สังคม

วันที่ 2 สว.ใหม่ เข้ารายงานตัวแล้ว 186 คน เหลือกลุ่ม 'สว.พันธุ์ใหม่' คาดมาวันสุดท้าย

โดย panwilai_c

12 ก.ค. 2567

18 views

การรายงานตัวของสมาชิกวุฒิสภาวันนี้มีผู้มารายงานตัวแล้ว 186 คน ที่เหลือคาดว่าจะมารายงานตัวในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ ขณะที่ปัญหาคุณสมบัติของ สว.ที่ได้รับเลือก วันนี้มีผู้ร้องเรียนเพิ่มอีก



ที่อาคารรัฐสภาวันนี้บรรยากาศการเปิดรับรายงานตัวสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 200 คน วันที่ 2 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมามี สว.ทยอยเดินทางเข้ามารายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา อย่างต่อเนื่อง



ภาพรวมมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของ สว. ที่เข้ามารายงานตัว อาทิ นายบุญส่ง น้อยโสภณ อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง พล.ต.ต.อังกูร คล้ายคลึง นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ อดีต สส.4 สมัยที่ประกาศตัวตั้งกลุ่ม "สว.สีขาว" และ นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ



โดยนางอังคณา ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงการพูดคุยเพื่อเลือกประธานวุฒิสภาว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครมาพูดคุยด้วย แต่ส่วนตัวเห็นว่าโดยหลักการอยากสนับสนุนให้มีประธานหรือรองประธานวุฒิสภาที่เป็นสตรี หากมองเรื่องความเสมอภาคทางเพศ เพราะขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรก็ไม่มีผู้หญิงทำหน้าที่ประธานและรองประธาน



ด้าน พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ อดีตผู้ช่วย ผบ.ทบ.และอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เพื่อนร่วมรุ่น วปอ.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ที่ถูกวางเป็นอีกหนึ่งตัวเต็งนั่งประธานวุฒิสภา ยืนยันว่าไม่มีพรรคการเมืองหนุนหลัง แต่ยอมรับว่าเป็น สว.เลือดน้ำเงินเข้ม



ทั้งนี้เหลืออีกบางส่วน ที่นำโดยนางนันทนา นันทวโรภาส จะเข้ารายงานตัวต่อสำนักฯเลขาฯวุฒิสภา ในวันสุดท้ายคือวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ โดยได้มีการตั้งกลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่ และจะมีการรวมตัวเพื่อหารือถึงโควตาในตำแหน่งประธานวุฒิสภา รวมถึงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการอีกด้วย อย่างไรก็ตาม สรุปยอด สว.ที่มารายงานตัวในวันที่ 2 รวมทั้งสิ้น 186 คน จาก 200 คน คิดเป็น ร้อยละ 93 คงเหลืออีก 14 คน คาดว่าจะเดินทางมารายงานตัวในวันสุดท้าย



ด้านนายสนธิญา สวัสดี อดีตผู้สมัคร สว.ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้ตรวจสอบคุณสมบัติของ ศ.ดร.พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย สมาชิกวุฒิสภากลุ่มที่ 19 อาชีพอิสระ กรณีที่มีการนำวุฒิการศึกษาจากต่างประเทศที่ไม่ได้รับการรับรองจากราชการไทยเป็นการนำข้อมูลอันเป็นเท็จต่อระบบราชการหรือไม่



โดยนายสนธิญาบอกว่าหากวุฒิการศึกษาดังกล่าวไม่ได้รับการรับรองจากส่วนราชการไทย ไม่ว่าจะ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. หรือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.กำหนดไว้ชัดเจนว่าการกระทำให้เกิดการเข้าใจผิดของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง แล้วไปกาลงคะแนนให้ตามวุฒิการศึกษา ที่เป็นวุฒิการศึกษาระดับสูง จึงทำให้ได้รับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกวุฒิสภา เป็นการหลอกลวง และ นำข้อมูลที่ไม่ตรงข้อเท็จจริงเพื่อให้ได้รับการเลือกตั้งที่เข้าใจผิดโดยไม่สุจริต และเที่ยงธรรม

คุณอาจสนใจ

Related News