เลือกตั้งและการเมือง
พวกเขาคือไฟลามทุ่ง ‘ธนาธร’ ชมคนรุ่นใหม่กล้าหาญกว่าคนรุ่นก่อน ย้ำนักกิจกรรมไม่ใช่อาชญากร
โดย nicharee_m
10 มี.ค. 2567
83 views
‘ธนาธร’ ขึ้นเวที มธ. ป้องนักกิจกรรมไม่ใช่อาชญากร ลั่นหากไม่มี “ธรรมศาสตร์” คงไม่มีธนาธรในวันนี้ ฝากคนรุ่นต่อไป ยึดมั่นในความถูกต้อง-เป็นธรรม ปลุกใจต้องปกป้องประชาธิปไตย-สิทธิเสรีภาพของประชาชน
เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2567 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ขึ้นเวทีเสวนาครบรอบ 50 ปี ในฐานะอดีตอุปนายก อมธ. (องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ภายใต้หัวข้อ “แกนนำทางการเมืองเพื่อประชาธิปไตย เพื่อประชาชน” ระหว่างกล่าว ธนาธร บนเวทีพร้อมฉายภาพสมัยที่ตนยังเป็นนักศึกษา เป็นภาพที่นั่งประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาล ร่วมกับ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งเรื่องราวในวันนั้นคือการรวมตัวเรียกร้องของกลุ่มสมัชชาคนจน มีโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ทำให้ประชาชนต้องสูญเสียชีวิต ธรรมชาติ และไม่ได้รับอะไรกลับมา และรัฐบาลในขณะนั้นใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม
“ผมเข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์ ผมรหัส 40 ปี 1 ทำกิจกรรมทางสังคมและปี 2542 ผมเข้าเป็นอุปนายก อมธ. และในปีกันเดียวผมก็เข้ารับบทบาทรองเลขาธิการสหพันธ์นิสิต นักศึกษาประเทศไทย ดังนั้นเมื่อพูดถึงความเป็นธรรมศาสตร์ ผมจะมีความรู้สึกปะปนกันอยู่ด้วยกัน หนึ่งก็คือ ความรู้สึกภูมิใจ สองก็คือ โรแมนติกกับความเป็นธรรมศาสตร์ ผมคิดว่าผมพูดได้เต็มปากว่า ถ้าผมไม่ได้เข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์ ก็คงไม่มีธนาธรในวันนี้ ถ้าวันนั้นธนาธรไม่เรียนที่ธรรมศาสตร์ ก็คงไม่มีธนาธรในฐานะนักการเมืองแน่นอน เพราะที่นี่เป็นที่บ่มเพาะสำนึกทางสังคม สำนึกทางการเมืองของผม” นายธนาธรกล่าว
นายธนาธร กล่าวอีกว่า ปีนี้เป็นปีที่ 6 ที่ตน เข้าสู่เส้นทางการเมือง นักกิจกรรมที่อยู่ที่ธรรมศาสตร์ทุกวันนี้ ก็ขับเคลื่อนสังคมในรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปต่างจากตน และตนก็เฝ้ามองและติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนต่างๆ ด้วยความชื่นชมและตกใจไปพร้อมกัน เนื่องจากนักกิจกรรมรุ่นนี้มีความกล้าหาญ กล้าพูดในสิ่งที่คนรุ่นตน และคนรุ่นก่อนไม่กล้าพูดอย่างตรงไปตรงมา กล้าพูดถึงความจริงอันกระอักกระอ่วน กล้าพูดถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สาธารณะอย่างเปิดเผย ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่คนรุ่นตนและรุ่นก่อนหน้าไม่มีใครกล้าทำ
แม้สิ่งที่นักกิจกรรมถูกกล่าวว่าเป็นการกระทำที่กระด้างกระเดื่อง เป็นการกระทำที่หยาบและทำร้ายจิตใจคนจำนวนหนึ่ง แต่ต้องยอมรับว่า มันเป็นลักษณะของคนหนุ่มสาวทุกยุคทุกสมัย ที่มีความขบถในตัวเอง มีความกล้าในการตั้งคำถามต่อระบบคุณค่าของสังคมที่ไม่สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน
ตั้งแต่ปี 2563-2567 มีนักโทษการเมืองทั้งหมด 1,957 คน มีคดี 112 จำนวน 268 คน คดี 116 จำนวน 150 ฝ่าฝืนพ.ร.ก. ฉุกเฉิน จำนวน 1,469 คน ฝ่าฝืนพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ จำนวน 179 ฝ่าฝืนพ.ร.บ. คอม จำนวน 199 คน ละเมิดอำนาจศาลหรือดูหมิ่นศาล จำนวน 77 คน และขณะนี้มีคนอยู่ในห้องขัง 42 คน ธนาธร ย้ำว่า คนเหล่านี้ไม่ใช่อาชญากร และไม่ได้ทำร้ายใคร พวกเขาคือนักโทษทางความคิด เขาผิดเพียงเพราะเขาพูดในสิ่งที่ผู้มีอำนาจไม่อยากได้ยินได้ฟัง พร้อมกันนี้ ธนาธรยังกล่าวว่า การกระทำของพวกเขาไม่ใช่ดอกไม้ไฟ แต่คือไฟลามทุ่งและพาสังคมไทยไปถึงจุดที่ไม่เคยไปมาก่อน สิ่งที่พวกเขาทำ ทำให้สังคมตั้งคำถาม พูดคุยแลกเปลี่ยนถกเถียงที่เรื่องที่ครั้งหนึ่งไม่เคยมีใครคิดว่าจะพูดในที่สาธารณะได้อย่างเปิดเผย
นายธนาธร ย้ำว่า เวลาที่พูดถึงความเป็นธรรมศาสตร์และ อมธ.มักจะโยงถึงการเป็นฐานที่มั่นของประชาธิปไตย และเป็นที่ที่มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว ตนคิดว่า หากอยากให้ความเป็นธรรมศาสตร์นี้สำคัญกับยุคสมัยและมีลักษณะร่วมสมัยไม่ใช่เพียงคำขวัญที่แปะอยู่บนกำแพง ความเป็นธรรมศาสตร์นั้นต้องเป็น ‘การกระทำ’ และต้องไม่นิ่งดูดายกับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น และหากไม่มีใครลุกขึ้นมาปกป้องนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว ที่ตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจ วันหนึ่งจะไม่มีใครกล้าพูดความจริง ในอนาคตจะไม่มีใครลุกขึ้นมาสู้เพื่อความถูกต้องของสังคม
“ในวัยหนุ่มสาวเช่นนี้ ถ้าผมฝากอะไรไว้ได้ ขอให้ยึดมั่นในความถูกต้อง ยึดมั่นในอุดมการณ์ สร้างสังคมที่ดี สร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตย สร้างสังคมที่ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ เหตุผลที่ผมภาคภูมิใจในความเป็นธรรมศาสตร์ เพราะผมเชื่อว่าความรู้สึกอย่างนี้ ยังดำรงอยู่ และถูกสืบทอดกันรุ่นต่อรุ่น ผมหวังว่าความรู้สึกเหล่านี้จะไม่สูญหายไปกับกาลเวลา และหวังว่าความเป็นธรรมศาสตร์จะแปรเปลี่ยนเป็นการกระทำที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นเสียงให้กับผู้ที่ไม่มีเสียง ให้กับประชาชนผู้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ขอให้ใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยนี้ อย่างมีชีวิตชีวา สนุกตื่นเต้น ขวนขวาย เก็บเกี่ยววันเวลา ยึดมั่นในความถูกต้อง ความเป็นธรรม ปกป้องประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของประชาชน” นายธนาธรกล่าว
รับชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/NRRQZ2CaJGE