สังคม

นักกิจกรรมชุดมลายูเปิดใจ หลังเข้าให้ปากคำตามหมายเรียก ร้องรัฐหยุดใช้กม.ปิดปาก

โดย panwilai_c

9 ม.ค. 2567

163 views

พนักงานสอบสวน สภ.สายบุรี แจ้งข้อกล่าวหานักกิจกรรม 9 คน ใน 3 ข้อหาจากการจัดงานแต่งกายชุดมลายูฉลองวันฮารีรายอในปี 2565 โดยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ยืนยันว่าไม่มีพฤติกรรมยุยงปลุกปั่น อั้งยี่ซ่องโจร และฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉินตามที่ถูกกล่าวหา ขอภาครัฐทบทวนการใช้กฎหมายปิดปากที่สวนทางกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ และห่วงว่าการปิดกั้นพื้นที่สันติภาพเชิงบวก จะจุดชนวนความขัดแย้งรอบใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้



นักกิจกรรม ภาคประชาสังคม 9 คน เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.สายบุรี จังหวัดปัตตานี ตามหมายเรียก ท่ามกลางเพื่อนและครอบครัวที่มาให้กำลังใจ โดยมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์แต่างกายชุดมลายู มีกากบาทเพื่อประท้วงเงียบ ถึงการใช้กฎหมายปิดปากของเจ้าหน้าที่รัฐ ก่อนที่ทั้งหมดเข้าพบพนักงานสอบสวนเป็นเวลา 3 ชั่วโมง



นายอับดุลเลาะห์ หะยีอาบู ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ในฐานะทนายความ เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา 3 ข้อหาหลักทั้งยุยง ปลุกปั่น อั้งยี่ ซ่องโจร และฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉิน จากเหตุการรวมตัวแต่งกายชุดมลายู เทศกาลฮารีรายอ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมม 2565 ซึ่งเป็นการรื้อฟื้นคดีเมื่อ 2 ปีก่อน ผู้ต้องหาทั้ง 9 คนให้การปฏิเสธ และจะชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน วันที่ 13 กุมภาพันธ์นี้ มั่นใจว่าชี้แจงได้



นายมูฮัมหมัดอลาดี เด็งนิ เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรมเมื่อปี 2565 เคยได้รับคำชี้แจงจากรองแม่ทัพภาคที่ 4 ว่าไม่ติดใจกับการจัดงานวันนั้น และผู้จัดงานได้ชี้แจงข้อกังวลของภาครัฐไปแล้ว จึงไม่เข้าใจว่าแม่ทัพภาคที่ 4 มารื้อฟื้นคดีมาฟ้องใหม่ มีเป้าหมายอะไร และไม่เข้าใจการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ส่งต่อข้อมูล จนกลายเป็นปัญหาหนึ่งของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่จบสิ้น



สำหรับ 9 นักกิจกรรมที่พบว่าถูกออกหมายเรียก มีศิลปินที่ร้องเพลงภาษามลายู ซึ่งเจ้าหน้าที่มีการแปลเป็นภาษาไทยระบุว่าหมิ่นเหม่กับความมั่นคง แต่นายซูกิฟลี กาแม ยืนยันว่าบริสุทธ์ สุจริตใจและทำหน้าที่่ที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ



เช่นเดียวกับนายฮาซัน ยามาดีบุ นักประวัตศาสตร์มลายู ที่ทำหน้าที่บรรยายประวัติศาสตร์ปาตานี ซึ่งเขามองว่าเป็นเพียงการรักษาอัตลักษณ์ท่องถิ่น ไม่ใช่ปลุกระดมเพื่อต่อต้านรัฐอย่างที่ถูกตั้งข้อกล่าวหา จึงรู้สึกหมดหวังกับประเทศไทยที่บอกว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพไม่ได้



สำหรับการจัดกิจกรรมแต่งชุดมลายูเมื่อเดือนเมษายนปี 2566 นายอลาดี เปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่ไม่ติดใจ ขณะที่ภาคประชาสังคมเป็นห่วงการดำเนินคดีแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในยุคจอมพล ป.พิบูลสงครามในปี 2487 ตนกูอับดุลยาลาล์ นาเซร์ อดีตสส.ปัตตานี เคยอภิปรายเรื่องการห้ามแต่งชุดมลายูในสภาฯ และพี่ชายที่แต่งชุดมลายูในตลาดเคยถูกจับกุมเป็นที่มาให้ตนกูอับดุลยาลาล์ หนีออกนอกประเทศ และกลายเป็นประธานขบวนการปลดแอกแห่งชาติปาตานี เพราะรับไม่ได้กับนโยบายของรัฐ ซึ่ง 20 ปี ในความขัดแย้งจังหวัดชายแดนภาคใต้



กลุ่มเยาวชนและภาคประชาสังคม พยายามเปิดพื้นที่สันติภาพให้อัตลักษณ์และประวัติศาสตร์ปาตานีเป็นเรื่องที่พูดได้และยอมรับได้ เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย การดำเนินคดีชุดมลายู จึงอาจกลายเป็นชนวนความขัดแย้งรอบใหม่ได้



ภาคประชาสังคมยังขอให้รัฐบาลและคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงกรรมาธิการสันติภาพ ทบทวนกระบวนการพูดคุยที่ไม่มีทางเดินหน้าได้หากมีการใช้กฏหมายปิดปาก ซึ่งวันนี้ พล.อ. ตันซรี ดาโต๊ะ สรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบีดิน ผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซียได้พบปะกับนายฉัตรชัย บางชวด หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขของไทย และจะพบคณะกรรมาธิการสันติภาพชายแดนใต้ที่อาคารรัฐสภาวันพรุ่งนี้

คุณอาจสนใจ

Related News