เลือกตั้งและการเมือง

"ณัฐวุฒิ" ถามนายกฯ จี้แก้ปัญหาเด็กชุดนร.ขายนมเปรี้ยวสี่แยก ด้าน "วราวุธ" ตอบแทน ยันทำไม่ได้

โดย nutda_t

19 ต.ค. 2566

417 views

ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระกระทู้ถามสด นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นตั้งประทู้ถามสด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้ตอบแทน

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ตนตั้งใจจะถามนายกรัฐมนตรี เพราะนั่งเป็นประธานบอร์ดคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์แห่งชาติ แต่อย่างไรก็ตาม ในเมื่อมอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็ต้องขอขอบคุณ

นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า ตนได้ส่งคนไปดูตามสี่แยกจังหวัดต่างๆ พบว่ามีการขายที่หลากหลาย ทั้งพวงมาลัย กล้วยแขก รวมไปถึงบริการเช็ดกระจก แต่ประเด็นที่ตนกังวลที่สุด คือเรื่องการขายนมเปรี้ยว ซึ่งเกิดขึ้นตามบริเวณถนนถึงสี่แยก ซึ่งกรณีนี้ไม่ได้เกิดขึ้นตั้งแต่ดั้งเดิม แต่เพิ่งเกิดขึ้นหลังสถานการณ์โควิด พบว่ามีความสัมพันธ์กับความยากจน เรื่องการที่เด็กๆจะต้องไปโรงเรียน เรื่องความปลอดภัยอื่นๆ ของผู้ใช้ถนน


“การกระทำที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เด็กทำด้วยตนเอง หรือมีบุคคลอื่นเป็นผู้จ้างวาน หรือให้เด็กเป็นคนกระทำ เป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามว่าเราใช้แรงงานเด็ก นานาอารยประเทศเขาก็จับตาดูว่าสถานะของประเทศไทยอยู่ในเทียร์ไหน” นายณัฐวุฒิ กล่าว


นายณัฐวุฒิ ยกตัวอย่าง บ้านตนเองที่ จ.อ่างทอง มีเด็กที่มาขายนมเปรี้ยว โดยใช้เวลาปิดเทอมมาขาย เนื่องจากเป็นหัวหน้าครอบครัว คำถามคือเด็กและเยาวชนสามารถขายได้หรือไม่ สามารถใส่เครื่องแบบนักเรียนมาขายได้หรือไม่ สรุปเป็นการมาโดยสมัครใจ หรือมีบริษัท 4-5 บริษัท ตัวแทนจำหน่ายที่อยู่ในระดับภูมิภาคหรือจังหวัด ใช้หรือจ้างวานให้มาขายหรือไม่


“รัฐมนตรีมีลูก ผมเองก็มีลูกเล็ก สิ่งที่อยากให้ลูกเราได้รับคือการเข้าศึกษา แต่เห็นหรือไม่ว่าเด็กจำนวนไม่น้อยในประเทศไทย ต้องเข้าสู่การทำงานเร็ว เราจะไปตอบประเด็นเรื่องแรงงานเด็กเรื่องการค้ามนุษย์ได้อย่างไร” นายณัฐวุฒิ กล่าว

จากนั้น นายวราวุธ กล่าวว่า อัตราเด็กเกิดใหม่น้อยลง ทำให้ประเทศไทยในวันนี้กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ต้องเรียกว่าปัญหาที่ได้กล่าวมานั้น ทราบดีว่านายณัฐวุฒิ ทำประเด็นเรื่องเด็กและเยาวชนมาเนิ่นนานพอสมควร ซึ่งคงทราบว่ากระทรวงรับทราบถึงปัญหาที่มีขึ้น ในขณะนี้ มีการดำเนินการถึงมาตรการหลายส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรมกิจการเด็กและเยาวชน เป็นหน่วยงานเชิงนโยบาย และตนได้กำชับให้ทำงานเชิงรุก ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในสังกัดใดต้องไปดูการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ


นายวราวุธ กล่าวว่า มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายบนพื้นที่การจราจรอยู่ 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กปี 2546 และ พ.ร.บ.การจราจรทางบกปี 2522 ซึ่งการเรี่ยไรค้าขายบนผิวจราจรถือว่าไม่สามารถทำได้



ในระยะสั้น ตนเองเพิ่งเข้ามาทำงาน ก็ได้กำชับให้ไปดูที่ จ.สุพรรณบุรี ส่วนพื้นที่อื่นกรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้มีการประสานงานกับทุกหน่วยงานและบริษัทนมเปรี้ยวแล้ว เพื่อพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งบางบริษัทก็ต้องประชุม เพราะบริษัทนั้นมีแนวทางในการกระจายขายโดยที่ไม่ได้ใช้เด็กอยู่แล้ว


“ต้องขอบคุณท่านสมาชิกจริงๆ ท่านณัฐวุฒิ ที่ถามขึ้นมา เพราะทำให้ผมสามารถกลับไปดูที่บ้านตัวเองได้เช่นกัน” นายวราวุธ กล่าว


นายวราวุธ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางกระทรวงได้มีการจัดหาพื้นที่ให้กับเด็กและเยาวชนได้หารายได้เสริม 33 จังหวัด 127 แห่ง นอกจากนี้ ยังได้มีบริษัทนมเปรี้ยวรายใหญ่ ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังตัวแทนการขายของบริษัทตนเอง ย้ำว่าขอให้ยกเลิกการใช้เด็กและเยาวชนเป็นช่องทางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งหากฝ่าฝืนก็จะมีอยู่ในเงื่อนไขว่าบริษัทจะลงโทษโดยลดปริมาณสินค้าหรือยกเลิกตัวแทนการขาย


นอกจากนี้ยังมีการจัดให้ความรู้กับผู้ปกครอง เรื่องกฎหมายคุ้มครองเด็กเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กถูกบังคับใช้แรงงาน หรือแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบทุกรูปแบบ


นายวราวุธ กล่าวต่อว่า ส่วนในระยะยาวมีการเสนอให้ปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ให้มีเงื่อนไขให้เหมาะสม ตามสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น เช่น การว่าจ้างเด็ก แม้จะเป็นพ่อแม่ก็ไม่ควร หรือแม้แต่จะต้องมีการหาประโยชน์ใดๆจากเด็กนั้น พ่อแม่เองจะต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย ในการเฝ้าดู ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพิจารณา

“จำนวนเด็กอยู่น้อย จากนี้ไปแรงงานก็จะน้อยลงๆ มันเป็นสิ่งที่กระทรวงพยายามสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันครอบครัว เพื่อจะได้เพิ่มปริมาณเด็กเกิดใหม่ในสังคมไทย” นายวราวุธ กล่าว

จากนั้น นายณัฐวุฒิ ถามต่อว่า ตอนนี้ยกร่าง พ.ร.บ.เด็ก เสร็จเรียบร้อยแล้ว อยากให้ส่งร่าง พ.ร.บ.เด็ก ที่เสร็จเรียบร้อยแล้วประเดิมสภาก่อนจะประชุมสมัยหน้า เอา พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก มาพิจารณาเป็นฉบับแรก เพราะแก้เสร็จแล้ว ซึ่งคำถามที่ 2 คือ 77 จังหวัดทั่วประเทศ ยังมีการขายอยู่ ซึ่งส่งผลต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของเด็ก เรื่องนี้เป็นบทสะท้อนความยากจน ซึ่งตามสถิติเรามีผู้ว่างงานเป็นจำนวนมาก และมีเด็กอยู่ในครอบครัวของผู้ว่างงาน ถือเป็นความยากจนทับซ้อน ทำให้เด็กหยุดขายไม่ได้ ระบบคุ้มครองเด็กหายไปไหน ไม่จำเป็นต้องรอวงเวียนชีวิตหรือคนมาแจ้ง รวมถึงต้องรอเงินอุดหนุนเด็ก วันนี้ระบบที่ผ่านชุมชน ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น หายไปไหน ในเมื่อรัฐมนตรีมีเจตจำนง ข้าราชการพร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่ และสภาก็มีเจตจำนงเช่นเดียวกัน ตนขอถามว่าถ้าเช่นนั้นรัฐบาลเองจะมีนโยบายมีแผนให้เห็นเป็นรูปธรรม รวมถึงแนวทางมาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหา ไม่ให้เด็กเหล่านี้ไปขายสินค้าหรือบริการต่างๆบริเวณสี่แยกหรือท้องถนนได้อย่างไร เพราะเด็กรอไม่ได้แม้แต่วันเดียว


ทำให้ นายวราวุธ ลุกขึ้นชี้แจงว่า ในส่วนของกระทรวง ได้มีการใช้สารสนเทศมาช่วยแล้ว โดยจัดตั้งเป็นศูนย์ ที่ผ่านมาได้มีการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงแล้ว หากไม่ดีควรจะรีบกลับมาปรับปรุง แต่หากดีเราอยากให้ทำงานเพิ่ม เราก็ยินดี เราจะจัดให้มีสวัสดิการเด็กและเยาวชนสำหรับครอบครัวยากจน รวมถึงค่าเลี้ยงดูบุตรสำหรับครอบครัวอุปถัมภ์ที่รับเด็กไปเลี้ยง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับหัวหน้าครอบครัว รวมถึงการจัดหาครอบครัวอุปถัมภ์ หรือครอบครัวบุญธรรมที่เหมาะสม และจัดสวัสดิการให้สถานรับรองเด็ก


“ตอนที่เข้ามารับตำแหน่ง เห็นค่าอาหารกลางวันก็ค่อนข้างตกใจ ได้มีการตั้งข้อสังเกตของให้ท่านอธิบดี ตั้งข้อสังเกตไปภายในปีงบประมาณ 67” นายวราวุธ กล่าว


นายวราวุธ ย้ำว่า ส่วนในระยะยาว จัดให้กระทรวงตั้งคณะกรรมการเพื่อมาศึกษาเกี่ยวกับสารอาหาร มีการติดต่อไปยังสำนักงบประมาณ ส่วนการทำงานเชิงรุกที่เป็นรูปธรรม เมื่อวานได้ไปเห็นชุมชนรถไฟ ได้เห็นปัญหาหลายอย่าง ก็จะนำหลายหน่วยงานมาบูรณาการร่วมกัน


“ในชุมชนนั้นปัญหาล้านแปดจริงๆ ครับ ไม่ว่าจะเป็นหนี้สินรายได้ไม่พอ ที่อยู่ไม่มั่นคง ทุนการศึกษา พ่อแม่ไม่สามารถเลี้ยงดูลูกได้ สุรา ปัญหาต่างๆเยอะจริงๆ เราก็มีการบูรณาการกับหน่วยงาน หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” นายวราวุธ กล่าว


นายวราวุธ กล่าวว่า จะมีกลไกลการทำงานร่วมกันระหว่างระดับจังหวัดระดับชาติ แต่พอคณะกรรมการเยอะงานก็ไม่ค่อยเดิน ส่วนตัวของตนเป็นนักปฏิบัติ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถประสานทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของเยาวชน พร้อมย้ำว่าจะมีการส่งเสริมกิจกรรมในครอบครัวให้มากขึ้น รวมถึงระบบคุ้มครองเด็กให้มีความพร้อมในการทำงานเชิงรุก และมีการตอบสนองอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้ทำให้กระทรวงจะมีการจัดตั้งศูนย์เด้งและสวัสดิการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.)


ส่วนเรื่องร่าง พ.ร.บ.เด็ก ตนก็ยินดีหากมีการเสนอ ตนคิดว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี หากได้รับคำเสนอแนะจากฝ่ายค้าน เพื่อให้ พ.ร.บ.นี้สมบูรณ์ที่สุด และเร่งเสนอต่อสภาในสมัยการประชุมหน้า

คุณอาจสนใจ

Related News