เศรษฐกิจ

รมว.แรงงาน ดับฝันขึ้นค่าแรง 400 บาท หวั่นกระทบนายจ้าง SMEเจ๊ง-อุตสาหกรรม ย้ายฐานผลิต

โดย nutda_t

15 ก.ย. 2566

3.8K views

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประชุมหารือกับ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. พร้อมด้วยคณะทำงานด้านแรงงาน เพื่อรับฟังข้อเสนอจากภาคเอกชน ก่อนเดินหน้าพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อลดกังวลและไม่กระทบภาคการผลิต​ ซึ่งภายหลังจากการหารือ กระทรวงแรงงานให้ความมั่นใจว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำ จะต้องเกิดขึ้นแน่นอนภายในปี 2567

โดย นายพิพัฒน์ ระบุว่าจะหารือในรายละเอียดทั้งในส่วนของแรงงานไทยและแรงงานเพื่อนบ้าน ภาคเอกชน คณะกรรมการ​ไตรภาคี​ เพื่อเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 25 กันยายนนี้ จากนั้นหาข้อสรุปและประกาศออกมาภายในเดือนพฤศจิกายน และเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2567 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทย โดยจะต้องพิจารณาปรับขึ้นตามอัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ แต่คงไม่ถึง 400 บาท และไม่ใช่เป็นการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ เพราะจะเป็นการขึ้นแบบก้าวกระโดดถึง 10% จากค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบัน ซึ่งจะกระทบต่อนายจ้าง โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีจะไปต่อไม่ได้ และป้องกันเกิดการลักลั่นทางรายได้สำหรับกลุ่มแรงงานใหม่และแรงเก่า


พร้อมมอบนโยบายให้กับภาคเอกชน ในการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้กับกลุ่มแรงงานที่มีทักษะ เป็น 400 บาทต่อวัน ดังนั้นเป็นการจ่ายลักษณะ Pay by skill เน้นแรงงานไทย หรือเป็นกลุ่มแรงงานที่มีการเพิ่มทักษะแล้ว

ขณะที่ นายเกรียงไกร ประธาน ส.อ.ท. บอกว่า การหารือวันนี้ทำให้สบายใจมากขึ้นว่ารัฐบาลจะไม่ขึ้นค่าแรงทั่วประเทศ 400 บาท หากเป็นเช่นนั้นจะกระชากธุรกิจอย่างมาก อาจทำให้บางกลุ่มต้องย้ายฐานการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น ประมงและแปรรูปอาหารทะเล โดยหากขึ้นค่าจ้าง 400 บาท จะทำให้อุตสาหกรรมที่จ่ายค่าจ้างอยู่ที่ขั้นต่ำ 328 บาท ต้นทุนจะสูงขึ้น 19 -20% ส่วนเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมที่จ่ายอยู่ที่ 354 บาท ต้นทุนจะสูงขึ้น 13% โดยมองว่า การใช้กลไกไตรภาคี มาพิจารณาการขยับขึ้นค่าจ้างจะเป็นกลไกที่เหมาะสม มีการประเมินจากภาคเอกชน และเมื่อคำนวณอัตราเงินเฟ้อปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ราว 2-3% หากรัฐบาลเพิ่มค่าจ้างให้อีกอาจทำให้ค่าจ้างที่ขยับขึ้นราว 3-4%

ทั้งนี้ปัจจุบัน 45 อุตสาหกรรมในสภาอุตสาหกรรมฯ มีประมาณ 25 อุตสาหกรรม ที่จ่ายค่าแรงสูง 600-900 บาท อยู่แล้ว เหลืออีก 20 อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น และจ่ายค่าแรงตามค่าแรงขั้นต่ำ

แท็กที่เกี่ยวข้อง  กระทรวงแรงงาน ,ขึ้นค่าแรง

คุณอาจสนใจ