เลือกตั้งและการเมือง

สั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด 11 แกนนำพันธมิตรฯ หลัง ทอท.ยื่นฟ้องล้มละลาย ปมปิดสนามบิน

โดย panwilai_c

18 ต.ค. 2566

358 views

มีความคืบหน้าที่เกี่ยวเนื่อง จากเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" เมื่อ 15 ปีก่อน ล่าสุด เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยเเพร่ประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เรื่องคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯทั้ง 11 คน จากกรณีที่บริษัทท่าอากาศยานไทย ยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายกลาง ขอให้ลูกหนี้ทั้ง 11 คนล้มละลาย



เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยเเพร่ประกาศเรื่องคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของแกนนำพันธมิตรฯทั้ง 11 คน ซึ่งถูกบริษัทท่าอากาศยานไทย ยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายกลาง ขอให้ลูกหนี้ทั้ง 11 คนล้มละลาย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483



ประกาศฉบับนี้ ระบุรายชื่อลูกหนี้ทั้ง 11 คน ประกอบด้วย

- พลตรีจําลอง ศรีเมือง ลูกหนี้ที่ 1

- สนธิ ลิ้มทองกุล ลูกหนี้ที่ 2

- พิภพ ธงไชย ลูกหนี้ที่ 3

- สุริยะใส กตะศิลา ลูกหนี้ที่ 4

- สมศักดิ์ โกศัยสุข ลูกหนี้ที่ 5

- ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ลูกหนี้ที่ 6

- อมร หรืออิทธิ หรืออมรเทพ หรือ รัชต์ชยุตม์ หรือ อมรศักดิ์ อมรรัตนานนท์ หรือ ศิรโยธินภักดี หรือ อิทธิประชา ลูกหนี้ที่ 7

- สําราญ รอดเพชร ลูกหนี้ที่ 8

- นายศิริชัย ไม้งาม ลูกหนี้ที่ 9

- มาลีรัตน์ หรือมาลีรักษ์ แก้วก่า ลูกหนี้ที่ 10 และ

- เทิดภูมิไท หรือเทิดภูมิ ใจดี ลูกหนี้ที่ 11



ดังนั้น นับแต่วันที่ศาลได้มีคําสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว มีอํานาจจัดการเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 และบุคคลผู้เป็นหนี้/ลูกหนี้/หรือมีทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ในครอบครอง มีหน้าที่ต้องแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ หรือทรัพย์สินของลูกหนี้ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบ ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้ทราบคําสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตามมาตรา 24/1 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ซึ่งผู้ใดมีหน้าที่ตามมาตรา 24/1 แล้วไม่ปฏิบัติตาม มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท ตามมาตรา 173/1 แห่งพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483



เหตุการณ์ชุมนุมปิดสนามบิน เกิดขึ้น เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2551 ซึ่งขณะนั้นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เคลื่อนขบวนเข้าปิดท่าอากาศยานดอนเมือง กระทั่ง 25 พฤศจิกายน เคลื่อนการชุมนุมเข้าไปในพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรรภูมิ ทำให้บริษัทท่าอากาศยานไทย ต้องประกาศปิดบริการสนามบินสุวรรณภูมิในคืนนั้น โดยเปิดให้เฉพาะเครื่องบินขาเข้าเท่านั้น และปิดการขึ้นลงทุกเที่ยวบินทั้งหมดในเช้ามืดวันที่ 26 พฤศจิกายน มีผู้โดยสารตกค้างรวมประมาณ 3,000 คน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ต่อมาหลายประเทศทั่วโลก ต้องออกประกาศเเจ้งเตือนประชาชนของตัวเอง หลีกเลี่ยงการเดินทางมาที่ประเทศไทย



หลังเหตุการณ์สงบ มีการฟ้องร้องค่าเสียหายกับเเกนนำ กระทั่ง 24 มีนาคม 2561 ศาลแพ่งอ่านคำสั่งศาลฎีกา พิจารณาตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ยื่นขอขยายระยะเวลาฎีกา ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง / นายสนธิ ลิ้มทองกุล และพวกรวม 13 คน ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เป็นเงินกว่า 522 ล้านบาท รวมดอกเบี้บเกือบ 900 ล้าน



จากนั้นบริษัทการท่าอากาศยาน ได้ประกาศจ้างบริษัทเอกชนสืบทรัพย์ แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ขณะที่กรมบังคับคดี ก็ได้ส่งเอกสารถึงทุกธนาคารให้ดำเนินการอายัดทุกบัญชีของทั้งเเกนนำ ซึ่งตกเป็นจำเลยร่วมกันในคดีฟ้องละเมิดเรียกค่าเสียหาย โดยต้องชดใช้เงินจำนวน 522,160,947.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2551 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่กลุ่มพันธมิตรฯ เคลื่อนขบวนชุมนุมเข้าปิดสนามบินสุวรรณภูมิ

คุณอาจสนใจ

Related News