สังคม

‘ผู้สูงอายุ’ คาใจ ‘เบี้ยคนชรา’ ทำไมต้องพิสูจน์ความจน ทุกคนเสียภาษีก็ควรได้สิทธิ์ถ้วนหน้า

โดย JitrarutP

15 ส.ค. 2566

96 views

วันที่ 15 ส.ค. 66 รายการโหนกระแสพูดคุยกับ ป้าวิมล, ป้าหนูเกณ ตัวแทนผู้สูงอายุ, จำนงค์ หนูพันธ์ ที่ปรึกษาเครือข่าย สลัม 4 ภาค และ บุษยา ใจสว่าง รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ ถึงกรณีจะมีการปรับเกณฑ์ “เบี้ยคนชรา”

“ป้าวิมล” ตัวแทนผู้สูงอายุ เผยว่า ตนมีความกังวลใจไม่น้อย เพราะตอนนี้อายุ 59 ปี ทำอาชีพรับจ้างทั่วไป ได้เงินอาทิตย์ละ 200 บาท แต่ไม่ได้รับสิทธิ์บัตรคนจน เพราะมีรายชื่ออยู่ในบัญชีธนาคารที่ทำร่วมกับคนในชุมชน จึงถูกมองว่าเป็นผู้มีรายได้ ทั้งที่ตนยากจน

“ถ้าเขาเอาบัตรคนจนมาเป็นเกณฑ์วัดเรายิ่งหมดสิทธิ์ใหญ่เลย ที่เขาตรวจสอบบัญชี บัญชีที่เราถือไว้เป็นบัญชีร่วมในชุมชน เขาไม่ดูว่าตรวจบัญชีร่วม แต่เขาเช็กชื่อเรา เห็นว่าเรามีเงินในบัญชี แต่จริงๆ ไม่ใช่เงินเรา มันเป็นเงินกลุ่มที่เปิดบัญชีร่วมกันไว้ ไปลงบัตรคนจนสองรอบ ไม่ได้ทั้งสองรอบ”

พร้อมเผยเสียงสะท้อนทิ้งท้ายด้วยว่า “สว. สส. มีค่ากลางวัน 800 กว่าบาท คนแก่ได้ 600 บาท ใช้วันละ 20 บาท เขากินข้าวมื้อเดียว 800 บาท เราทั้งเดือน ได้ 20 ต่อวัน” ตัวแทนผู้สูงอายุ กล่าว...

ด้าน จำนงค์ หนูพันธ์ ที่ปรึกษาเครือข่าย สลัม 4 ภาค เผยในรายการโหนกระแสกรณีจะมีการปรับเกณฑ์ “เบี้ยคนชรา” ว่า ก่อนวันประกาศปรับเกณฑ์ผู้สูงอายุทุกคนได้รับ “เบี้ยคนชรา” 600 บาท อย่างเท่าเทียม แต่หลังจากวันประกาศต้องใช้หลักเกณฑ์พิสูจน์ความยากจน แล้วหน่วยงานภาครัฐจะใช้เกณฑ์อะไรชี้วัดว่าใครจนจริงๆ

บุษยา ใจสว่าง รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ เผยว่า ผู้ได้รับสิทธิ์เดิม ยังได้รับสิทธิ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนคนใหม่ตามระเบียบ ตามบทเฉพาะกาล จนกว่าคณะกรรมการผู้สูงอายุฯ จะกำหนด แต่ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนด ยังไม่อยากให้ทุกท่านกังวล

ทำให้ตัวแทนผู้สูงอายุตั้งคำถามว่า คนสูงอายุที่ได้เบี้ยก่อนประกาศ 12 ส.ค. คนพวกนี้ได้รับเท่าเทียมกัน ยุติธรรมหมดเลย แล้วคนที่มีสิทธิ์หลังวันประกาศ ความยุติธรรมเขาอยู่ตรงไหน มันเท่าเทียมกันไหม แล้วประชาชนจะไว้ใจพรรคการเมืองที่หาเสียงไว้ได้อย่างไรที่บอกว่าจะปรับเบี้ยคนชราให้ ในเมื่อนโยบายหาเสียงเป็นเทคนิคไปหมด แต่กรณีนี้ออกเป็นราชกิจจาฯ ข้าราชการต้องปฏิบัติ

ซึ่ง รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ ชี้แจงว่า “ต้องรอให้เห็นเกณฑ์ก่อน”

ทำให้นายจำนง ตอบกลับทันทีว่า “ถ้าเห็นเกณฑ์ แล้วจะแก้ยังไง เมื่อเขาผ่านเซ็นกฎระเบียบ ใช้มาตรฐานความยากจนอะไร”

ขณะที่ ป้าหนูเกณ ตัวแทนผู้สูงอายุ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนทำอาชีพค้าขาย ตื่นตี 2 ตี 3 เพื่อทำอาหารขาย ทุกอย่างต้องมีค่าใช้จ่าย ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ใช้เงินก้อนนี้ เพราะเราซื้อของก็เสียภาษีทางอ้อม ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี แล้ว ภาครัฐต้องดูแลตามหน้าที่



“ทุกคนเสียภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อม ทุกคนควรได้รับสวัสดิการนี้อย่างถ้วนหน้า ไม่ใช่ว่ามีเกณฑ์มาพิสูจน์ว่าใครยากจนจริงๆ ถึงจะได้มันจะทำให้คนอีกมากที่เขายากจนจริงๆ เข้าไม่ถึง ตกหล่น” ตัวแทนผู้สูงอายุ กล่าว...

คุณอาจสนใจ

Related News