สังคม

เกาะติดการสู้รบในรัฐคะเรนนี ชาวบ้านอพยพมาไทยกว่า 5 พัน หลังกองทัพเมียนมาเปิดฉากโจมตีทางอากาศ

โดย parichat_p

9 ก.ค. 2566

156 views

สถานการณ์การสู้รบในรัฐคะเรนนี หรือรัฐคะยา ระหว่างกองทัพเมียนมา กับกองทัพคะเรนนี ซึ่งสนธิกำลังกับหลายฝ่าย ในช่วงเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา มีชาวคะเรนนีอพยพมาฝั่งไทยแล้วกว่า 5 พันคน หลังกองทัพเมียนมาเปิดฉากโจมตีทางอากาศ ในขณะที่ภายในรัฐคะเรนนี มีการอพยพในหลายเมืองแล้ว และมีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศกว่า 2 แสนคนแล้ว ถือเป็นสถานการณ์การสู้รบที่ยืดเยื้อในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมาด้วย


ซากต้นไม้ที่เกิดไฟไหม้ เป็นร่องรอยจากการทิ้งระเบิดของเครื่องบินรบทหารเมียนมา ที่พอจะมองเห็นจากฝั่งตรงข้ามแม่น้ำสาละวิน เช่นเดียวกับบ้านเรือนของประชาชนที่ถูกทิ้งร้างไป ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน


หลังกองทัพเมียนมา เปิดฉากโจมตีทางอากาศในพื้นที่รัฐคะเรนนี ตอบโต้ ที่กองทัพกะเหรี่ยงแดง หรือกองทัพคะเรนนี Karani Army สนธิกำลังกับ กองกำลังดาวแดง KNLPF กองกำลังดาวขาว KNSO และกองกำลัง PDF เข้ายึดฐานทหารเมียนมา ไม่ต่ำกว่า 7 ฐาน โดยมีกองกำลังทหารแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU ร่วมสนับสนุนด้วย


ส่งผลให้มีชาวคะเรนนีอยพไปยังฝั่งไทย ที่บ้านเสาหิน อ.แม่สะเรียง และอ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน มากกว่า 5,000 แล้ว และอีกหลายหมื่นคนอพยพอยู่ภายในรัฐคะเรนนี ซึ่งอยู่ห่างจากจุดนี้ไม่ต่ำกว่า 30 กิโลเมตรเท่านั้น


หมู่บ้านนี้อยู่ในพื้นที่กองกำลังดาวขาว KNSO ที่หยุดยิงกับทหารพม่า มากว่า 30 ปี เช่นเดียวกับกองกำลังดาวแดง KNLPF การสู้รบครั้งนี้ส่งผลให้ชาวบ้านต้องอพยพ ทิ้งบ้านไปหลบภัยตามป่า แต่ทุกคนบอกยินยอมเพื่อผนึกกำลังชาวคะเรนนี ร่วมมือกับกองทัพคะเรนนี Karenni Army พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี KNPP ต่อสู้เพื่อล้มรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา ให้สำเร็จ


โบสถ์แห่งนี้เคยมีนักเรียนและครูกว่า 300 คน แต่ต้องปิดไปเกือบ 1 เดือนแล้ว เช่นเดียวกับบ้านเรือนต่างๆ เหลือเพียงผู้ชายที่คอยดูแลบ้านในบางหลัง สภาพทั้งเมืองจึงไม่ต่างจากเมืองร้าง


"ทั้งหมู่บ้านตอนนี่ชาวบ้านหนีอยู่ตามป่า เด็กที่โบสถุ์ 300 กว่าคนกระจัดกระจายหนีไปกับพ่อแม่ ผมเหลือตัวคนเดียวไม่กลัวอะไรแล้ว สงสารก็แต่คนที่ต้องทิ้งบ้านไปเพราะระเบิดมันน่ากลัว"


ชาวบ้านจากหมู่บ้านต่างๆ พากันมาหลบซ่อนตัวอยู่ตามป่า กระจายไปในหลายพื้นที่ หนีภัยการทิ้งระเบิดของเครื่องบินรบทหารเมียนมา ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 5 กรกฏาคม มีการโจมตีหมู่บ้านป่าเต็ง ส่งผลให้มีชาวบ้านบาดเจ็บกว่า 50 คน มี 9 คนบาดเจ็บสาหัสถูกส่งมายังโรงพยาบาลแม่สะเรียง และ 1 คนเสียชีวิตระหว่างทาง


ที่พักพิงที่ปลอดภัยในระหว่างหนีภัยสงคราม จึงสำคัญอย่างมากสำหรับประชาชนที่นี่ เพิงพักสร้างขึ้นชั่วคราวจากไม้ตามป่า และผ้าเต้นท์สำคัญมากในช่วงหน้าฝน หม้อชาม กาต้มน้ำ ที่พอจะหอบหิ่วมาได้ พอที่จะทำอาหารในช่วงหนีภัย สำคัญสุดคือข้าวสาร ที่ยังไม่สามารถประเมินสถานการณืได้ว่า จะต้องอยุ่แบบนี้อีกเมื่อไหร่


เช่นเดียวกับโรงพยาบาลสนาม ที่ต้องสร้างขึ้นชั่วคราว เพื่อดูแลทหารที่ได้รับบาดเจ็บ และประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการโจมตีทางอากาศของทหารเมียนมา แพทย์และพยายบาลได้รับการฝึกอย่างเร่งด่วนก่อนหน้านี้จากกองกำลังทหารแห่งชาติ KNU ที่มีพื้นที่ติดต่อได้และร่วมจับมือเป็นพันธมิตรกับกองทัพคะเรนนี KNPP กองกำลังดาวขาวและกองกำลังดาแดง เพราะเมื่ออยู่ในสถานการณ์สู้รบการส่งตัวไปรักษาที่เมืองผาซองหรือเมืองลอยก่อ หรือฝั่งไทยทำได้ยากแล้ว ท่ามกลางยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีไม่มากนัก พอจะรักษาอาการทั่วไปได้เท่านั้น


รัฐคะเรนนี หรือรัฐคะยา ตั้งอยู่บริเวณชายแดนไทย ติดกับอำเภอเมือง อำเภอขุนยวม และ อำเภอแม่สะเรียงจังหวัดแม่ฮ่องสอน ชาวคะเรนนีเป็นหนึ่งในชาติพันธุ์ที่มีการตั้งกองทัพคะเรนนี หรือ karenni Armi และพรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี Karenni National Progressive Party-KNPP ต่อสู้กับรัฐบาลพม่ามากว่า66 ปี เช่นเดียวกับรัฐกะเหรี่ยง และรัฐฉาน โดยมีชาวคะเรนนีบางส่วน แยกไปตั้งกองกำลังดาวแดง Karenni National People’s Liberation Front หรือ KNPLF และ กองกำลังดาวขาว KNSO แต่หลังการรัฐประหารในปี 2564 ทุกกลุ่มในรัฐคะเรนนี รวมถึงกองกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือ PDF ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพม่าที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาจับอาวุธร่วมมือกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ได้ร่วมมือกันเข้ายึดฐานทหารเมียนมาในรัฐคะเรนนี


ซึ่งพื้นที่ปฏิบัติการส่วนใหญ่อยู่ติดชายแดนไทย เช่นบ้านแหม่แซ ไม่ไกลจากบ้านเสาหิน ตำบลแม่คง อำเภอแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอนของไทย ทำให้ผู้พลัดถิ่นในรัฐคะเรนนีที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบมากว่า 40 ปี ต้องอพยพมาฝั่งไทย


รัฐไทยโดยศูนย์สั่งการชายแดนไทย-เมียนมา จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง เปิดพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว 4 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน รับผุ้อพยพมากที่สุดที่บ้านสาหินกว่า 3,000 คน บ้านอูนุ บ้านจอป่าคี และบ้าน รวมล่าสุดเมื่อวันที่ 9 กรกฏาคม เป็นจำนวน 5,167 คนแล้ว มีการสร้างที่พักพิง ห้องน้ำชั่วคราว การจัดยาสาธารณสุข ป้องกันไข้มาลาเรีย รับบริจาคอาหารผ่านทางสภากาชาดไทย และร่วมมือกับองค์กร MI จัดระบบฐานข้อมูลผู้หนีภัยการสู้รบ ตามหลักมนุษยธรรม

คุณอาจสนใจ

Related News