สังคม

จ่ายยาผิดเกือบสู่ขิต! สาวไปหาหมอแค่เป็นไข้ หมอวินิจฉัยผิดบอกเป็นรูมาตอยด์ ผมร่วง-ผื่นขึ้นทั่วตัว

โดย JitrarutP

12 ก.ค. 2566

473 views

รายการโหนกระแสวันนี้ พูดคุยกรณี สาวผู้เสียหายไปหาหมอที่คลินิกแห่งหนึ่ง หมอลงความเห็นว่าเป็นรูมาตอยด์ แต่กลับจ่ายยามาให้แบบไม่เขียนชื่อยา ไม่ระบุตัวยา สุดท้ายมีอาการแพ้ยารุนแรงเกือบเอาชีวิตไม่รอด



คุณปุ๊ก ผู้เสียหายเล่าว่า เมื่อช่วงเดือนเมษายน ที่ผ่านมา มีอาการไม่สบายมีไข้ มีอาการปวดตามตัว ความรู้สึกคล้ายมีอาการเกี่ยวกับกระดูก จึงไปคลินิกเกี่ยวกับกระดูก หมอวินิจฉัยว่าเป็นรูมาตอยด์ หมอได้ฉีดยาให้ 1 เข็ม ให้ยากลับมาทาน ตนก็ไม่ได้ถามว่ายาเป็นยาอะไร แต่ให้กิน 3 เวลาทุกวัน กลับมาก็ไข้ลด อาการเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ หายปวดตามตัว แต่สักพักก็กลับมาป่วยใหม่ด้วยอาการเดิม



สักพักอาการป่วยกลับมาหนักอีก ต้นเดือน พ.ค. จึงกลับไปที่คลินิกเดิม ฉีดยา และได้ยากลับมาเหมือนเดิม อาการก็หายอีก แต่รอบนี้เริ่มมีจุดแดงๆ โผล่ขึ้นตามร่างกาย ตรงข้อเท้า ตามหน้าขา มีเลือดกำเดาไหล ในช่วงเดือนที่ทานยา ตอนนั้นไม่ได้สงสัย ตุ่มคล้ายแมลงกัด จึงคิดว่าไม่ได้เป็นอะไร สักพักเริ่มมีอาการตาแดง ต่อมาก็ไข้ขึ้นสูง กินยาที่ได้มาจากคลินิก ไข้ก็ไม่ลดแล้ว จึงไป รพ.



รพ.วิเคราะห์แล้ว อาจมีอาการคล้ายไข้เลือดออก ตรวจแล้วเกล็ดเลือดต่ำ จึงไปแอดมิตที่โรงพยาบาลอีกแห่ง ที่ จ.อ่างทอง แต่ รพ.แห่งใหม่นี้ มองว่าผื่นไม่น่าใช่อาการของไข้เลือดออก จึงให้แอดมิตดูอาการ วันต่อๆ มา เริ่มมีอาการไหม้ตามตัว ปากพุพองเป็นน้ำเหลือง ผมเริ่มหลุดร่วง ทางโรงพยาบาลเริ่มวิเคราะห์ว่าเป็นอาการแพ้ยา จึงให้แม่ของคุณปุ๊ก ไปสอบถามว่ายาที่จ่ายมา เป็นยาอะไร ขอชื่อยาไปบอกหมอของโรงพยาบาล แต่ทางคลินิก บอกว่าให้เภสัชของโรงพยาบาลโทรมาถามเอง ไม่ขอให้ชื่อยากับแม่ผู้เสียหาย เภสัชบอกว่าโทรไปก็ยังโดนหมอที่คลินิกด่ามาด้วย



พ่อของผู้เสียหายบอกว่า ยังย้อนกลับไปที่คลินิกนี้อีกรอบ เพื่อไปสอบถาม ให้เขาช่วยดูว่าลูกเราแพ้ยาที่หมอจ่าย ให้หมอช่วยดูหน่อยได้ไหม แต่เขาไม่ฟังอะไรเลย ยืนยันว่ายาที่เขาจ่ายไม่ใช่สาเหตุของการแพ้ ถ้ามีปัญหาอะไรก็ไปเจอกันในศาล ไปแจ้งความได้เลย ตนก็พยายามบอกว่า ทำไมต้องให้ไปถึงโรงถึงศาล เรื่องเกิดในคลินิก จบในคลินิกไม่ได้หรือ เขาก็ไม่สนใจ ไล่ไปฟ้องอย่างเดียว



สุดท้ายมีการส่งตัวคุณปุ๊กไปรักษาเยื่อบุดวงตาที่ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และให้ถือซองยาที่ได้จากคลินิกไปตรวจพร้อมกันด้วย จนได้ชื่อยาแต่ละตัวมา ซึ่งยาที่ได้มาประกอบด้วย ยาสเตียรอยด์ ลดอาการปวดข้อ, ยาแก้ปวด ที่ไม่ใช่พาราเซตามอล, ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร เพราะยาบางตัวอาจทำให้เกิดการแสบในกระเพาะอาหารได้ และยาอีกตัว คือยาลดกรดยูริก หรือ ยารักษาเกาต์ ซึ่งคุณปุ๊กไม่ได้เป็นเกาต์



ปรากฎว่าคุณปุ๊กมีอาการแพ้ยา ก่อนหน้านี้เคยมีอาการแพ้ยาพาราเซตามอลมาก่อน ถ้ากินพาราจะมีผื่นลมพิษขึ้นตามคอ ตามรอบปาก แต่พอมากินยาจากคลินิกนี้ ซึ่งไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นยาโรคเกาต์ ก็มีอาการแพ้รุนแรงอย่างที่ปรากฏ



ขณะที่คุณหมอบอกว่า รูมาตอยด์และเกาต์ แยกจากกันอย่างชัดเจน เป็นคนละโรคกัน อาการแรกเริ่มอาจจะคล้ายกัน แต่จำเป็นต้องตรวจละเอียดให้บ่งชี้ชัดเจน อาจต้องมีการตรวจในห้องแล็บ



ส่วนตัวยาลดกรดยูริก ชื่อยาว่า Allopurinol เป็นยารักษาเกาต์ ตัวนี้มีความจำเป็นต้องตรวจเลือดผู้ป่วยก่อนว่า มีอาการแพ้ยาตัวนี้หรือไม่ เพราะมีเปอร์เซ็นต์ของคนเอเชีย ที่แพ้ยาตัวนี้อยู่ค่อนข้างสูง

ขณะที่ทนายแก้ว ให้ตวามเห็นทางข้อกฎหมายว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุข บังคับให้สลากซองยา ต้องระบุข้อมูลจำเป็น ได้แก่ ชื่อสถานพยาบาล ที่อยู่สถานพยาบาล ชื่อยา วันหมดอายุ จำนวนยา ลายมือชื่อเภสัชผู้จ่ายยา ข้อมูลจำเป็นเหล่านี้ต้องระบุ ถ้าไม่เขียนมาถือว่าผิด



ส่วนเรื่องการวินิจฉัยโรค การรักษาของแพทย์ หากพูดอย่างเป็นธรรมก็เห็นว่าแต่ละโรคไม่อาจวินิจฉัยได้จากการสอบถาม ซักถาม ต้องมีการส่งเข้าห้องแล็บ แต่ในกรณีของผู้เสียหายรายนี้ หากเกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่อของแพทย์ ก็มีความผิดตามกฎหมายเช่นเดียวกัน

คุณอาจสนใจ

Related News