เลือกตั้งและการเมือง

เปิดคำวินิจฉัยศาลรธน. หลังมีมติเอกฉันท์ 'พิธา-ก้าวไกล' ล้มล้างการปกครอง

โดย chiwatthanai_t

31 ม.ค. 2567

127 views

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย "พิธา" และพรรคก้าวไกล มีพฤติการณ์ที่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากกรณีการเสนอแก้มาตรา 112 และรณรงค์ในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยศาลสั่งให้หยุดการกระทำ


วันที่ 31 มกราคม 2567 เวลา 14.14 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญเริ่มออกบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย คดีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ร้องให้วินิจฉัยว่าการกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 1 และ พรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายหาเสียงและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 1 หรือไม่


โดยศาลใช้เวลาอ่านตำวินิจฉัยทั้งหมดประมาณ 45 นาที ทั้งนี้ศาลระบุว่า ในการไต่สวนหาตความจริง ได้มีการรับฟังความเห็นจากนักวิชาการที่มีความเป็นกลาง 4 ท่าน และฟังข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักข่าวกรอง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด ศาลยุติธรรมและศาลอาญาต่างๆ เพื่อรับฟังข้อมูลอย่างรอบด้าน


ประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยคือ การกระทำของนายพิธา และพรรคก้าวไกล ถือเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 1 หรือไม่


โดยศาลได้ยกกรณีที่ สส.พรรคก้าวไกล จำนวน 44 คน เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ต่อสภาฯ และมีการรณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้งปี 2566 อย่างต่อเนื่อง และใช้เรื่องนี้เป็นนโยบายในการหาเสียง รวมถึงมีการแสดงความเห็นของกรรมการบริหารพรรค สส.ของพรรค ในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง


ช่วงหนึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้ระบุถึงการที่ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจในการเสนอกฎหมายต่างๆ แต่การเสนอแก้ไขกฎหมายก็ต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้พิจารณาว่าร่างกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่


และกล่าวถึงการที่กฎหมายมีการวางหลักเพื่อปกป้องการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ตั้งแต่ปี 2475 เพื่อไม่ให้มีการบั่นทอน สั่นคลอนสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้ต้องมีกลไกปกป้องการใช้สิทธิเสรีภาพไม่ให้เกินขอบเขต


จากนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้แจกแจงรายละเอียดร่างแก้ไขแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล ที่สำคัญ คือ การลดสถานะความคุ้มครองลงมาอยู่ในหมวด 4 จากเดิมอยู่หมวด 1 ลดอัตราโทษสำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เปิดโอกาสให้บุคคลสามารถก้าวล่วง วิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ โดยไม่มีความผิด ให้คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เป็นความผิดอันยอมความได้ เหมือนกับความผิดหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป


ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ มองว่ามีเจตนามุ่งหมายให้เป็นอัตรายต่อความมั่นคงสถาบันพระมหากษัตริย์ ถึงแม้ว่าการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ของพรรคก้าวไกล จะไม่ถูกบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ แต่ในเวบไซต์ของพรรคก้าวไกล มีการเขียนถึงการแก้ ม.112 ในทำนองเดียวกับร่างแก้ไข พ.ร.บ.ฯ ที่พรรคเคยเสนอ และสมาชิกพรรคมีการแสดงความเห็นทำนองเดียวกัน


นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ได้หยิบยกถึงกรณีที่สมาชิกพรรคก้าวไกลไปเป็นนายประกันให้ผู้ต้องหาคดี ม.112 รวมถึง สส.บางคนของพรรคก็เป็นผู้ถูกกล่าวหาตาม มาตรา 112 ด้วย โดยมีการระบุชื่ออย่างชัดเจน


ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ยังกล่าวถึงกรณีช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ที่นายพิธา มีการติดสติ๊กเกอร์ในการรณรงค์แก้ไข มาตรา 112 บนเวทีหาเสียงด้วย และมีการสรุปถึงพฤติกรรมโดยรวมของทั้งนายพิธา และพรรคก้าวไกล ว่าเป็นการ "เซาะกร่อนบ่อนทำลาย" เข้าลักษณะล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข


สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่าการกระทำของนายพิธาและพรรคก้าวไกล เป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 และสั่งให้หยุดการกระทำ


และช่วงท้าย ศาลรัฐธรรมนูญ ยังได้เตือนผู้ที่จะแสดงความคิดเห็นให้ระมัดระวังเรื่องการละเมิดอำนาจศาลด้วย ซึ่งมีโทษตั้งแต่ ตักเตือน จำคุก หรือ ปรับ ไม่เกิน 50,000 บาท


https://youtu.be/jQn6XZ5kiVI

คุณอาจสนใจ

Related News