เลือกตั้งและการเมือง

เปิดเสวนา ส่อง สว.ใหม่ รับกระบวนการพิสดาร แต่ยังมีหวัง

โดย panwilai_c

6 ก.ค. 2567

57 views

สมาคมนักข่าว-นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดราชดำเนินเสวนาในหัวข้อ "ส่อง ส.ว.ใหม่ ความหวังหรือวิกฤตครั้งใหม่" ผู้ร่วมเสวนาส่วนใหญ่ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คือเชื่อว่า สว.ชุดใหม่ยังคงเป็นความหวัง เพราะหลายคนตั้งใจเข้ามาทำหน้าที่ แต่ในประเด็นการคัดเลือก บางส่วนมองว่า "นี่คือกระบวนการที่วิปริต-พิศดาร และเป็นระบบที่ซับซ้อนที่สุดในโลก และจากนี้ถ้าจะต้องเลือกองค์กรอิสระ ก็ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วม"



"ส่อง ส.ว.ใหม่ ความหวังหรือวิกฤตครั้งใหม่" หัวข้อเสวนาที่ว่ากันด้วยเรื่องของสมาชิกวุฒิสภา ผ่านความเห็น มุมมอง เเละข้อเสนอจากผู้ร่วมเสวนา ที่มีทั้งนักวิชาการ อดีตกกต เเละว่าที่สว.ชุดใหม่ ที่กกต.ยังไม่ได้ประกาศรับรอง



ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สะท้อนมุมมองและตั้งข้อสังเกตว่า ระบบการเลือก สว.ครั้งนี้ ยุ่งยากและซับซ้อนที่สุด เพราะใช้แนวทางแบบเลือกกันเอง และผลครั้งนี้กลับพบว่า มีถึง 13 จังหวัดไม่มีสว.แม้แต่คนเดียว แต่ในบางจังหวัดกลับได้สว.จำนวนมาก เช่น บุรีรัมย์ ได้สว.มากถึง 14 คน จึงมองว่าสุดท้ายแล้วใครจัดตั้งได้มากที่สุดก็ได้เปรียบ เพราะสว.ไม่ได้มีเพียงอำนาจกลั่นกรองกฎหมาย แต่จะต้องเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระด้วย



รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส หนึ่งในว่าที่สมาชิกวุฒิสภา บอกว่า ครั้งนี้เป็นกติกาที่พิสดาร วิปริตที่สุดในโลก นี่ไม่ใช่กติกาของการได้คนที่จะเข้าไปในกระบวนการนิติบัญญัติ แต่เป็นกติกาสำหรับเกมโชว์ที่ต้องเสี่ยงโชค มีทั้ง"โหด เหี้ยม หักหลัง และฮั้ว"



ขณะที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. และผู้สมัคร สว.ครั้งนี้ บอกว่า นี่เป็นความหละหลวมของ กกต.ในการออกระเบียบให้รับรองตัวเอง รวมถึงการจัดกลุ่มอาชีพ ทำให้ความเป็นกลางทางการเมืองถูกแทรกแซง มีพรรคการเมืองให้การสนับสนุน จึงเปิดช่องว่างให้มีการฮั้ว เช่นการเลือกระดับอำเภอ หลายคนที่ผ่านรอบเช้าหลุดเข้าไปถึงรอบบ่าย



นายสมชัยบอกว่าผลที่เกิดขึ้นก็คือ มีบัตรเสียจำนวนมาก เป็นบัตรเปล่าเพราะไม่ได้รับคำสั่งว่าต้องเลือกใคร และไม่รู้ต้องทำอย่างไรเพราะระหว่างนั้นห้ามใช้โทรศัพท์



ในประเด็นความคาดหวังสว.ชุดใหม่ ผู้ร่วมเสวนา ให้ความเห็นในทิศทางเดียวกัน คือ แม้จะมองว่ากระบวนการซับซ้อนและพิสดาร แต่สว.ใน 20 กลุ่มอาชีพ ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ตั้งใจเข้ามาทำหน้าที่



ที่ต้องปรับแก้ก็คือกระบวนการ ผู้ร่วมเสวนาเห็นว่าไม่ควรเกิดขึ้นอีก และการเลือก สว.หรือองค์กรอิสระต่าง ๆ ควรโปร่งใสและให้ประชาชนมีส่วนร่วม ที่ต้องจับตากันหลังจากนี้ก็คือ ท่าทีสว.รักษาการ ที่นัดประชุมกันในวันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม รวมถึงท่าทีของ กกต. ซึ่งยังไม่ระบุวันเวลาที่ชัดเจน ในการประกาศรับรองสว.ชุดใหม่ 2567

คุณอาจสนใจ

Related News