เลือกตั้งและการเมือง

ความเห็นนักวิชาการ 'ผิดหวัง' มติสภา พูดไม่ออกเห็นข้อบังคับสภา กลายเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

โดย petchpawee_k

20 ก.ค. 2566

436 views

'พรสัน' พูดไม่ออกเห็นมติสภา สะท้อนใจข้อบังคับสภากลายเป็น กม.สูงสุด ของประเทศ ด้าน บวรศักดิ์ โพสต์ สงสารประเทศไทย ผิดหวัง ส.ส.ที่ร่วมลงมติห้ามเสนอซ้ำ ชี้ช่อง ยื่นผู้ตรวจฯ มติสภาฯขัด รธน.


จากกรณีที่รัฐสภา มีมติว่า การส่งชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ แคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล ลงชิงเก้าอี้นายกฯ อีกครั้งขัดกับข้อบังคับการประชุมข้อ 41 ไม่สามารถส่งชื่อซ้ำได้


เมื่อวานนี้ ( 19 ก.ค.) ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทวีตประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่า


“ที่มี ส.ส.บางพรรคไปอ้าง ข้อ 41 ของข้อบังคับการประชุมรัฐสภาว่ากรณีการเสนอคุณพิธาเป็นนายกฯ จะทำซ้ำได้ หากเหตุการณ์เปลี่ยนไป นี่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย


ผมว่าท่านไม่เข้าใจข้อบังคับ นะครับ กรณีที่จะบอกว่ามีเหตุเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่นั้นเป็นดุลพินิจของประธานรัฐสภาครับ ไม่ใช่สมาชิก”


“ตลกดีนะครับ บังคับใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภายังไงให้รัฐสภาทำงานไม่ได้เสียเอง”


 “รัฐธรรมนูญคือระเบิดเวลาทำลายล้างระบบการเมืองและระบบกฎหมายของไทย”

 “ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ได้กลายเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศไทยไปเสียแล้ว”

 “คนสอนกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายรัฐสภาอย่างผมคือพูดไม่ออกครับกับการลงมติของรัฐสภาวันนี้”

-----------------------------

เช่นเดียวกับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Borwornsak Uwanno” ถึงกรณีที่ประชุมรัฐสภามีมติเสียงข้างมากว่าญัตติเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ โหวตนายกรัฐมนตรีอีกรอบ เป็นญัตติที่ตกไปแล้ว ไม่สามารถเสนอชื่อซ้ำได้ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐธรรมนูญ ข้อ 41


โดยระบุว่า “เอาข้อบังคับการประชุมมาทำให้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเป็นง่อย ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญกำหนดการเลือกนายกไว้เป็นการเฉพาะแล้ว น่าสงสารประเทศไทย”


“ผิดหวังส.ส.คนที่ไปร่วมลงมติห้ามเสนอชื่อซ้ำ แม้คุณจะอยู่ฝ่ายค้านคุณก็ควรรู้ว่าเมื่อไหร่ต้องทิ้งความเป็นฝ่ายค้าน ทำสิ่งที่ถูกต้อง”


“แต่การตีความของรัฐสภาไม่เป็นที่สุด คนที่คิดว่าสิทธิของตนถูกกระทบ ไปยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้ว่ามติรัฐสภาซึ่งเป็นการกระทำทางนิติบัญญัติขัดรัฐธรรมนูญได้ตามมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ ถ้าผู้ตรวจการไม่ส่งศาล ผู้นั้นยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้”


“ผมจะรอดูคำร้องว่าการกระทำของรัฐสภาขัดรัฐธรรมนูญครับ และจะดูว่าศาลรัฐธรรมนูญว่ายังไง สอนรัฐธรรมนูญมาสามสิบกว่าปีต้องทบทวนแล้วว่าจะสอนต่อไหม ?” 

----------------------------------------------

ขณะที่ ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Chaiyan Chaiyaporn’ ระบุว่า  “เสียงข้างมากในรัฐสภามีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ !”


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/jTtcgNRnlG0


คุณอาจสนใจ

Related News