เลือกตั้งและการเมือง

‘อนุพงษ์’ ยันจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ ตราบใดที่ยังไม่เปลี่ยนหลักเกณฑ์ – กฤษฎีกาแจงแก้เกณฑ์ใหม่ เป็นไปตาม รธน.

โดย nattachat_c

16 ส.ค. 2566

30 views

วานนี้ 15 สิงหาคม 2566 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึง 'การปรับเกณฑ์เบี้ยผู้สูงอายุ' ว่า การจ่ายเดิมทางกรมบัญชีกลางเห็นว่า ผู้ที่มีรายได้อื่น ๆ เช่น บำนาญ คงจะรับเงินไม่ได้ต้องเรียกคืน และในที่สุดก็มีปัญหา จนรัฐบาลต้องจ่ายเงินคืนให้


จากนั้น ได้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่ง พม.ได้ส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตีความ โดยกฤษฎีกาตีความว่า ระเบียบที่ออกนี้ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ว่าประชาชนจะต้องมีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ โดยเฉพาะผู้ยากไร้ รัฐบาลต้องช่วยเหลือ เพราะฉะนั้น การที่กำหนดว่าจะให้ใครตามระเบียบเดิมไม่ได้แล้ว จึงเป็นที่มาของการออกระเบียบใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้


แต่อย่างไรก็ตามการจะให้นี้ต้องทั่วถึงและเป็นธรรม โดยจะมีคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเป็นผู้กำหนดว่าจะทำอย่างไรถึงจะเป็นธรรม ถ้าจะให้ทั่วถึงจ่ายทุกคนก็ได้ หรือจะไปกำหนดกลุ่ม คนที่มีรายได้มาก อาจจะไม่ต้องจ่ายก็ได้ ซึ่งระเบียบนี้ก็เปิดทางไว้


อย่างไรก็ตาม ถ้าคณะกรรมการผู้สูงอายุยังไม่กำหนด ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จ่ายแบบเดิมได้ ทั้งผู้ที่ได้รับอยู่แล้ว และผู้ที่จะอายุครบ 60 ปีใหม่ สามารถจ่ายตามเกณฑ์เดิมได้


เมื่อถามว่า จะรอให้คณะกรรมการผู้สูงอายุพิจารณาก่อนใช่หรือไม่

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า แล้วแต่คณะกรรมการจะพิจารณาอย่างไร แต่รัฐบาลชุดนี้ไม่มีอำนาจที่จะไปทำ เพราะมันคงผูกพันกับรัฐบาลใหม่แล้ว เนื่องจากใช้งบประมาณมาก อ


ย่างไรก็ตาม เรื่องนี้รัฐบาลได้ทำหนทางไว้หมดแล้ว รัฐบาลใหม่มาจะทำอย่างไรก็สามารถทำได้หมด "ดังนั้น ตอนนี้ผู้สูงอายุเดิมรับเงินอย่างไรก็รับไปตามเดิม ผู้สูงอายุใหม่ก็สามารถรับได้ตามเกณฑ์เดิม ตราบใดที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง"


เมื่อถามว่า ตอนนี้ประชาชนยังไม่ต้องกังวลใจในเรื่องนี้ใช่หรือไม่

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ไม่ต้องกังวล และถ้าตนมองในตอนนี้ประชาชนจะได้ประโยชน์ทั่วถึงตามรัฐธรรมนูญ เป็นธรรม และมีรายได้เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต หนทางเราเตรียมไว้ให้แล้ว ออกทางไหนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้

------------
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ชี้แจงเรื่องนี้ ทางเพจ ว่า


ชี้แจงข่าวกรณีการแก้ไขหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ


ตามที่มีการนำเสนอข่าวว่าการแก้ไขหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 โดยอ้างอิงการให้ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ในการเสนอแนะการแก้ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ว่าเป็นการดำเนินการที่เกินอำนาจหน้าที่หรือไม่ นั้น


สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอเรียนชี้แจงว่า กรณีนี้เป็นเรื่องที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) พิจารณาหารือข้อกฎหมายของกรมกิจการผู้สูงอายุ เนื่องจากกรมบัญชีกลางได้มีหนังสือถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพราะเป็นการซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น ซึ่งเห็นว่ามาตรา 48 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติรองรับสิทธิของผู้สูงอายุ ไว้ว่า บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปี และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ และบทบัญญัติดังกล่าวอยู่ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย จึงเป็นบทบัญญัติที่รองรับสิทธิไว้โดยแจ้งชัด สำหรับเงื่อนไขเบื้องต้นที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตราดังกล่าว มีเพียงสองประการ คือ อายุเกินหกสิบปี ประการหนึ่ง และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพอีกประการหนึ่ง  ดังนั้น นอกจากเกณฑ์เรื่องอายุแล้ว การไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ จึงเป็นหลักเกณฑ์สำคัญที่รัฐจะพึงตรากฎหมายเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือบุคคลที่มีลักษณะดังกล่าวได้ เช่น กำหนดเกณฑ์ที่จะพึงถือว่า “ไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ” เป็นต้น  


การที่มาตรา 11 (11) พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 บัญญัติว่า การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม นั้น ต้องแปลความให้สอดคล้องกับสิทธิที่ประชาชนได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ การที่ระเบียบเดิมกำหนดไว้จึงไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการกำหนดที่มาของแหล่งรายได้โดยไม่คำนึงว่ารายได้ที่ได้รับจากหน่วยงานของรัฐมีจำนวนเท่าใด บุคคลนั้นอยู่ในฐานะ “ไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ” หรือไม่ ผลของการกำหนดเช่นนี้จึงทำให้ผู้มีอายุเกินหกสิบปีทุกคนไม่ว่าจะมีฐานะร่ำรวยเพียงใดหรือมีรายได้ประจำมากมายเพียงใด ถ้าไม่เคยได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐแล้วย่อมมีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนตามระเบียบทุกคน ในขณะที่ผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐแม้เพียงจำนวนเล็กน้อยโดยไม่มีรายได้อื่นอีกเลย กลับไม่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพ ผลเช่นนี้ย่อมไม่อาจถือได้ว่ามีลักษณะ “อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม” ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในระเบียบดังกล่าวเป็นเงื่อนไขที่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายและไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) มีข้อสังเกตว่าการกำหนดกรณีไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพว่ามีรายได้จำนวนเท่าใดนั้น อาจพิจารณาจากข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น รายได้ที่ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีตามฐานข้อมูลของกรมสรรพากร หรือจำนวนรายได้ตามเส้นแบ่งความยากจนจากฐานข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือจำนวนเงินตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่คณะกรรมการค่าจ้างกำหนด  ทั้งนี้ เพื่อให้การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุสอดคล้องกับมาตรา 48 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 11 (11) และมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546


อนึ่ง สำหรับการที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอความเห็นและข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรีสามารถกระทำได้ตามมาตรา 7 (3) แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย


จึงเรียนมาเพื่อทราบทั่วกัน

นายนพดล  เภรีฤกษ์

โฆษกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

15 สิงหาคม 2566

-----------
วานนี้ (วันที่ 15 ส.ค.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ กล่าวว่า ในส่วนของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ยังไม่มีนโยบายปรับลดเงินและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และที่ผ่านมาได้เข้าไปแก้ไขปัญหาการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุซ้ำซ้อนจนได้ข้อยุติ กว่า 30,000 ราย โดยเปิดโอกาสให้รับเบี้ยซ้ำซ้อนได้ และไม่ต้องนำมาจ่ายคืน


ส่วนแนวทางปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อลดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และยังไม่มีนโยบายเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน มีแต่การศึกษาหลักการที่จะเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับค่าครองชีพและภาวะเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันในส่วนของข้อกังวลเกี่ยวกับนิยามในการเบิกจ่ายนั้น ต้องไปนิยามตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ซึ่งคาดว่าในหน่วยนโยบายยังไม่ดำเนินการเรื่องนี้


ทั้งนี้ยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคการเมืองแรกที่เริ่มต้นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และมองว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยเหลือให้ผู้สูงอายุมีรายได้ในการยังชีพ และในอนาคตหากสามารถเพิ่มเงินได้ อย่างสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและงบประมาณของแผ่นดินก็ควรที่จะดำเนินการปรับเพิ่ม นอกจากนั้นยังพร้อมสนับสนุนกิจกรรมชมรมผู้สูงอายุกว่า 40,000 กลุ่ม และมีแนวทางนำผู้สูงอายุมามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

-----------

วานนี้ (วันที่ 15 ส.ค.) เวลาประมาณ 09.00 น. ที่ศาลาประชาคม ที่ว่าการอำเภอแกลง จ.ระยอง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมแกนนำพรรคก้าวไกล เดินทางไปติดตามและให้กำลังใจผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลในการสมัครรับเลือกตั้ง การเลือกตั้งซ่อมเขต 3 จ.ระยอง โดยได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่อกรณีการแก้เกณฑ์รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ


โดยนายพิธา กล่าวว่า สำหรับกรณีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เข้าใจว่าเป็นราชกิจจานุเบกษาจากกระทรวงมหาดไทย ส่งลูกให้คณะกรรมการเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ เป็นเรื่องใหญ่และต้องสื่อสารให้ชัดเจน เพราะไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งมีแต่จะต้องเพิ่มงบประมาณ ไม่ใช่ตัดงบประมาณดูแลผู้สูงอายุ


“สิ่งที่เขาต้องการพูดว่ามีผู้สูงอายุ 11 ล้านคน ใช้งบประมาณ 9 หมื่นล้านบาท เพราะยังไม่มีความชัดเจน ตอนนี้ที่เราลงพื้นที่ระยองก็ยังมีความกังวลใจกัน ความชัดเจนเท่าที่เห็น ผมอ่านจากบีบีซีไทยว่าการกระทำครั้งนี้ของรัฐบาลรักษาการจะสามารถลดลงประมาณ 5 ล้านคน ประหยัดงบประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ผมฟังแล้วผมก็รู้สึกว่าจริงๆ แล้วเรือดำน้ำก็ 3 หมื่นกว่าล้านบาท แล้วความท้าทายในการใช้เรือดำน้ำต่อสู้แทบจะไม่มี แต่ความท้าทายของสังคมสูงวัยที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ เป็นสิ่งที่ต้องเพิ่มงบประมาณรับมือสังคมสูงวัย เทรนด์โลกเป็นแบบนั้น” นายพิธา กล่าว


“น่าเสียดายที่สภาผู้แทนราษฎรยังไม่ได้เปิดและทำงานประชุมเต็มรูปแบบ ยังไม่มีกระทู้ถาม ไม่เช่นนั้นจะให้ สส.ก้าวไกลตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีอนุพงษ์วันพฤหัสนี้ ว่าแท้จริงแล้วมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ใช้งบประมาณเท่าไร กระทบกี่คน ทำไมไม่มีงบประมาณ และจะใช้กฎเกณฑ์อะไร จะตกสำรวจหรือไม่ และทำไมสวัสดิการถ้วนหน้าไม่ต้องพิสูจน์ความจนถึงทำไม่ได้ จึงขอฝากพี่ๆ สื่อมวลชน เหมือนเราตั้งกระทู้กันสดๆ แบบนี้” พิธากล่าว


สุดท้าย หัวหน้าพรรคก้าวไกลทิ้งท้ายถึงพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีรักษาการกระทรวงมหาดไทย ว่าการเอาความรู้สึกของคนเป็นรัฐมนตรีว่ามีบำนาญเท่าไร แล้วเอาไปตัดสินแทนพี่น้องประชาชน ชาวระยอง แกลง เขาชะเมา เป็นวิธีกระบวนการคิดที่ถูกต้องหรือไม่

-------------






คุณอาจสนใจ

Related News