เศรษฐกิจ

'เศรษฐา' ยันคุย 'ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ' ไม่มีล็อบบี้ปมเงินดิจิทัล - 'ศิริกัญญา' เผยก้าวไกลไม่คิดยื่นศาลรธน. ตีความคำตอบกฤษฎีกา

โดย nattachat_c

11 ม.ค. 2567

34 views

วานนี้ (10 ม.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการหารือร่วมกับ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ​ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย​ ว่า​ เป็นการเชิญผู้ว่าการธนาคาร​แห่ง​ประเทศไทย​มาทานกาแฟ​กันตามปกติ​ แต่เว้นวรรคในเดือนที่ผ่านมา​ โดยมีการพูดคุยกันในหลายเรื่อง​ ส่วนเรื่องเงินดิจิทัลวอ​ล​เล็ต​ ขอให้คุยกันในที่ประชุมดีกว่า​ เนื่องจากเป็นที่เปิดเผย ไม่ต้องมีการล็อบบี้กัน จะพูดคุยกันได้อย่างเต็มที่ แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา เห็นต่างเห็นชอบให้ไปว่ากันในที่ประชุม รวมถึงมีการพูดคุยถึงผลดีผลเสียของอัตราดอกเบี้ย


ซึ่งตนพยายามจะบอกถึงตลาดปัจจุบันว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร เรื่องภาคธุรกิจต่างๆ​ และความเดือดร้อนของประชาชน รวมไปถึงหนี้สิน​ ขณะที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีการรายงานว่าขณะนี้กำลังทำอะไรอยู่บ้าง เช่น การแก้ไขปัญหาหนี้สินในระยะยาว และหลังจากนี้ไป อยากให้มีการนัดพูดคุยกันในทุกสัปดาห์ จะเป็นที่ทำเนียบ หรือที่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้​ เพราะบ้างเรื่องต้องมีหน่วยงานอื่นร่วมด้วย​ เพื่อจะได้พูดคุยกันในทุกเรื่อง


ส่วนมีสัญญาณแนวโน้มที่ดี จากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแล้วหรือไม่

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตนไม่มีอำนาจในการไปก้าวก่าย ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีความเป็นอิสระ​ เราพูดกันด้วยเหตุด้วยผล ไม่ได้ไปสั่ง แต่เป็นการอธิบายเหตุผลในเรื่องของเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งในแง่ของเหตุการณ์ในต่างประเทศ สถานการณ์เงินเฟ้อ


ส่วนที่เงินเฟ้อติดลบนั้น​ นายเศรษฐา​ ขอให้ ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้แถลงเองดีกว่า เพราะวันนี้ เราคุยเรื่องหัวข้อใหญ่ ๆ มากกว่า ส่วนเป็นแนวโน้มที่ดีหรือไม่ก็แล้วแต่ใครจะคิด แนวโน้มที่ดีจะต้องมีการพูดคุยกัน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย


ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีบอกว่าการหารือกับผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยในวันนี้ ไม่ได้มีการพูดคุยในเรื่องเงินดิจิทัลวอ​ล​เล็ต​ แต่ให้รอนำเข้าไปถกเถียงที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ รวมถึงไม่มีการพูดคุยกันในเรื่องวิกฤติ หรือไม่วิกฤติ


นายเศรษฐา​ ยังกล่าวถึงหุ้นกู้ที่เลื่อนชำระเงินต้นไปอีก​ 2 ปี​ ตนได้สั่งการไปแล้วให้ตลาดหลักทรัพย์ดูแล ให้ดูแลในระยะยาว ในเรื่องหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะต้องมีการพูดคุยกัน


ส่วนมาตรการแทรกแซงราคาพลังงานทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นนั้น

นายเศรษฐา​ กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องลดรายจ่ายให้ประชาชน แต่เราต้องไปดูโครงสร้างระยะยาวว่า จะทำอย่างไรบ้างให้ราคาพลังงาน ทุกคนยอมรับกันได้ เมื่อถามย้ำว่าหากตัดออกไปจะทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงนั้น ตนมองว่าอาจไม่ติดลบ แต่คงไม่ขึ้นมาขนาดนั้นอยู่ที่ 0.1 -​ 0.2 ตนขอให้แบงค์ชาติเป็นผู้ชี้แจงจะดีกว่า


ขณะที่เงินค้างจ้างประกันโควิด​ เกือบล้านคน​ ของบริษัทที่ล้มละลาย​ นายกรัฐมนตรี​ กล่าวว่า​ ทางคณะกรรมการกำกับและส่งเสริม การประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ​ คปภ.​ จะต้องออกมาตรการเพื่อดูแลในกรณีดังกล่าว

--------------
วานนี้ 10 ม.ค. 67 ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 2 โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธาน กมธ. ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาภาพรวมเศรษฐกิจ โดยได้เชิญผู้แทนจากกระทรวงการคลัง สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงบประมาณ มาให้ข้อมูล


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงแรกของการประชุม กรรมาธิการฯ จากพรรคเพื่อไทย ได้แก่ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล สส.แพร่ พรรคเพื่อไทย และนายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ อดีตสส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย แสดงความไม่พอใจ ต่อผู้แทน ธปท. ภายหลังจากที่ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่า ธปท. ไม่ได้มาชี้แจงด้วยตัวเอง ทั้งๆที่ การประชุมกมธ.ในวาระนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งผู้แทนของ ธปท. ยืนยันว่า นายเศรษฐพุฒิ มีภารกิจเร่งด่วน แต่ยืนยันว่า ตนได้รับมอบหมาย จาก ผู้ว่า ธปท. ให้มาชี้แจงต่อ กมธ.อย่างเป็นทางการ


จากนั้น กรรมาธิการฯ ในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย หลายคนได้ท้วงติงการทำงานของ ธปท. หลายเรื่อง โดยเฉพาะการปล่อยให้เกิดช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้กับดอกเบี้ยเงินฝาก ห่างกันมาก จนสร้างภาระให้กับประชาชนที่เป็นหนี้จำนวนมาก ซึ่งต้องประสบปัญหามาตั้งแต่การระบาดของโควิด – 19 ดังนั้นแม้ ธปท. จะมีหน้าที่ดูแลธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้สถานะของธนาคารมีความมั่นคง เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเงินของประเทศ แต่อีกด้านหนึ่งควรพิจารณาถึงความเดือดร้อนของประชาชนด้วย ภายหลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ สามารถทำกำไรได้มากถึง 2 แสนล้านบาท


ขณะที่ นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้สอบถามผู้แทน ทั้ง 4 หน่วยงานถ้าจะนิยามความหมายของคำว่า “วิกฤตเศรษฐกิจ” จะต้องนิยามว่าอย่างไร และจะต้องมีปัจจัยอะไรบ้างที่จะต้องแสดงให้เห็นถึงความเป็น “วิกฤตเศรษฐกิจ” ด้านผู้แทน ธปท. ยืนยันว่า ธปท.โดยเฉพาะคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน จากการปรับตัวที่สูงขึ้นของดอกเบี้ย กนง.จึงได้มีมาตรการไปยังธนาคารเอกชน ให้ลงไปดูแลลูกหนี้ เพื่อให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งก่อนและหลังเป็นลูกหนี้เอ็นพีแอล นอกจากนี้การปรับดอกเบี้ย นโยบายในปัจจุบัน กนง. มองว่ามีความเหมาะสม กับศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศ และสอดคล้องกับการเจริญเติบโตเศรษฐกิจ


ตัวแทน ธปท. ยังได้กล่าวว่า ส่วนการนิยามคำว่า “วิกฤตเศรษฐกิจ” นั้นจะต้องพิจารณาข้อมูลรอบด้าน และหลายปัจจัยที่เกิดขึ้น เช่น สถาบันการเงินที่มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวนมาก จนกระทบต่อสถานะธนาคาร การเกิดภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นเวลานาน หรือแม้แต่การเกิดวิกฤต จากสถานการณ์ไม่คาดคิด เช่น โควิด- 19 ที่พอจะเห็นได้ว่าเป็นตัวอย่างของคำว่า “วิกฤตเศรษฐกิจ” หรือแม้แต่ปัญหาอุทกภัยที่เคยทำให้การเจริญเติบโตเศรษฐกิจของประเทศติดลบ จนต้องมีการออก พ.ร.ก. ในช่วงเวลาขณะ

------------

วานนี้ 10 ม.ค. 67 ที่รัฐสภา นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กล่าวถึงการเดินหน้าของรัฐบาลในการผลักดันร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท หลังจากกฤษฎีกาทำความเห็นกลับมายังรัฐบาล ว่า เป็นเรื่องสำคัญที่จะเป็นจุดพลิกผันของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งจะได้มีการพูดคุยกันใน คณะกรรมาธิการงบประมาณฯ โดยในวันนี้ (10 ม.ค.) จะมีสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาร่วมชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ


นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า วันนี้จะได้รู้กันว่าวิกฤตเศรษฐกิจหน้าตาควรต้องเป็นแบบใด สามารถพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ตามที่เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้กล่าวไว้ เพราะตนมองว่าหากหน่วยงานต่างๆยังชี้แจงไม่ตรงกัน สุดท้ายแล้วโอกาสที่จะออกร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ก็จะริบหรี่ลงไปเรื่อยๆ ส่วนคำนิยามของวิกฤตเศรษฐกิจควรจะมีตัวชี้วัดอย่างไรเพื่อให้เป็นที่ยอมรับตรงกัน ควรต้องอิงกับหลักสากล ตามหน้าตาของวิกฤตเศรษฐกิจที่ทั่วโลกนิยามใช้ตัวชี้วัดอะไรบ้าง และของประเทศไทยเป็นไปตามตัวชี้วัดเหล่านั้นหรือไม่ เพื่อจะได้ข้อสรุปที่เป็นจริงและเป็นวิทยาศาสตร์ว่าเป็นวิกฤตจริงหรือไม่ ทั้งนี้ มองว่าหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตควรจะต้องพูดคุยให้ตกผลึกว่าจะใช้ตัวชี้วัดใด เพื่อจะชี้แจงกับประชาชนว่าประเทศกำลังวิกฤต


“แต่ดิฉันคิดว่าคงไม่ได้เป็นไปตามนิยามที่เป็นสากลตามปกติสักเท่าไหร่ สำหรับกรณีของประเทศไทย เราก็คงต้องดูว่ารัฐบาลจะใช้วิธีการใดที่คิดค้นขึ้นมาว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ในวิกฤต”


นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า ตนขอยืนยันว่าในส่วนของพรรคก้าวไกล ไม่มีความคิดจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างพ.ร.บ.กู้เงินดังกล่าว เพราะหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลให้เป็นไปตามวินัยการเงินการคลังจะสามารถพิจารณาได้ว่าควรทำหรือไม่ควรทำอยู่แล้ว


“น่าเสียดายที่กฤษฎีกาไม่ได้ตีความตรงๆ ว่าสรุปแล้วทำได้หรือไม่ ควรทำหรือไม่ แต่กลับบอกเพียงแค่ว่า ถ้าถูกกฎหมายก็ทำได้ ถ้าไม่ถูกกฎหมายก็ทำไม่ได้ ก็เสียโอกาสที่อุตส่าห์รอคอยมา 1 เดือน แต่คำตอบกลับไม่ชี้ชัดฟันธง”


เมื่อถามว่ามองอย่างไรกรณีที่รัฐบาลอ้างว่าประเทศกำลังอยู่ในวิกฤตแต่กลับออกเป็นพ.ร.บ.แทนที่จะออกเป็นพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า ในทางกฎหมายสามารถทำได้ทั้งทางพ.ร.บ.และพ.ร.ก. แต่เมื่อคำนึงว่า ปัญหาที่เป็นวิกฤต ควรต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน รัฐบาลกลับเลือกทางที่ไม่ได้เร่งด่วนขนาดนั้น คือพ.ร.บ.ที่เว้นระยะเวลาและยังต้องรอผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ถ้าเป็นวิกฤตเร่งด่วนจริงอาจจะไม่ทันการณ์ก็ได้ หากเกิดข้อติดขัด เช่นหากวุฒิสภาไม่เห็นด้วยแล้วตีกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎรกรอบเวลาในการแก้ปัญหาที่วางไว้ก็อาจเป็นไปไม่ได้ มองว่ามีความย้อนแย้งกันอยู่ แต่ก็ต้องเริ่มตั้งแต่การนิยามว่าเป็นวิกฤตหรือไม่แล้ว เพราะนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เปิดตัวตั้งแต่เดือนเม.ย. 66 และเราก็ยังรอกันมา 1 ปี จึงไม่รู้ว่าวิกฤตนี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ตอนไหนกันแน่


ส่วนกรณีที่นายกฯเชิญผู้ว่าการธปท. เข้ามาพูดคุยที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวศิริกัญญา ให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า ต้องยืนยันในหลักการของความเป็นอิสระของธนาคารกลางที่ทุกประเทศจำเป็นจะต้องเดินตามหลักการนี้ เพราะไม่ได้กระทบเพียงแค่นโยบายทางการเงิน แต่รวมถึงเครดิตเรตติ้ง ซึ่งมีผลการศึกษาชี้ว่า ถ้ามีการแทรกแซงจากฝ่ายบริหารไปที่ธนาคารกลาง ก็มีโอกาสที่เครดิตเรตติ้งจะปรับลด เพราะจะคาดการณ์ว่ามีการแทรกแซงเพื่อให้ลดดอกเบี้ย ซึ่งเป็นวิวาทะที่เคยเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก จึงต้องขอให้นายกรัฐมนตรีทำเรื่องนี้ด้วยความระมัดระวัง เพราะตามปกติจะไม่มีการแทรกแซงระหว่างฝ่ายบริหารและธนาคารกลาง

----------------

รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/mM8VURkthKE

คุณอาจสนใจ

Related News