เศรษฐกิจ

'ภูมิธรรม' กดปุ่มคิกออฟ เงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท สูงสุด 20,000 บาทต่อราย

โดย nattachat_c

29 พ.ย. 2566

202 views

วานนี้ (28 พ.ย. 66) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ Kick Off มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่บริเวณด้านหน้าตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล


นายภูมิธรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบมาตรการให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน หรือไม่เกินครัวเรือนละ 20,000 บาท ตามโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการ และพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/2567  


โดยมีเป้าหมายเกษตรกร 4.68 ล้านครัวเรือน ซึ่งจะมีการจ่ายเป็น 5 งวด (28 พ.ย. - 2 ธ.ค. 66) เริ่มจ่ายเมื่อวานนี้ (28 พ.ย. 66) เป็นวันแรกครอบคลุม 21 จังหวัด จนถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2566 จึงจะครบทั้ง 77 จังหวัด กรอบวงเงินรวมกว่า 54,336 ล้านบาท ผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)


“รัฐบาลตั้งใจที่จะลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ให้ท่าน ความร่วมมือครั้งนี้ สำเร็จได้เพราะพี่น้องเกษตรกร และตัวแทนชาวนา ช่วยกัน


วานนี้ เป็นวันแรกที่โอนเงินได้ และเมื่อครบ 5 วัน ก็จะครบทั้งประเทศ ปีต่อไป ให้มาลงทะเบียนกับกระทรวงเกษตรฯ เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต ในอนาคตเราจะเปลี่ยนแปลงปรับเปลี่ยนวิธีการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีมาเสริมให้ผลผลิตสูงขึ้น จะได้เอาเงินก้อนนี้มาแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้มากขึ้น เพื่อให้ผลผลิตต่อไร่ดีกว่านี้ ความสำเร็จในครั้งนี้ ได้ความร่วมมือจากทุกพรรคที่เกี่ยวข้อง ขอให้เกษตรกรมีกำลังใจ”


ด้านนายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า


ขอบคุณรัฐบาลที่ให้เงินไร่ละ 1,000 บาท แก่เกษตรกร ขอบคุณท่านรองนายกฯ และทุกท่าน ที่ให้ความสำคัญกับเกษตรกร ชาวนาทุกคนฝากขอบคุณท่าน ราคาข้าว 1-2 วันนี้ ขึ้นมาเป็นตันละ 13,000 บาท เป็นโอกาสดีของชาวนา เป็นระยะเวลา 17 ปี เพิ่งจะมีรัฐบาลชุดนี้ ที่ราคาขึ้นมาสูง ข้าวขาวตันละ 10,000 กว่าบาท ข้าวเหนียวตันละ 10,000 กว่าบาท ข้าวหอมมะลิตันละ 10,000 กว่าบาท ทำให้ชาวนาพออยู่ได้

-------------

ขณะที่บรรยากาศที่ ธ.ก.ส.จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวานนี้ (28 พ.ย. 66) คึกคัก  มีเกษตรกรได้เดินทางมาปรับสมุด เช็กยอดวงเงิน และรอถอนเงินออกจากบัญชี เพื่อเตรียมนำไปใช้ในการลงทุนทำนาปรังในรอบนี้


นายณรงค์ สิงห์เดช  ชาวนา ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ได้ติดตามข่าวสารทางสื่อว่า รัฐบาลจะมอบเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ต่อรายสูงสุดไม่เกิน 20,000 บาท ช่วงเช้าจึงนำสมุดมาปรับที่ ธ.ก.ส. พบว่า มียอดเงินโอนเข้ามาจำนวน 12,500 บาท เนื่องจากตนมีที่ทำนาจำนวน 12 ไร่ 2 งาน ก็ขอขอบคุณรัฐบาลที่ช่วยเหลือชาวนา เงินก้อนนี้มีประโยชน์กับชาวนา ที่จะนำไปใช้ในการทำนาปรังครั้งนี้ ซึ่งหลังจากปรับสมุด พบว่า มีเงินโอนเข้ามา ก็ตั้งใจจะเบิกถอนเงินไปซื้อน้ำมันสูบน้ำเข้านา ปรับเตรียมที่นา ซื้อเมล็ดพันธุ์ และเก็บไปซื้อปุ๋ยซื้อยา ใช้ในการทำนาต่อไป


ขณะที่เกษตรกรชาวนารายอื่น ๆ เดินทางมา ธ.ก.ส. เพื่อตรวจเช็กว่าเงินเข้าบัญชีหรือไม่ เมื่อพบว่า มีเงินโอนเข้ามาแล้ว ต่างก็ดีใจ  ยิ้มแย้มแจ่มใส บอกว่าจะนำเงินได้ลงทุนกับการทำนา ซึ่งเงินก้อนนี้ แบ่งเบาภาระให้กับชาวนาในการทำการผลิตทางเกษตรต่อไป

-------------

ด้าน นายวิเชียร สู้สกุลสิงห์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส.สาขาพิษณุโลก เปิดเผยว่า


วันแรกของการ kick off โอนเงินไร่ละ 1,000 บาท ให้ชาวนา  ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาพิษณุโลก เป็นสาขาแรกที่ได้รับการโอนเงินช่วยเหลือชาวนาก่อน  


โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมืองพิษณุโลก มีชาวนาที่ได้รับการช่วยเหลือทั้งหมด 44 ล้านบาท ส่วนสาขาอื่น ๆ จะทยอยมีเงินโอนเข้ามา ในวันที่ 29 พ.ย.นี้ ซึ่งแต่ละสาขาก็จะนัดให้เกษตรกรแต่ละตำบล ทยอยเข้ามารับเงิน เพื่อไม่ให้เกิดความแออัด เนื่องจากชาวนาบางราย ไม่มีบัญชีธนาคาร หรือบัญชีถูกปิดไป หรือไม่มีบัตร ATM  ก็ต้องไปติดต่อธนาคารสาขา เพื่อทำธุรกรรมหน้าเคาน์เตอร์ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการโอนเงินเข้าบัญชีตามปกติ  


จึงขอให้พี่น้องชาวนาค่อย ๆ ทยอยมาติดต่อกับ ธ.ก.ส. ไม่ต้องรีบ หรือกังวลว่าเงินจะหายไปไหน เพราะเงินถูกจัดเตรียมไว้สำหรับชาวนาที่ได้รับสิทธิ์ช่วยเหลือทุกคนอยู่แล้ว


คนที่มีบัตร ATM ก็สามารถกดเงินจากตู้ได้เลยทันที ไม่ต้องมาทำธุรกรรมที่หน้าเคาน์เตอร์ ส่วนใครที่ยังไม่มีบัตร ATM หรือยังไม่เปิดบัญชี ก็แนะนำให้ทำไว้ เพื่อจะได้สะดวกในการรับเงินช่วยเหลือต่าง ๆ จากรัฐบาล


สำหรับเงินช่วยเหลือชาวนาในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกทั้งจังหวัด จะมีชาวนาได้รับการช่วยเหลือจำนวน 64,000 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 887 ล้านบาท

-------------

ขณะที่ ข้อมูลจากกรมการค้าภายใน ระบุว่า วานนี้ (28 พ.ย. 66) คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.)  มีการเสนอโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าว ในการเก็บสต็อกปีการผลิต 2566/67


โดยจะช่วยชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการค้าข้าวในอัตรา 4% ใช้งบประมาณ 780 ล้านบาท จากกองทุนรวม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ในโอกาสแรกก่อน


และสำหรับการจ่ายเงินโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/2567 แบ่งเป็น 5 งวด ประกอบด้วย


งวดที่ 1

จ่ายวันที่ 28 พ.ย. 66 จำนวน 21 จังหวัด คือ หนองบัวลำภู เลย นครสวรรค์พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ อุทัยธานี ตาก เชียงราย พะเยา ลำปาง แพร่ เชียงใหม่ น่าน ลำพูน แม่ฮ่องสอน ลพบุรี และกรุงเทพฯ


งวดที่ 2

จ่ายวันที่ 29 พ.ย. 66 จำนวน 8 จังหวัด คือ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม สกลนคร อุดรธานี นครพนม หนองคาย มุกดาหาร และบึงกาฬ


งวดที่ 3

จ่ายวันที่ 30 พ.ย. 66 จำนวน 5 จังหวัด คือ นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และยโสธร


งวดที่ 4

จ่ายวันที่ 1 ธ.ค. 66 จำนวน 5 จังหวัด คือ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ ขอนแก่น และกาฬสินธุ์


งวดที่ 5

จ่ายวันที่ 2 ธ.ค. 66 จำนวน 38 จังหวัด คือ อยุธยา ชัยนาท สิงห์บุรี ปทุมธานี สระบุรี อ่างทอง นนทบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก ชลบุรี ระยอง สมุทรปราการ จันทบุรี ตราด สุพรรณบุรี นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี สมุทรสาคร ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง ตรัง สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สุราษฎร์ธานี ชุมพร ภูเก็ต กระบี่ ระนอง และพังงา


ซึ่งเกษตรกรสามารถตรวจสอบผลการโอนเงินได้ทางแอปพลิเคชัน BAAC Mobile ตลอด 24 ชั่วโมง และจะมีข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชีผ่านบริการ BAAC Connect ทาง Line: BAAC Family อีกด้วย

--------------


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/jKa4v2b_U6Q



คุณอาจสนใจ

Related News