เศรษฐกิจ

‘ศิริกัญญา’ แนะ รบ.เตรียมแผนสำรองพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้าน ชี้ยิ่งเพิ่มภาระหนี้สูง หากร่าง กม.ผ่าน

โดย thichaphat_d

29 ธ.ค. 2566

152 views

‘ศิริกัญญา’ แนะ รบ.ต้องเตรียมแผนสำรอง หากกฤษฎีกาไม่เคาะพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้าน ชี้ หากร่างกม.ผ่านจะยิ่งเพิ่มภาระหนี้สูง เหน็บรัฐบาลทุ่มงบอัดรวดเดียว ทำจีดีพีโตแค่ 3 เปอร์เซ็นต์กว่า 

วานนี้ 28 ธันวาคม 2566 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า เตรียมจะเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า ตนอยากให้ นพ.พรหมินทร์ รอคำตอบที่ชัดเจนจากคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน ซึ่งตนอยากให้ได้คำตอบที่ชัดเจน ภายในต้นเดือนมกราคม เพราะจะได้เตรียมการทุกอย่างให้แล้วเสร็จ และหากคณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นว่าไม่สามารถออกเป็นร่าง พ.ร.บ.ได้ ก็จะสามารถเปลี่ยนแผนได้ทันท่วงที


เพราะตามไทม์ไลน์เดิมก็ถูกเลื่อนมาแล้วสองครั้ง จากเดิมที่เคยประกาศว่าจะได้ใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ตในเดือนกุมภาพันธ์ ก็เปลี่ยนเป็นเดือนพฤษภาคม แต่หากเริ่มต้นในเดือนพฤษภาคม เท่ากับว่าจะไม่ครอบคลุมในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลใดๆ เลย ซึ่งก็อาจจะต้องยืดระยะเวลาของโครงการไปอีก ซึ่งไม่แน่ใจว่าทางรัฐบาล ได้เตรียมแผนสำรองไว้บ้างหรือไม่ เท่าที่เราตรวจสอบแล้ว หากไม่สามารถออกร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านได้ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ก็จะเข้าที่ประชุมสภาในอีกไม่กี่วัน ก็คงจะแก้ไขอะไรไม่ทันแล้ว


น.ส.ศิริกัญญากล่าวอีกว่า หากร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทผ่าน ประกอบกับทางรัฐบาลเคยระบุว่า จะพยายามใช้หนี้คืนให้หมดภายใน 4 ปี สิ่งที่จะเกิดขึ้นทันที คือหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นอีก 5 แสนล้านบาท ตัวเลขดูอาจจะไม่เยอะ และอาจจะไม่ทำให้หนี้สาธารณะ เพิ่มขึ้นเกินเพดานที่กำหนดไว้ แต่สิ่งที่จะตามมา คือภาระหนี้ที่มาพร้อมกับเงินต้น และดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายคืนในแต่ละปี เฉพาะดอกเบี้ยก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 15,000 ล้านบาทต่อปี ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ภาระดอกเบี้ยต่อรายได้ของรัฐบาลนั้น เพิ่มขึ้นเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ใช้พิจารณาความเข้มแข็งทางการเงินการคลังของประเทศ


หากประเทศใดที่มีภาระดอกเบี้ยสูง ก็อาจสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตการณ์ทางการคลัง ส่วนผลที่จะเกิดขึ้นในเศรษฐกิจ ซึ่งหลายสำนักออกมาประมาณการว่า ผลกระทบต่อจีดีพีจะเป็นอย่างไร แต่ไม่มีสำนักไหนที่ประเมินว่า ภายหลังที่เศรษฐกิจถูกกระตุ้นด้วยเม็ดเงิน 5 แสนล้านบาทแล้ว จะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นได้เกิน 1 เปอร์เซ็นต์


“ดังนั้นที่รัฐบาลระบุว่า จะพยายามให้จีดีพีเติบโตได้ 5 เปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ย ภายใน 4 ปี แต่ในปีแรก ที่มีการอัดเม็ดเงินจำนวนมหาศาล และน่าจะเป็นครั้งเดียวภายใน 4 ปี ที่สามารถทำแบบนี้ได้ ก็ยังคงทำให้เศรษฐกิจโตขึ้นได้เพียง 3.6-3.8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ดังนั้นที่เคยระบุว่า เศรษฐกิจจะเติบโต 5 เปอร์เซ็นต์ภายในสี่ปี ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้แล้ว”  น.ส.ศิริกัญญา กล่าว 



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/d6-1rRXMxAc

คุณอาจสนใจ

Related News