สังคม

ถอดบทเรียนต้นแบบ สู่ 'เมืองเดินได้เดินดี' พัฒนาพื้นที่ ให้คนเดินสะดวก-ปลอดภัย

โดย chiwatthanai_t

28 ต.ค. 2566

85 views

ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์ UDDC-CEUS คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนผู้บริหารเมืองถอดบทเรียนการพัฒนาเมืองสู่การเป็นเมืองเดินได้เดินดี หลังที่ผ่านมาหลายเมืองได้นำแนวคิดนี้ไปปรับใช้ จนเกิดการพัฒนาในพื้นที่ทั้งประโยชน์ของการใช้ทางเท้า ซึ่งจะเป็นเมืองต้นแบบให้กับอีกหลายพื้นที่นำไปใช้ออกแบบและพัฒนาเมืองได้ โดยตอนนี้มีหลายเทศบาลเริ่มตอบรับการนำแนวทางนี้ไปปรับใช้

"ต้นแบบการฟื้นใจเมืองภูมิภาคด้วยยุทธศาสตร์ เมืองเดินได้ – เมืองเดินดี" เป็นหัวหลักของการเสวนาของ GOODWALK FORUM THAILAND 2023 ก้าวสู่ทศวรรษแห่งการพัฒนาเมือง ด้วยยุทธศาสตร์เมืองเดินได้- เมืองเดินดี จัดขึ้นโดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์ UDDC-CEUS คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีตัวแทนของผู้นำเมืองที่นำแนวคิดดังกล่าวไปใช้ในทางปฏิบัติ ประกอบด้วย เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด เมืองลำพูน นครระยอง และนครนครศรีธรรมราช


นี่เป็นตัวอย่างภาพจำลองของเมืองแต่ละเมืองในข้างต้น ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมของแผนพัฒนาทางเท้า ขณะที่บางเมืองก็เริ่มดำเนินการแล้ว โดยยึดหลักการเดียวกันคือสร้างทางเท้าที่น่าสัญจร มีระดับสม่ำเสมอ และเชื่อมย่านแต่ละย่านเข้าด้วยกัน เช่น โครงการถนนเลียบทะเลระยอง ลัดเลาะไปสู่ตลาดปลา และ ทางเดินต้นไม้ถนนตากสิน ของเทศบาลนครระยอง ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับความเป็นอยู่ของผู้คนทุกกลุ่ม กรุงเทพมหานคร ได้นำแนวคิดเมืองเดินได้เดินดีมาใช้ตามนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ของผู้ว่าชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ปรับทัศนียภาพและสร้างทางเดินเท้าให้ปลอดภัยได้มาตรฐาน ทางเรียบเสมอ น่าเดิน เชื่อมต่อการเดินทาง ให้กับคนทุกกลุ่ม


รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุ สถิติเรื่องร้องเรียนจากแพลตฟอร์มทราฟฟี่ฟองดูวกว่า 3 แสนเรื่อง พบว่า ถนนและทางเดินเท้าเป็นปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดติด 1 ใน 3 โดยภายในปี 2569 กทม.คาดว่าจะปรับปรุงทางเท้าได้ รวม 1696 กิโลเมตร


รองผู้ว่า ย้ำว่า 1 ปีที่ผ่านมาและจากนี้อีก 3 ปีต่อจากนี้ กทม. จะยึด 5 แนวทางในการพัฒนาปรับปรุงทางเท้า คือ แก้ไขตามประเด็นเรื่องร้องเรียนใน Traffy Fondue รับฟังเสียงเสนอเส้นทางจากอาสาสมัครนักวิ่ง พร้อมเข้าซ่อมแซมเป็นจุดและย้ายสิ่งกีดขวางออกจากทางเดิน / ปรับปรุงทางเท้าในรัศมี 500 เมตรรอบสถานีรถไฟฟ้า และ จุดที่มีประชากรหนาแน่น รวมถึงคืนสภาพพื้นผิวงานจากหน่วยงานสาธารณูปโภค


UDDC เปิดเผยผลสำรวจคุณภาพการเดินเท้าในเขตกรุงเทพมหานครล่าสุดพบว่า ย่านสีลม สาทร เป็นพื้นที่ที่มีการเดินเท้ามากที่สุด ส่วนน้อยที่สุด คือ ย่านพระโขนง ซึ่งคนกรุงเทพส่วนใหญ่ใช้วิธีเดินในระยะเฉลี่ยไม่เกิน 800 เมตรเท่านั้น
โดยกทม.เคยมีพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างทางเดินได้เดินดีมาแล้ว เช่น ตัวอย่างของสวนลอยฟ้าสะพานพระปกเกล้า และ คลองโอ่งอ่าง


รศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง UDDC เปิดเผยว่า เมืองเดินได้เดินดี ไม่ใช่แค่การปรับปรุงทางเท้า แต่เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองที่มีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และสุขภาวะของคนในชุมชนร่วมด้วย ซึ่งต้องอาศัยนโยบายของภาครัฐในการบูรณาการร่วมกัน


สิ่งสำคัญของแนวคิดเมืองเดินได้เดินดี ไม่ได้ออกแบบเพื่อแก้ปัญหาการเดินทางหรือการจราจร แต่ คือ เมืองที่ออกแบบเพื่อให้ คน เดินได้สะดวกและปลอดภัย ซึ่งหลายพื้นที่เริ่มนำแนวคิดนี้ไปปรับใช้ ทั้งในกทม. และ หัวเมืองใหญ่ทั่วภูมิภาค

คุณอาจสนใจ

Related News