เลือกตั้งและการเมือง

‘ชัยวุฒิ’ นัดถก ‘ชัชชาติ’ จัดระเบียบสายไฟ-สายสื่อสาร ทั่วกรุง หลังเกิดไฟช็อตบ่อย

โดย attayuth_b

2 ก.ค. 2565

122 views

วันนี้ (2 ก.ค.) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยถึงการแก้ไขปัญหาสายไฟและสายสื่อสารรกรุงรังและก่อให้เกิดความรุนแรงของไฟไหม้ในพื้นที่กทม. ว่า ล่าสุด ได้นัดหารือกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. แล้ว โดยจะมีการหารือกันในวันที่ 4 ก.ค. ที่ อาคาร CAT Tower บางรัก ร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง เพื่อหารือถึงจุดเสี่ยง 39 จุดใน กทม. ที่จะดำเนินการนำสายต่างๆลงดินก่อน ทั้งนี้ จะมีการหารือถึงงบประมาณที่อาจจะต้องขอความร่วมมือจากทาง กสทช. และ กทม.

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กทม. ได้มีการสร้างท่อร้อยสายใต้ดินไว้แล้ว ตามโครงการโครงข่ายท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน แต่มีการให้สัมปทานเอกชนดำเนินการ เพื่อปล่อยเช่า ให้เอกชนและหน่วยงานนำสายสื่อสาร มาร้อยในท่อ แต่อาจมีปัญหาเรื่องความคุ้มทุนเพราะการจะมีราคาแพง ต่างจากการพาดไว้ตามเสาไฟฟ้า ซึ่งมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าจึงเป็นปัญหาที่จะต้องหารือว่าจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างไร ส่วนเรื่องกฎระเบียบ ที่จะออกเป็นข้อห้าม หรือสร้างความรับผิดชอบให้เจ้าของสายมากขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่จะต้องหารือกับ กสทช. ต่อไป

สำหรับปัญหาสายไฟ สายสื่อสาร ที่เป็นอยู่นายชัยวุฒิ มองว่า เกิดจากการจัดการไม่เป็นระบบ ที่เจ้าของสายสื่อสารซึ่งเป็นบริษัทเอกชน ไม่ได้เตรียมการมาก่อนว่าหากมีสายสื่อสารที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว ที่เรียกว่าสายตาย ต้องนำออกจากเสา ทำให้มีการเพิ่มจำนวนของสายสื่อสารตามเสาต่างๆจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมองว่าปัญหาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าเจ้าของสายสื่อสารเจ้าต่างๆ ไม่เคยร่วมมือกัน โดยปกติแล้วสายสื่อสารตามสเป็กที่ถูกต้องไม่สามารถเป็นชนวน ก่อให้เกิดไฟไหม้ได้เนื่องจากมีคุณสมบัติกันไฟและความร้อนอยู่แล้ว ยกเว้นสายเก่า หรือสายที่ไม่มีประสิทธิภาพ ลักลอบมาเดินสาย

สำหรับแนวทางแก้ไข นายชัยวุฒิ ระบุว่าไม่สามารถจะนำสายไฟและสายสื่อสารทั้งหมดลงดินได้ ดังนั้น ต้องแยกการแก้ปัญหาออกเป็น 2 วิธี คือส่วนที่เป็นพื้นที่สำคัญ ต้องเร่งนำสายไฟและสายสื่อสารลงดิน / และส่วนบางพื้นที่ อาจจะตรวจเช็กว่ามีสายใดบ้างที่ไม่ได้ใช้งานและจัดระเบียบสายให้ไม่รกรุงรัง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้มีแนวทางแก้ไขปัญหามาโดยตลอด ประเมินค่าใช้จ่ายที่จะนำสายไฟและสายสื่อสารลงดินประมาณ 20,000 ล้านบาท ยอมรับว่าในส่วนงบประมาณ ต้องรอเงินอุดหนุน ที่อาจไม่เพียงพอ


คุณอาจสนใจ

Related News