เศรษฐกิจ

นักวิชาการ ม.หอการค้าฯ วิเคราะห์เหตุรุนแรงในตะวันออก ไม่กระทบเศรษฐกิจไทยโดยตรง

โดย paranee_s

9 ต.ค. 2566

82 views

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า การสู้รบระหว่างอิสราเอลและกองกำลังกลุ่มฮามาส เป็นความขัดแย้งที่จำกัดอยู่ใน 2 กลุ่ม ยังเห็นท่าทีที่จะบานปลายไปยังตะวันออกกลางโดยรวม


ผลกระทบทางตรงกับไทยที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือผลกระทบต่อชีวิตและความไม่แน่นอนทางรายได้ในปัจจุบันและในอนาคตของแรงงานไทยในอิสราเอล เชื่อว่ารัฐบาลไทยและสถานทูตไทยในอิสราเอลจะคอยดูแล


ส่วนการค้าและบริการพบว่า ปัจจุบันไทยส่งออกไปยังอิสราเอลไม่มาก มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.2% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด เป็นคู่ค้าอันดับ 40 ของไทย ส่วนไทยนำเข้า 10,000 กว่าล้านบาท ซึ่งยังไม่กระทบกับระบบการขนส่ง ไม่มีการปิดประเทศ ตรงกันข้ามอิสราเอลอาจต้องการสินค้าบางชนิดจากไทยเพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้ จึงยังไม่กระทบกับการส่งออก


ขณะที่นักท่องเที่ยวอิสราเอลมาไทยปีละกว่า 200,000 คน หรือ 1-2 หมื่นคนต่อเดือน ใช้จ่าย 10,000-40,000 บาทต่อคนต่อทริป หากเหตุการณ์จบเร็ว เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยรุนแรง หากมองภายใต้สมมุติฐานเกิดความเสียหายโดยสิ้นเชิง ไม่มีการค้าขาย ไม่มีการท่องเที่ยว จะคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งปีราว 50,000 ล้านบาท ก็คิดเป็นสัดส่วนที่ต่ำมากเพียง 0.2-0.3% ของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตามเชื่อว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอย่างแน่นอน อาจกระทบเล็กน้อยบางส่วนในระยะสั้นเท่านั้น


ขณะที่ผลกระทบทางอ้อม อาจทำให้ราคาน้ำมันในไทยปรับขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ถึงระดับกว่า 1-2 บาทต่อลิตร และอาจเป็นช่วงระยะสั้น บวกกับรัฐบาลไทยยังบริหารจัดการราคาน้ำมันในประเทศอยู่ ส่วนเส้นทางผลิตน้ำมัน ฝั่งซาอุอาระเบีย ไม่กระทบ อิหร่าน บริเวณอ่าว ไม่กระทบน้ำมันเพิ่มรุนแรง


ทางนี้ประเมินว่าสถานการณ์การสู้รบไม่น่าจะยืดเยื้อเพราะที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีการแทรกแซงจากบุคคลที่ 3 อีกทั้งปฏิบัติการในการตอบโต้ระหว่างสองฝั่งในครั้งนี้ คงต้องรอฟังเสียงนานาชาติ ว่าจะมีแรงกดดันในมิติใดบ้าง


อย่างไรก็ตามด้วยข้อจำกัดทางพื้นที่ของฮามาส เชื่อว่าการตอบโต้จะไม่ยาวนาน ที่สำคัญคือ ความสัมพันธ์ของกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ซาอุดีอาระเบีย อิสราเอล กับ สหรัฐอเมริกา รวมถึงการที่จีนเป็นกาวใจเชื่อมสัมพันธ์ระหว่าง ซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน ซึ่งเชื่อว่าอิหร่านเป็นฝ่ายหนุนหลังฮามาสเหล่านี้ เป็นปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้เชื่อว่าสถานการณ์จะไม่ยืดเยื้อ คาดว่าจะกินระยะเวลาประมาณหนึ่งเดือน

คุณอาจสนใจ

Related News