เลือกตั้งและการเมือง

รุมซัดปรับเกณฑ์จ่ายเบี้ยคนชรา 'บิ๊กป๊อก' ชี้อย่าตื่นตูม ต้องรอหน่วยงานหลัก ย้อนถามคนอย่างผมควรได้ด้วยไหม?

โดย nattachat_c

15 ส.ค. 2566

30 views

มท.1 ให้รอคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ พม. เคาะปมเบี้ยผู้สูงอายุ ย้อนถาม “คนอย่างผม ควรได้ด้วยไหม” หลังสื่อถามดรามาพิสูจน์ความจน ตอก ‘วิโรจน์’ คุณเข้าใจผิด แซะลักไก่ทำช่วงรัฐบาลรักษาการ ยันตอนนี้ยังไม่ยุติ ตอบไม่ได้ว่าตัดไม่ตัด แต่ตนคิดว่าต้องตัด


วานนี้ (14 ส.ค. 66) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย คัดค้านกรณีที่กระทรวงมหาดไทยออก 'ระเบียบวิธีการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ' โดยกำหนดว่า 'เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด'


ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2566 ลงนามโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่รักษาการในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย


หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า การเพิ่มคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุดังกล่าวนี้ จะทำลายหลักการรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า แต่จะตอกย้ำระบบรัฐสงเคราะห์ ที่เลือกให้เฉพาะคนจน หรือคนอนาถา ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และหลักสากล


แต่เป็นระบบที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถนัด นั่นคือการเลือกปฏิบัติ และสร้างบุญคุณในฐานะการช่วยเหลือ เช่น บัตรคนจน หรือเงินอุดหนุนบุตร เป็นต้น ทั้งที่จริงมันคือสวัสดิการที่รัฐพึงจัดหาให้แก่ประชาชนผู้เสียภาษีทุกคนอยู่แล้ว


คุณหญิงสุดารัตน์ ย้ำว่า แนวคิดเช่นนี้ นอกจากจะสะท้อนปัญหาว่า รัฐบาลหาเงินไม่ได้ ใช้เงินไม่เป็น จนต้องมาตัดจำนวนผู้ได้รับลดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ไปอีกกว่า 6 ล้านคน ด้วยการเพิ่มเงื่อนไขการรับเงินแล้ว


ยังลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ ของพลเมืองไทย ถ้าอยากได้เงินเพียงเดือนละ 600-1,000 บาท ก็ต้องไปยืนยันตัวตนว่าเป็นคนจน ทั้งที่เป็นสิทธิที่ทุกคนควรได้รับการดูแลจากรัฐ


รัฐบาลต้องเลิกทำให้คนไทยกลายเป็นคนอนาถา หยุดรัฐสงเคราะห์ แต่ต้องเริ่มวางรากฐานรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า เพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นคน ด้วยการตระหนักถึงหน้าที่ของรัฐ ที่ต้องดูแลพลเมืองอย่างทั่วถึงเสมอหน้า ไม่เอางบประมาณของรัฐมาสร้างบุญคุณ หรือมาแบ่งคนจนคนรวย” 


คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พรรคไทยสร้างไทยพร้อมด้วยเครือข่ายบำนาญประชาชนกว่า 3.2 ล้านคน จะคัดค้านระเบียบกระทรวงนี้อย่างเต็มที่


และจะสนับสนุนให้เกิดบำนาญประชาชน ที่มอบเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้าเดือนละ 3,000 บาท ให้กับคนไทยตามที่ได้หาเสียงเลือกตั้งไว้อย่างสุดความสามารถ เพื่อเป็นการตอบแทนดูแลผู้สูงวัย ที่ทุ่มเททำงานให้กับประเทศชาติ และลูกหลานในสังคมมาทั้งขีวิต


และเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้แข็งแรงจากฐานราก ซึ่งตอนนี้ ร่างกฎหมายบำนาญประชาชน ถูกยื่นไปยังรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว ก่อนการเลือกตั้ง และรอบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาต่อไป

-----------
วานนี้ (14 ส.ค. 66) นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า 


ตามนี้ครับ อย่าพยายามบิดเบือนครับ ยกตัวอย่างเช่น เจ้าสัวสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ เจ้าของห้างเซ็นทรัลได้เบี้ยสูงอายุด้วยมันยุติธรรมมั้ย? หรือคุณหญิงสุดารัตน์ได้ด้วยยุติธรรมมั้ย? ช่วยตอบหน่อยครับ


โดย ในรูปที่โพสต์นั้น เป็นข้อความว่า เบี้ยสูงอายุ คนเก่าได้เหมือนเดิม เกณฑ์ใหม่คนรวยไม่ได้

-----------
วานนี้ (14 ส.ค. 66) พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงถึงกรณี 'การเปลี่ยนหลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยผู้สูงอายุ' โดยขอเท้าความว่า เรื่องเงินดูแลผู้สูงอายุ จริง ๆ แล้ว เป็นเรื่องของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่เป็นเจ้าของเรื่อง โดยมีคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เป็นผู้พิจารณาในเรื่องนี้ ตามหลักเกณฑ์


แต่งบประมาณส่วนนี้ นำมาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จ่าย จึงเกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย เป็นที่มาว่า โดยกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจ่ายได้นั้น กระทรวงมหาดไทยจะต้องออกระเบียบ เพื่อที่ให้เขาดำเนินการได้


มีนเคยมีปัญหาเมื่อ 2-3 ปี ที่ผ่านมา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จ่ายเงินตามปกติ ให้กับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ลงทะเบียนแล้ว แต่เกิดประเด็นว่า กรมบัญชีกลางท้วง คนที่มีรายได้ส่วนอื่นจากของรัฐจะรับอีกไม่ได้ ในช่วงนั้น ก็มีการแก้ไขปัญหากัน สรุปว่าที่จ่ายไปแล้วก็ไม่เรียกคืน ที่เรียกคืนไปแล้ว เราก็ไปจ่ายเงินคืนให้เหมือนเดิม


มาถึงตอนนี้จะจ่ายอย่างไรนั้น จึงอยู่ที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเป็นคนกำหนด หลังจากนั้นมหาดไทยก็จะไปออกให้สอดคล้องกับที่กำหนดมา ขณะนี้ก็จะต้องบอกไปเพราะไม่ฉะนั้นเขาจะทำตัวไม่ถูก บอกว่าให้จ่าย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องรอ เกณฑ์ต่างๆ จากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ


ส่วนที่บางคนไปเข้าใจผิดว่าตัดหรือไม่ตัดเบี้ย นั่นไม่ใช่ แต่เราบอกไปเพื่อที่จะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้จ่ายได้ ส่วนจะจ่ายได้อย่างไรนั้นต้องรอดูจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ


ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเงื่อนไขเวลา เกี่ยวที่ว่าคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติจะกำหนดออกมาเมื่อไหร่อย่างไร


ส่วนที่ตอนนี้โซเชียล มีดราม่า ถึงการพิสูจน์ความจน พลเอกอนุพงษ์ ระบุว่า มันก็มีวิธีคิดได้หลายแบบ ก่อนจะย้อนถามว่า ถ้าคนอย่างผมได้ด้วยเนี่ย คุณว่ายุติธรรมหรือไม่ ตนก็เป็นข้าราชการเกษียณแล้ว มีบำนาญ คุณคิดว่าผมควรได้ไหม ผมมีบำนาญ 60,000 กว่าบาท คุณคิดว่าผมควรได้ไหม นั่นแหละเป็นสิ่งที่เขาจะพิจารณาว่า คนแบบใดไม่ควรได้ คนแบบใดควรได้


จึงย้ำว่า เป็นเรื่องที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเป็นคนกำหนดเรื่องนี้ มหาดไทยก็ออกระเบียบให้สอดคล้องกับเขาเท่านั้นเอง อย่ามองด้านเดียวว่าไปตัดสิทธิ์ สรุปแล้วจะตัดไม่ตัดอย่างไร อยู่ที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ จะกำหนดเกณฑ์มา แต่ตนคิดว่าต้องตัดคนอย่างผมไม่ควรจะได้


ส่วนกรณีที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ออกมาแสดงความเห็นเรื่องนี้ว่า เป็นการลักไก่ทำช่วงรัฐบาลรักษาการ พลเอกอนุพงษ์ ระบุว่าตนก็บอกไปอยู่ว่า ตอนนี้ ยังไม่มี ยังไม่มีการทำอะไรเลย จนกว่าคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติกำหนดมา


เพราะฉะนั้น ที่พูดเนี่ยเข้าใจผิด ยังไม่มี ตอบได้ หรือว่าจะให้หรือไม่ให้ ผมถามใหม่ว่า ถ้าให้เลย ผมได้ด้วยนะ ตนอายุ 70 ก็ได้ 700 ด้วย มันเหมาะสมไหม คนอย่างผมจะได้ เพราะฉะนั้นขอให้ดูผลของเขา ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่ยุตติ


ส่วนระหว่างนี้ ก่อนที่จะมีระเบียบจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติออกมา ท้องถิ่นจะทำอย่างไรนั้น พลเอกอนุพงษ์ ระบุว่าก็ต้องหารือไป ถ้าไปถึงวันนั้นแล้วยังไม่มีระเบียบออกมา ต้องหารือกัน เพราะถ้าจ่ายไปแล้ว ไปเรียกคืนก็จะวุ่นอีก ถ้าบอกจ่ายหมด ผมได้ด้วยนะ ถึงวันนั้นคุณจะมาด่าอีกว่า คนอย่างผมไม่ควรจะได้

-------------
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงมหาดไทยออกระเบียบวิธีการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ฉบับใหม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากฉบับเดิม ว่า


พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้องทบทวนระเบียบดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เนื่องจากการกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีการเพิ่มคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะมีผลกระทบต่อประชาชนที่กำลังจะเข้าสู่การรับสิทธิเบี้ยยังชีพ ความหมายคือด้วยเงื่อนไขที่ได้กำหนดขึ้นใหม่ กำหนดว่า “เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด”


ต่อจากนี้ จะต้องมีการพิสูจน์ว่าเป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอหรือไม่  ซึ่งประชาชนจะไม่ได้รับสวัสดิการนี้ถ้วนหน้าเช่นเดิม ซึ่งสังคมกำลังรอคำอธิบายจากกระทรวงมหาดไทย และจะต้องพิจารณาอย่างเร่งด่วนเพื่อปรับปรุงแก้ไขไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ และให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ


นายราเมศกล่าวต่อว่า แม้เงื่อนไขนี้ จะไม่กระทบกับประชาชนที่เคยได้อยู่แล้ว เพราะมีบทเฉพาะกาลรองรับอยู่ที่เขียนไว้ว่า “ผู้สูงอายุ ที่ได้ขึ้นทะเบียนและได้รับเงินเบี้ยผู้สูงอายุอยู่ก่อนระเบียบนี้ก็ให้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไปได้” แต่ในเรื่องการกำหนดคุณสมบัติใหม่นั้นต้องทำการทบทวน


ทั้งนี้ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ริเริ่มในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ซึ่งขณะนั้นพรรคการเมืองอื่นๆ ไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องนี้ แต่พรรคประชาธิปัตย์เล็งเห็นถึงความสำคัญที่ประชาชนผู้สูงอายุจำต้องได้รับการดูแล ได้รับสิทธิสวัสดิการจากรัฐ


จนต่อมาในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้กำหนดให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แบบเบี้ยยังชีพถ้วนหน้า ยกเว้นผู้ที่ได้รับบำเน็จบำนาญ จึงเป็นนโยบายที่พรรคให้ความสำคัญมาโดยตลอด และเป็นนโยบายที่พี่น้องประชาชนที่ได้เสียภาษีให้รัฐมาตลอดชีวิตได้ประโยชน์ อย่างน้อยมีเงินจากรัฐที่ได้จัดสรรให้มาใช้จ่ายในวิถีชีวิตบางส่วน


“เราจะเห็นว่าในการเลือกตั้งรอบที่ผ่านมาก็จะมีพรรคการเมืองหลายพรรคมีการเสนอให้ในจำนวนเงินที่แข่งขันกันว่าพรรคตนให้มากกว่า แต่ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์นั้นเล็งเห็นและให้ความสำคัญต่อผู้สูงอายุมาก่อนพรรคการเมืองอื่น จนเป็นรากฐานที่สำคัญมั่นคงมาถึงปัจจุบัน สำหรับเรื่องนี้พรรคก็จะได้ติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป” นายราเมศกล่าว

-------------

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการที่กระทรวงมหาดไทย ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ว่า จะต้องมีการออกระเบียบกำหนดรายละเอียดจากนี้อีก โดยคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งผู้สูงอายุที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพอยู่ก่อนวันที่ระเบียบใช้บังคับ จะยังมีสิทธิ์รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไป ขออย่ากังวล


นอกจากนี้ ระเบียบใหม่ยังจะแก้ปัญหาเรื่องการรับเงินซ้ำซ้อนด้วย คือ จะพิจารณาเรื่องรายได้ที่พอเพียงต่อการดำรงชีพเป็นหลัก หากรับผลประโยชน์อื่นจากรัฐ เช่น เบี้ยหวัด หรือบำนาญแล้ว แต่ไม่เพียงพอ ก็สามารถรับเบี้ยผู้สูงอายุได้อีก


ยืนยันว่า การดำเนินการเรื่องนี้มีการพิจารณามาอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้แล้ว ไม่ใช่ "ลักไก่" ทำในช่วงรัฐบาลรักษาการ และไม่ใช่เพราะรัฐบาลไม่มีความสามารถในการหาเงิน หรือ " รัฐบาลถังแตก" เพราะที่ผ่านมาเศรษฐกิจดีขึ้น รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น แต่เป็นการทำเพื่อความมั่นคงทางการคลังระยะยาว ไม่ใช่ทำเพื่อรัฐบาลนี้ แต่ทำเพื่อรัฐบาลต่อ ๆ ไปด้วย แถมรัฐบาลนี้ต้องมารับหน้าเสื่อด้วยซ้ำ


ส่วนประเด็นที่มีการดราม่าว่า เป็นการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของพลเมืองไทยหรือไม่นั้น รองโฆษกรัฐบาล ยืนยันว่า ไม่ใช่ แต่เป็นเรื่องของการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณ เนื่องจากวันนี้เราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสูงสุด งบประมาณจากเคยตั้งไว้สำหรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นทุกปี จาก 5 หมื่นล้านต่อปี / ในปีงบประมาณ 2567 แตะ 9 หมื่นล้านแล้ว จึงต้องการพุ่งเป้าช่วยเหลือกลุ่มคนที่มีความจำเป็นและเดือดร้อนกว่า


ส่วนที่มีเสียงวิจารณ์ว่า ควรเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า และ การต้องพิสูจน์ความจนทำให้มีผู้ตกหล่น / นางสาวรัชดา ระบุว่า เสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าขึ้นทะเบียนยาก ซึ่งเราก็มีประสบการณ์แล้ว ยืนยันว่า ฐบาลจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างถ้วนถี่ และทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

-------------

นายไผ่ ลิกค์ พรรคพลังประชารัฐ 

เรื่องเบี้ยผู้สูงอายุ เป็นนโยบายหลักของพรรคพลังประชารัฐ พ่อแม่พี่น้องไม่ต้องกังวลนะครับ จัดตั้งรัฐบาลเมื่อไหร่ ผมจะไปตามมาให้เหมือนเดิม และ จะให้ดีกว่าเดิมตามที่หาเสียงไว้แน่นอน

-------------



รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/7t9LVPszhZs

คุณอาจสนใจ

Related News