เลือกตั้งและการเมือง

เสวนา 91 ปี ประชาธิปไตย กับก้าวต่อไปหลังเลือกตั้ง 66

โดย panwilai_c

24 มิ.ย. 2566

101 views

วันนี้ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรมเชิดชูครูกฎหมาย ศาสตราจารย์ไพโรจน์ ชัยนาม ครั้งที่ 11 จากนั้นมีการเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ 91 ปีประชาธิปไตยกับก้าวต่อไปหลังการเลือกตั้ง 2566 กฎกติกาทางรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมสำหรับการเมืองไทย



โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี / นายโภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ พรรคไทยสร้างไทย / นายเจษฎ์ โทณวณิก นักวิชาการทางกฎหมาย / นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า



นายโภคิน กล่าวช่วงหนึ่งว่า ยอมรับว่าการแก้รัฐธรรมนูญมีปัญหา ถ้าจะแก้ใหม่ให้ เว้นหมวด 1 หมวด 2 และให้มีการนำร่างที่ถูกตีตกขึ้นมาทำใหม่ โดยสิ่งที่ต้องตอบโจทย์คือจะวางกติกาอย่างไรให้ยึดอำนาจไม่ได้ รัฐธรรมนูญทุกฉบับไม่ว่าชั่วคราวหรือถาวรสิ่งที่ไม่เคยแตะเลยคืออำนาจเป็นของประชาชน ต่อไปนี้การยึดอำนาจให้ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายล้มล้างรัฐธรรมนูญ และให้ถือเป็นประเพณีที่สำคัญที่สุดของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หากยึดอำนาจก็จะติดคุกถูกดำเนินคดี และศาลต้องให้สัตย์ปฏิญาณว่ามีหน้าที่ปกป้องรัฐธรรมนูญ



ด้านนายอภิสิทธิ์ กล่าวยืนยันว่า รัฐธรรมนูญ 60 ไม่ใช่กติกาที่จะแก้ปัญหาประเทศได้ ซึ่งนายเจษฎ์ ที่เป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นตามที่นักวิชาการออกแบบ



นายอภิสิทธ์ ยังระบุว่าปัญหารัฐธรรมนูญปี 60 คือไม่ได้ตั้งโจทย์ประเทศ แต่ตั้งโจทย์ให้ผู้มีอำนาจสืบทอดอำนาจ ตั้งแต่การทำประชามติไม่เสรี ผู้ร่างกระโดดมาเล่นเอง จากการแต่งตั้ง ส.ว. และไม่ได้มองตัวบุคคลแต่เชื่อว่าตั้งแต่มีองค์กรอิสระ หลังปี 2540 เป็นต้นมาความเชื่อถือในยุคนี้ต่ำที่สุด และแทบมองไม่เห็นว่าจะฟื้นกลับมาได้อย่างไร



ขณะที่นายปิยบุตร กล่าวว่ารัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสัมพันธภาพทางอำนาจ เมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจก็จะเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อการสืบทอดอำนาจ รัฐธรรมนูญ 60 เป็นหนึ่งในนั้น มองว่าทำให้รัฐประหาร 57 เข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญทั้งหมด ทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ การให้อำนาจ ส.ว. ที่มาองค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ



นายปิยบุตร ยังบอกด้วยว่า เคยบอกสมาชิกตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่ จนถึงพรรคก้าวไกลตลอด ว่าเวลาเขียน รัฐธรรมนูญอย่าคิดถึงหน้าคน และอย่าคิดว่าตนจะเป็นฝ่ายชนะตลอด แต่ต้องเขียนให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันได้ ช่วยกันสร้างกติกาพื้นฐาน ว่ารัฐบาลมาจากประชาชน และมีการตรวจสอบที่มีเสถียรภาพ รวมถึงองค์กรตรวจสอบ ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องปรับเรื่องนี้ด้วย

คุณอาจสนใจ

Related News