เลือกตั้งและการเมือง

วาระประชุมรัฐสภา 22 ส.ค. โหวตนายกฯไม่มีถกญัตติ ‘วันนอร์’ เผยมติวิป 3 ฝ่าย ผู้ถูกเสนอชื่อ ไม่ต้องแสดงวิสัยทัศน์

โดย petchpawee_k

19 ส.ค. 2566

35 views

'วันนอร์' ออกระเบียบวาระประชุมรัฐสภา 22 ส.ค. โหวตนายกฯ ไม่มีถกญัตติ ขอให้รัฐสภา มีมติทบทวนการพิจารณามติ 19 ก.ค.ห้ามเสนอชื่อซ้ำ  เผยมติวิป 3 ฝ่าย เคาะกรอบเวลาโหวตนายกฯ ให้สส.-สว.อภิปราย 5 ชั่วโมง ก่อนลงมติ 15:00 น. ชี้ ผู้ถูกเสนอชื่อ ไม่ต้องแสดงวิสัยทัศน์ อ้างรธน. ไม่ได้กำหนดไว้ 


เมื่อวานนี้ (18 ส.ค.) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา มีคำสั่งให้นัดประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ในวันอังคารที่ 22 สิงหาคม 2566 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา โดยมีวาระการประชุม สำคัญเรื่องด่วนที่ 1 พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เรื่องด่วนที่ 2 ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ.(ยกเลิกมาตรา 272) โดยนายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล(ก.ก.) กับคณะเป็นผู้เสนอ


ทั้งนี้ ไม่มีการบรรจุวาระการเสนอญัตติ ขอให้รัฐสภามีมติทบทวนการพิจารณามติ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม การเสนอชื่อบุคคลเดิมให้รัฐสภาเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นไม่สามารถเสนอคนเดิมได้ ของนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ค้างมาตั้งแต่วันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม แต่อย่างใด

---------------------------------

เมื่อวานนี้ (18 ส.ค.) เวลา 10.00 น. วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้นัดหมายตัวแทนเข้าหารือในการประชุมของคณะกรรมการประสานงาน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย พรรคการเมืองขั้วแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พรรคการเมืองฝ่ายเสียงข้างน้อย และวุฒิสภา เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณารายชื่อบุคคลที่สมควรได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 ส.ค. นี้


นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้กล่าวภายหลังประชุม 3 ฝ่าย ว่า การประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 22 สิงหาคม เพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีจะเริ่มขึ้นในเวลา 10:00 น. และจะใช้เวลาในการอภิปรายไม่เกิน 5 ชั่วโมง แบ่งเป็น สว. 2 ชั่วโมง สส. ไม่เกิน 3 ชั่วโมง คาดว่าจะลงมติได้ในเวลา 15:00 น. ซึ่งจะเสร็จสิ้นในเวลา 17:30 น. โดยประมาณ


ส่วนผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องแสดงวิสัยทัศน์หรือไม่นั้น ที่ประชุม ได้รับแจ้ง จากฝ่ายกฎหมายของสภาฯ ว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ว่าให้ต้องมาแสดง อีกทั้งข้อบังคับก็ไม่ได้กำหนดไว้ แล้วที่ประชุมของคณะกรรมาธิการ ซึ่งร่างข้อบังคับดังกล่าว ได้แสดงเจตนารมณ์ไว้ว่า ไม่ต้องให้มาแสดงวิสัยทัศน์ อีกทั้ง ในการประชุมรัฐสภาเมื่อปี 2563 ก็มีมติว่า ไม่จำเป็นต้องแสดงวิสัยทัศน์ ดังนั้น ประธานรัฐสภาในขณะนั้น จึงยืนยันว่าต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับ คือ เมื่อมีชื่อของบุคคลภายนอก ก็ไม่จำเป็นต้องให้มาแสดงวิสัยทัศน์


 สำหรับวาระการประชุม ในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ มีเรื่องที่เลื่อนจากการประชุมครั้งที่แล้ว เรื่องแรกญัตติด่วน ขอให้มีการทบทวนการเสนอชื่อซ้ำ ของนายรังสิมันต์ โรม ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยว่า ให้นายรังสิมันต์ ได้เสนอ เจตนารมย์ของการเสนอญัตติแต่ก็เห็นด้วยว่าในข้อบังคับ ข้อ 151 ไม่สามารถนำมาทบทวนได้ ซึ่งหากนำมาทบทวนจะเกิดปัญหา ว่ามติของรัฐสภา สามารถทบทวนได้เรื่อยๆ จะทำให้เกิดปัญหาต่อความน่าเชื่อถือ ต่อมติรัฐสภา


ดังนั้นที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย เห็นว่า เมื่อได้มีการเสนอ เรื่องนี้ ขอให้ประธานรัฐสภาใช้อำนาจของประธานรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 และ ข้อบังคับที่ 5 และ 151 ไม่รับเป็นญัตติด่วน แต่นำมาเสนอได้ เพราะจะมีผลกระทบ ต่อมติที่ลงไปแล้ว และญัตติอื่นๆถ้ามีการทบทวนก็จะมีปัญหาขึ้นมาใหม่ อีกทั้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้บอกให้สภาต้องทบทวน ในสิ่งที่พิจารณาไปแล้ว ดังนั้นก็จะดำเนินการตามนี้


รับชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/j-C3L-VLmL4

คุณอาจสนใจ

Related News