เลือกตั้งและการเมือง

วิป 3 ฝ่าย เคาะกรอบเวลาวันโหวตนายกฯ อภิปราย 5 ชม. ผู้ถูกเสนอชื่อไม่ต้องแสดงวิสัยทัศน์

โดย panwilai_c

18 ส.ค. 2566

29 views

ผลการหารือของวิป 3 ฝ่าย เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณารายชื่อบุคคลที่สมควรได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ ได้ข้อสรุป โดยที่ประชุม กำหนดให้เวลาสส.และสว.อภิปราย รวมเวลา 5 ชั่วโมง เริ่มลงมติบ่าย 3 โมง จะทราบผลในเวลา 17.30 น.



การประชุมวิป 3 ฝ่ายประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายเสียงข้างมาก นำโดย พรรคเพื่อไทย /พรรคภูมิใจไทย /พรรคประชาชาติ /พรรครวมไทยสร้างชาติ /พรรคพลังประชารัฐ /พรรคเสรีรวมไทย /พรรคชาติพัฒนากล้า /พรรคชาติไทยพัฒนา /พรรคพลังสังคมใหม่ /พรรคเพื่อไทรวมพลัง และพรรคใหม่



สำหรับฝ่ายเสียงข้างน้อย ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล / พรรคไทยสร้างไทย / พรรคเป็นธรรม และพรรคประชาธิปัตย์



ตัวแทนฝั่งวิปวุฒิสภา ประกอบด้วย นายสมชาย แสวงการ และ นายมหรรณพ เดชวิทักษ์



โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภากล่าวภายหลังประชุม ว่า การประชุมจะเริ่มขึ้นในเวลา 10:00 น. ใช้เวลาในการอภิปรายไม่เกิน 5 ชั่วโมง แบ่งเป็น สว. 2 ชั่วโมง สส. ไม่เกิน 3 ชั่วโมง คาดว่าจะลงมติได้ในเวลา 15:00 น. ซึ่งจะเสร็จสิ้นในเวลา 17:30 น. โดยประมาณ



ส่วนผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องแสดงวิสัยทัศน์หรือไม่นั้น ที่ประชุม ได้รับแจ้ง จากฝ่ายกฎหมายของสภาฯ ว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ว่าให้ต้องมาแสดง อีกทั้งข้อบังคับก็ไม่ได้กำหนดไว้ แล้วที่ประชุมของคณะกรรมาธิการ ซึ่งร่างข้อบังคับดังกล่าว ได้แสดงเจตนารมณ์ไว้ว่า ไม่ต้องให้มาแสดงวิสัยทัศน์ อีกทั้งในการประชุมรัฐสภาเมื่อปี 2563 ก็มีมติว่า ไม่จำเป็นต้องแสดงวิสัยทัศน์ ดังนั้น ประธานรัฐสภาในขณะนั้น จึงยืนยันว่าต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับ คือ เมื่อมีชื่อของบุคคลภายนอก ก็ไม่จำเป็นต้องให้มาแสดงวิสัยทัศน์



สำหรับวาระการประชุม ในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ มีเรื่องที่เลื่อนจากการประชุมครั้งที่แล้ว เรื่องแรกญัตติด่วน ขอให้มีการทบทวนการเสนอชื่อซ้ำ ของนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยว่า ให้นายรังสิมันต์ ได้เสนอ เจตนารมย์ของการเสนอญัตติแต่ก็เห็นด้วยว่าในข้อบังคับ ข้อ 151 ไม่สามารถนำมาทบทวนได้ ซึ่งหากนำมาทบทวนจะเกิดปัญหา ว่ามติของรัฐสภา สามารถทบทวนได้เรื่อยๆ จะทำให้เกิดปัญหาต่อความน่าเชื่อถือ ต่อมติรัฐสภา



ดังนั้นที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย เห็นว่า เมื่อได้มีการเสนอ เรื่องนี้ ขอให้ประธานรัฐสภาใช้อำนาจของประธานรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 และ ข้อบังคับที่ 5 และ 151 ไม่รับเป็นญัตติด่วน แต่นำมาเสนอได้ เพราะจะมีผลกระทบ ต่อมติที่ลงไปแล้ว และญัตติอื่นๆถ้ามีการทบทวนก็จะมีปัญหาขึ้นมาใหม่ อีกทั้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้บอกให้สภาต้องทบทวน ในสิ่งที่พิจารณาไปแล้ว ดังนั้นก็จะดำเนินการตามนี้

คุณอาจสนใจ

Related News