทธ์ รองศาสตราจารย์ ดร.เจษฎ์ โทณะวนิก อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ให้ความเห็นว่าเป็นไปได้ 3 แนวทาง



แนวทางแรกหากนับตั้งแต่ปี 2557 จะครบ 8 ปี ในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ ซึ่งแน่นอนว่าพลเอกประยุทธ์จะต้องหลุดจากเก้าอี้ทันที แนวทางที่ 2 คือเริ่มนับตั้งแต่บังคับใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ซึ่งจะครบ 8 ปี ในปี 2568 และแนวทางสุดท้าย คือเริ่มนับตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งจะครบ 8 ปี ในปี 2570 รองศาสตราจารย์เจษฎ์ ประเมินว่าหากเรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ เป็นไปได้สูงที่พลเอกประยุทธ์จะได้ไปต่อ



แม้จะมีโอกาสน้อยที่จะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้ รองศาสตราจารย์สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่าคำวินิจฉัยของศาลสามารถออกมาได้ทุกแนวทาง เพราะบทบัญญัติมีความขัดแย้งกันเอง



ซึ่งหากพลเอกประยุทธ์พ้นจากตำแหน่ง ยังมีรายชื่อในตะกร้าแคนดิเดตอีก 5 คน ได้แก่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล / นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ / คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ / นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ / และนายชัยเกษม นิติสิริ หรือถ้าเลือกใหม่ สภาจะต้องประชุมร่วมกันเพื่อปลดล็อกให้มีนายกฯนอกบัญชี ยอมรับว่าเป็นห่วงกระแสสังคมรวมถึงศรัทธาจากประชาชนที่จะตามมา



ต้องจับตาดูต่อไปว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะยังเป็นชื่อพลเอกประยุทธ์ต่อหรือไม่ หากไม่ใช่กระบวนการสรรหาจะกลับเข้าสู่สภา และจะกลายเป็นมิติทางการเมืองที่จะมีนายกรัฐมนตรีใหม่ในรอบ 8 ปี


รับชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/mrCkkWnSQlM

คุณอาจสนใจ

Related News