ต่างประเทศ

'โตโยต้า' ระงับส่งรถ 10 รุ่น ชั่วคราว ปมปลอมการทดสอบคุณภาพ - เรียกคืนอีก 5 หมื่นคัน ในสหรัฐฯ ปัญหาถุงลมนิรภัย

โดย nattachat_c

31 ม.ค. 2567

1.6K views

'โตโยต้า' ผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่จากญี่ปุ่น ได้ประกาศระงับการจัดส่งรถ 10 รุ่นชั่วคราว หลังพบความผิดปกติในการทดสอบเครื่องยนต์ดีเซล ของบริษัทในเครือ


หลังพบการปลอมแปลงข้อมูลการทดสอบแรงม้าในรถ 10 รุ่น ที่วางจำหน่ายทั่วโลก อาทิ ฟอร์จูนเนอร์ // แลนด์ครุสเซอร์ // ไฮลักซ์ ซึ่งถือเป็นข่าวร้ายครั้งใหม่สำหรับกลุ่มบริษัทยานยนต์ใหญ่ที่สุดของโลกแห่งนี้ ซ้ำเติมปัญหาการควบคุมคุณภาพที่เกิดขึ้นหลายระลอก ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

โตโยต้า แจงว่า บริษัทในเครือคือ โตโยต้า อินดัสทรีส์ ปลอมแปลงข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องยนต์ดีเซล 3 รุ่น โดยพนักงานได้พยายามทำให้ผลการทดสอบแรงม้ามีความแปรปรวนน้อยลง ด้วยการใช้ซอฟต์แวร์คนละชุดกับที่ใช้ในการผลิตรถจำนวนมาก


ซึ่งจากรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบพิเศษ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ได้พบความผิดปกติระหว่างการทดสอบแรงม้า เพื่อออกใบรับรองเครื่องยนต์ดีเซล 3 รุ่น ซึ่งใช้ในรถยนต์ 10 รุ่น ของโตโยต้า ที่จำหน่ายทั่วโลก และข้อมูลการโกงการตรวจสอบสามารถย้อนไปได้ถึงปี 2017

ทั้งนี้ รถ 10 รุ่น ที่จะระงับการจัดส่งมีอาทิ ไฮเอซ, ฟอร์จูนเนอร์, แลนด์ครุสเซอร์ 300, ไฮลักซ์, อินโนวา และเล็กซัส LX500D ของเลกซัส ที่ขายในญี่ปุ่น ยุโรป ตะวันออกกลาง และอีกหลายประเทศ

ทางด้าน โคอิชิ อิโตะ ประธานโตโยต้า อินดัสทรีส์ ขอโทษผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งรวมถึงลูกค้า และซัปพลายเออร์ของบริษัท และให้สัญญาจะพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อฟื้นฟูบริษัท โดยให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกฎหมายเป็นอันดับแรก

ทั้งนี้ โตโยต้า อินดัสทรีส์ เผยว่า ขายเครื่องยนต์ดีเซลที่เป็นปัญหาเหล่านี้ ไปราว 84,000 เครื่อง ระหว่างปีการเงินที่สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 2023 แม้ว่า จะยืนยันว่า เครื่องยนต์ 3 รุ่น ดังกล่าว ที่ผลิตออกมาส่วนใหญ่นั้น จะมีสมรรถนะสอดคล้องกับมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม บริษัทจะระงับการจัดส่งรถ 10 รุ่น ที่ใช้เครื่องยนต์เหล่านี้ชั่วคราว

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ไดฮัทสุ มอเตอร์ บริษัทรถเล็กในเครือโตโยต้า ระงับการจัดส่งทั้งใน และนอกญี่ปุ่น หลังจากการตรวจสอบของบุคคลภายนอก พบว่า มีการโกงการทดสอบความปลอดภัยรถหลายรุ่น ส่วน ฮีโน่ มอเตอร์ บริษัทในเครืออีกแห่งของโตโยต้า ยอมรับเมื่อเดือนมีนาคม 2022 ว่า ส่งข้อมูลการปล่อยไอเสีย และการประหยัดเชื้อเพลิงปลอมให้หน่วยงานกำกับดูแลการขนส่ง

ขณะเดียวกัน โตโยต้า ก็ประกาศเรียกคืนรถ รุ่นปี 2003-2005 กว่า 50,000 คัน ในสหรัฐฯ เหตุถุงลมนิรภัยมีปัญหา โดยการเรียกคืนนั้นครอบคลุมรถยนต์รุ่นเก่าปี 2003-2005 กว่า 50,000 คัน ที่มีการใช้งานอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อนำกลับมาแก้ไข เนื่องจากปัญหาถุงลมนิรภัยที่ผลิตโดย บริษัท ทาคาตะ ซึ่งอาจเกิดระเบิดขึ้น และเป็นอันตรายร้ายแรงต่อผู้ขับขี่

โดย โตโยต้า ได้ระบุคำเตือนว่า "Do Not Drive" หรือ “อย่าขับ” โดยครอบคลุมรถยนต์รุ่น โคโรลลา Corolla ปี 2003-2004, รุ่น โคโรลลา แมททริกซ์ Corolla Matrix ปี 2003-2004 และ ราฟโฟร์ RAV4 ปี 2004-2005 โดยระบุว่า ปัญหาอยู่ที่ระบบถุงลมนิรภัย หากถุงลมนิรภัยทำงาน ชิ้นส่วนภายในอาจจะเกิดระเบิดขึ้น และปล่อยเศษโลหะมีคมภายในออกมา ซึ่งเศษโลหะเหล่านั้น อาจทำให้ผู้ขับขี่ หรือผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บสาหัส หรือเสียชีวิตได้

ปัญหาร้ายแรงเกี่ยวกับถุงลมนิรภัยที่ผลิตโดย บริษัท ทาคาตะ ซึ่งปรากฏขึ้นให้เห็นมาเป็นเวลาหลายปี โดยนับจากปี 2009 มีรายงานผู้เสียชีวิตกว่า 30 ราย ที่เกี่ยวเนื่องกับถุงลมนิรภัยที่ผลิตโดยทาคาตะ


และเป็นผลให้มีการเรียกคืนรถเพื่อความปลอดภัยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเกี่ยวข้องกับสินค้ามากกว่า 100 ล้านรายการ และค่ายผู้ผลิตรถยนต์มากกว่า 20 ราย

------------

คุณอาจสนใจ

Related News