เลือกตั้งและการเมือง

'พิธา' หนุน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ชี้ไม่ควรผูกขาดแค่คนทำรปห.-ทำลายปชต.

โดย panwilai_c

1 ก.พ. 2567

49 views

สภาฯ เปิดอภิปรายตั้ง กมธ.ศึกษานิรโทษกรรม 'พิธา' แนะเลิกผูกขาดนิรโทษกรรมแค่คณะทำรัฐประหาร และคนเซาะกร่อนบ่อนทำลายประชาธิปไตย



การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันนี้ (1 ก.พ. 67) ที่ประชุมมีการพิจารณาญัตติด่วนขอให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาการออกกฎหมายนิรโทษกรรม (เป็นการศึกษา ก่อนที่จะมีการเสนอกฎหมายเข้ามา ) โดยมี น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอญัตติ



สส.เดียร์ ขัตติยา กล่าว ถึงเหตุผลใน เสนอญัตติ ว่า ก่อนเสนอเป็นร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎร จำเป็น ต้อง ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าว เพื่อศึกษาหลักเกณฑ์ และแนวทางที่เป็นสาระสำคัญการนิรโทษกรรมให้ได้ข้อยุติ แม้ในอดีตจะเคยมีการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองสมานฉันท์มาแล้ว แต่โดยบริบททางการเมืองและมูลเหตุแห่งความขัดแย้งมีความแตกต่างจากสถานการณ์ในปัจจุบัน



ที่ผ่านมาสังคมไทยผ่านช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมืองแบบแบ่งขั้วอย่างรุนแรง และซึมลึกอยู่ในสังคมไทยมากว่า 20 ปี ตั้งแต่สงครามสีเสื้อ การรัฐประหาร 19 กันยายน 49 การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 57 มาจนถึงการชุมนุมของกลุ่มคนรุ่นใหม่เมื่อปี 63 และ 64



ช่วงหนึ่ง สส.เดียร์ กล่าวด้วยเสียงอันสั่นเครือ ว่า ในฐานะผู้แทนราษฎร และเป็นหนึ่งในผู้ที่สูญเสีย ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จากการกระทำที่รุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ ดิฉันขอยืนยันในหลักการว่าจะไม่ให้มีการนิรโทษกรรมต่อความผิดที่เกิดแก่ชีวิตโดยเด็ดขาด



ส่วนคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายสนับสนุนว่า การนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคม หากเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมาเรามีการนิรโทษกรรมมาแล้ว 22 ครั้ง ดังนั้น หากเรามีเป้าหมายชัดเจนว่าเพื่อลดความขัดแย้งสังคม เพิ่มเสถียรภาพให้การเมือง ทำให้เศรษฐกิจเดินหน้า เพื่อคืนพ่อให้ลูกสาวที่ยังเล็ก หรือเพื่อคืนคนที่อยู่ต่างประเทศที่มีความเห็นที่แตกต่างกับรัฐได้กลับมาสู่มาตุภูมิ ตนคิดว่าการนิรโทษกรรม ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวหรือมีภาพลบตลอดเวลา



และคีย์เวิร์ด สำคัญ คุณพิธา บอกว่า ผมคิดว่า โอกาสในการรับนิรโทษกรรม ไม่ควรจะถูกผูกขาดกับคณะรัฐประหาร หรือคนที่คิดที่จะล้มล้างการปกครอง เพียงอย่างเดียว ไม่ควรที่จะผูกขาดกับคนที่จะบ่อนเซาะ คนที่ต้องการที่จะทำลายระบบประชาธิปไตยของประเทศเพียงอย่างเดียว



ก่อนที่นายพิธาจะหยิบเอกสารของสภาฯ ขึ้นมาบอกว่าที่พูด ตนเองอ้างอีกจากเอกสารของสภาฯ ตั้งแต่ปี 2475 - 2557 ไม่ว่าจะครั้งไหน มีเพียงแค่ 2521 ครั้งเดียว ที่เป็น พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ นอกจากนั้น มีแต่นิรโทษกรรมผู้กระทำการปฏิวัติ ยึดอำนาจปกครองประเทศ ความผิดต่อความมั่นคงของราชอาณาจักรในฐานะ กบฏ นี่คือสิ่งที่เราไม่ควรอนุญาตให้การผูกขาดการนิรโทษกรรม อยู่กับการรัฐประหาร เพียงอย่างเดียว



แต่ ควรคิดที่เหยื่อ คนที่ถูกทำรัฐประหาร เราต้องคิดถึงคนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายจากรัฐบาลที่สืบทอดมาจากการทำรัฐประหาร ไม่ใช่จำเป็นเฉพาะแค่พูดออกมาเรียกร้องทางการเมือง แต่ยังมีเรื่องอื่นเช่นการการติดคุกทวงคืนผืนป่า หรือคนที่ถูกรัฐฟ้องปิดปากประชาชน



ส่วนคุณรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปราย ว่า แนวความคิดในการนิรโทษกรรม ต้องไม่เริ่มต้นด้วยการจำกัดว่าถ้าทำความผิดมาตรานี้ ข้อหานี้ จะไม่ได้รับการนิรโทษกรรม อย่ากำหนดอย่างเช่นข้อหามาตรา 112 จะไม่ได้นิรโทษกรรม เราทำแบบนี้ไม่ได้



และบอกว่า พรรคก้าวไกลพยายามแก้วิกฤตทางการเมือง แต่เราต้องยอมรับว่า ผลคำวินิจของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้การหาทางออกทางการเมืองยากขึ้นเรื่อยๆ จึงหวังว่าสภาฯ แห่งนี้ จะเป็นส่วนสำคัญที่อย่างน้อยเราได้ถอนฟืนออกจากกองไฟเสียบ้าง อาจจะยังไม่ได้แก้ปัญหาทั้งหมด แต่อย่างน้อยสภาฯกำลังคืนคนที่ออกไปเรียกร้องประชาธิปไตยที่การเรียกร้องเหล่านี้ ไม่ควรเป็นความผิดทางอาญาให้กลับคืนสู่สังคม



รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/rkQsV-4sQ34

คุณอาจสนใจ

Related News