เลือกตั้งและการเมือง

เลขา กพฐ.ให้ 'หยก' เรียนต่อ แต่ต้องปฏิบัติตามกฎโรงเรียน - 'สมชัย' แนะ รร.เปิดประตูไว้ เด็กอยากมาเรียนตอนไหนก็เดินเข้าได้-ไม่ต้องปีนรั้ว

โดย weerawit_c

17 มิ.ย. 2566

3.5K views

กรณี น.ส.ธนลภย์ หรือ หยก เยาวชนนักเคลื่อนไหวทางการเมือง อายุ 15 ปี โพสต์ข้อความว่า ถูกไล่ออกจากโรงเรียน ต่อมา คณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ออกแถลงการณ์ ชี้แจงสาเหตุทำไมหยกไม่มีสถานะเป็นนักเรียนนั้น


ความคืบหน้า เมื่อเวลา 07.40 น. วันที่ 16 มิ.ย. 2566 หยก ที่แต่งกายด้วยชุดไปรเวต พยายามเข้าไปในโรงเรียนเพื่อไปเรียนหนังสือ เมื่อไปถึงหน้าโรงเรียนพบว่ารั้วโรงเรียนยังปิดเช่นเดิม จึงพยายามปีนรั้วเข้าไปภายใน แต่อาจารย์ขู่จะแจ้งความข้อหาบุกรุกและขวางประตูไว้ หยกจึงตัดสินใจกระโดดเข้าทางหน้าต่าง


ด้านเพจ ไข่แมวชีส รายงานว่า เวลา 07.40 น. หยก ถึงโรงเรียน ยามโรงเรียนและอาจารย์ได้ล็อกประตูรั้วปิด ก่อนที่หยกจะเดินเข้าประตูด้านข้างที่เปิดไว้ อาจารย์ขู่จะแจ้งความบุกรุก และขวางประตูไว้ หยกจึงตัดสินใจกระโดดเข้าทางหน้าต่าง


ต่อมาเวลา 08.00 น. มีตำรวจในและนอกเครื่องแบบเข้าไปในโรงเรียน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ท้ายที่สุด หยก สามารถหาทางเข้าโรงเรียนได้สำเร็จ


ขณะที่เพจ ทะลุวัง โพสต์คลิปช่วงจังหวะที่หยกปีนเข้าหน้าต่าง ในช่วงที่บุ้ง ผู้ปกครองของหยก พยายามเจรจากับชายคนหนึ่งอยู่ พร้อมระบุข้อความว่า “วันนี้เจ้าหยกไม่ได้ปีนรั้วโรงเรียน แต่ ”ปีนหน้าต่าง” เข้าแทน ขอให้วันนี้เจ้าหยกได้เรียนหนังสืออย่างสงบสุขนะ #saveหยก”


ขณะที่ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยัง “บุ้ง” เนติพร ที่บอกว่าตัวเองเป็นผู้ปกครองของ หยก ว่า เหตุชุลมุนช่วงเช้า เกิดขึ้นเพราะโรงเรียนไม่ยอมให้หยกเข้าเรียน เพราะเป็นบุคคลภายนอก อาจเข้าข่ายบุกรุก แต่หยกอาศัยจังหวะอยู่ในห้องประชาสัมพันธ์ ปีนหน้าต่างเข้าไป


เมื่อเข้าไปในโรงเรียนแล้ว หยก ไปนั่งรอเพื่อจะเข้าเรียน แต่ว่าช่วงเช้ามีการซ้อมกีฬาสี เลยยังไม่มีคาบเรียน ระหว่างนั่งรอ หยก อ้างว่ามี รอง ผอ.มาแจ้งว่า ให้ออกมาคุยกันก่อน แถวๆประตูรั้ว แต่พอหยกไปถึงกลับไม่พบ รอง ผอ. หยกเลย งง ว่าเกิดไรขึ้น จึงตัดสินใจไม่คุย แล้วกลับไปนั่งรอเพื่อเรียนในคาบบ่าย


และตลอดการเข้าเรียน หยกบอกว่า มีตัวแทนสมาคมผู้ปกครองมาดู แต่ไม่มีการกดดันให้เธอออกจากห้อง และตอนนี้ (15.30 น.) น้องยังเรียนอยู่ตามปกติ


ทั้งนี้ โลกออนไลน์เกิดแฮชแท็ก #saveเตรียมพัฒน์ บนทวิตเตอร์ หลังเกิดแฮชแท็ก #saveหยก ก่อนหน้านี้ โดยมีผู้แสดงความคิดเห็นจำนวนมาก อาทิ “การพูดคุยกันจะทำให้ปัญหาคลี่คลายลง ความขัดแย้งจะทุเลาลง ถ้าเกิดการพูดคุยและรับฟังซึ่งกันและกันของทั้ง 2 ฝ่าย” #saveเตรียมพัฒน์, “ร.ร.ทุกโรงเรียนมีกฎระเบียบแจ้งไว้อย่างชัดเจน ถ้ามันไม่ตอบโจทย์ที่น้องต้องการ ก็แค่หา ร.ร.ที่มันเข้ากับน้องได้ ไม่ใช่มาทำอะไรแบบนี้ เรียกร้องได้นะ สิทธิที่ตัวเองควรได้รับ แต่อยู่ในพื้นฐานของความเป็นจริงด้วย อยากเรียกร้อง อยากเอาชนะ คิดอีกทีสิ #saveเตรียมพัฒน์”


“น้องมีสิทธิ โรงเรียนก็มีสิทธิ น้องมีสิทธิที่จะไม่ยอมรับกฎของโรงเรียน โรงเรียนก็มีสิทธิที่จะไม่ต้อนรับน้อง เช่นนี้จึงเป็นความเท่าเทียม และเสมอภาคครับ


ถ้าน้องจะใช้อำนาจ "บังคับ" ให้โรงเรียนต้อง "สยบยอม" น้องก็เป็นเผด็จการ ถ้าน้องมีเสรีภาพเพียงผู้เดียว คนอื่นไม่มีเสรีภาพ น้องก็เป็นอภิสิทธิชน และถ้าน้องให้อำนาจกดดันจนโรงเรียนต้องยอมน้อง นั่นก็คือสังคมกดทับ


กล่าวโดยสรุปก็คือ น้องกำลังกลายเป็นอภิสิทธิชนผู้อยู่เหนือกฎ เป็นเผด็จการที่ใช้อำนาจกดดันขู่บังคับผู้อื่นให้สยบยอมเป็นสิ่งที่น้องกำลังต่อสู้และชิงชังไปเสียเอง


นี่แหละครับ เขาถึงมีคำพูดว่า "การต่อสู้กับเผด็จการ มันยากตรงที่ ทำอย่างไร เราถึงจะไม่กลายเป็นเผด็จการไปเสียเอง" อย่างไรหละครับ”


#saveหยก #saveเตรียมพัฒน์ ทำไมโรงเรียนกวดวิชา เรียนพิเศษ ครูก็สอนวิชาอย่างเดียวไม่เห็นต้องยุ่งเรื่องเสื้อผ้าหรือผมบนหัวด้วย  ได้ความรู้หรือเปล่า ก็ได้เหมือนกัน หรือโรงเรียนในระบบมันมีหน้าที่ในการสอนให้เด็กอยู่ใต้การปกครองแบบเผด็จการด้วย? ต้องตรวจผม เครื่องแบบ เหมือนกับทหารตำรวจ



ขณะที่ด้าน นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือกพฐ. กล่าวว่า ถึงวันนี้ ถ้าน้องหยก เยาวชนนักเคลื่อนไหว ยังต้องการเข้าเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ก็ยังมีที่ว่างให้กลับเข้าเรียนได้ แต่ต้องปฏิบัติตามระเบียบของโรงเรียน ที่ผ่านมาทำประชาพิจารณ์สอบถามความคิดเห็นจาก 3 ส่วน คือ ครู นักเรียน และผู้ปกครอง ออกมาเป็นกฎระเบียบที่ใช้ร่วมกันในโรงเรียนให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข


แต่ถ้าน้องหยก ไม่ต้องการทำตามกฏกติกา ก็สามารถมีทางเลือกเรียนได้ ทั้ง การศึกษานอกระบบ และเรียนด้วยตนเองที่บ้าน หรือ Home School


ทั้งนี้ก่อนหน้า ทางโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการได้ ชี้แจงสถานะน้องหยกว่า ไม่ได้เป็นนักเรียน ม.4 ของโรงเรียนแล้ว เพราะไม่ได้มอบตัวพร้อมกับผู้ปกครอง ให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาที่โรงเรียนยืดหยุ่นให้ อีกทั้งไม่ปฏิบัติตามกฎของโรงเรียน ทั้งเรื่องแต่งกายและการทำสีผม


นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กกรณีนี้ ว่าหากเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน จะแก้ปัญหาแบบมีเมตตาธรรม ด้วยการเปิดประตูไว้ทั้งวัน อยากมาเรียนตอนไหนก็เดินเข้าได้ ไม่ต้องปีนรั้ว พอไม่ปีนรั้วก็ไม่เป็นข่าว นักข่าวก็คงไม่อยากมาทำข่าวเด็กเดินเข้าโรงเรียนทุกวัน


“โรงเรียนก็จัดโต๊ะเก้าอี้ให้นั่งเรียน ให้เด็กได้เรียนวิชาการ ดีกว่าไปอยู่นอกห้องเรียน จัดการเรียน การสอน การวัดผลเป็นปกติ และแจ้งให้เด็กทราบเรื่องความจำเป็นต้องมีผู้ปกครองที่ได้รับมอบอำนาจมาลงทะเบียนให้ถูกต้อง เพื่อให้ได้ใบรับรองผลการศึกษาเพื่อไปเรียนต่อหรือประกอบอาชีพ ถ้าหากให้เรียนแล้ว เด็กขาดเรียน วัดผลแล้วสอบตกก็ให้เป็นไปตามระบบ หรือเรียนครบปียังไม่มีผู้ปกครองมาลงทะเบียน ก็ออกใบรับรองให้ไม่ได้ ดังนั้น คนเป็นผู้ปกครองปัจจุบันให้ไปหาทางทางกฎหมายให้เป็นผู้ปกครองโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย” นายสมชัยกล่าว


ด้าน นายปารมี ไวจงเจริญ หรือ ครูจวง ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ อันดับที่ 29 ของพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุคระบุถึงกรณี “หยก” เยาวชนอายุ 15 ปี ที่มีปัญหาไม่ได้รับสถานะนักเรียนของโรงเรียน โดยระบุว่า


"ดิฉันติดตามกรณีคุณหยกด้วยความกังวลใจ โดยดิฉันเห็นว่าจากคำพูดและข้อคิดเห็นของหลายฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ปัจจุบันมีการอ้างถึง 2 สาเหตุที่นำไปสู่การที่คุณหยกไม่ได้เข้าเรียนและการมีสถานะเป็นนักเรียน ซึ่งล้วนสะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบการศึกษาไทยที่เราต้องร่วมกันหาทางออก


สาเหตุที่ 1 ที่มีการอ้างถึง คือกระบวนการมอบตัวเป็นนักเรียนที่ไม่สมบูรณ์


ประเด็นการมอบตัวที่จะนำไปสู่สถานะการเป็นนักเรียนของคุณหยกนั้น ดิฉันเห็นว่าหลักการสำคัญที่สุดที่ต้องพิจารณา คือ ‘สิทธิในการเข้าถึงการศึกษาของนักเรียน’ ซึ่งสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (https://www.unicef.org/thailand/th/reports/convention-on-the-right-of-the-child)


ทั้งนี้ แม้ว่าโรงเรียนได้พูดถึงความพยายามในการให้ความยืดหยุ่นเพื่อให้คุณหยกสามารถเข้าสู่กระบวนการมอบตัวสู่สถานศึกษาแล้วตามกรอบของระเบียบปัจจุบัน แต่การที่ผู้ปกครองตามกฎหมายนั้นไม่สะดวกเข้ามารับรองตามกระบวนการดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในหลายกรณี


ดังนั้น การร่วมกันทบทวนระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อลดขั้นตอน ลดเอกสารที่ต้องใช้ เข้าใจความจำเป็นพิเศษของนักเรียน นำไปสู่กระบวนการเพิ่มความยืดหยุ่นเกี่ยวกับรูปแบบการรายงานตัวของนักเรียน จะทำให้ผู้ปกครองมีความสะดวกยิ่งขึ้นในกระบวนการดังกล่าว ในขณะเดียวกันหากผู้ปกครองไม่พร้อมในการดำเนินการดังกล่าว ก็ควรมีระบบช่วยเหลือนักเรียนให้เข้าศึกษาต่อได้ เพื่อเป็นไปตามหลักการที่รัฐต้องคุ้มครองสิทธิที่จะได้รับการพัฒนาของเด็กเพื่อให้เด็กเข้าถึงการศึกษาได้


สาเหตุที่ 2 ที่มีการอ้างถึง คือการไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบโรงเรียน


โรงเรียนควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียนทุกคน ซึ่งรวมไปถึงการมีกฎระเบียบที่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียน โอบรับความหลากหลายของนักเรียน และสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียนทุกคน


แม้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ที่สังคมคาดหวังให้นักเรียนทุกคนปฏิบัติตามกฎระเบียบโรงเรียน (แต่ถึงอย่างไร การปฏิบัติต่อนักเรียนที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบโรงเรียนควรต้องเป็นไปตามสัดส่วนของกฎระเบียบนั้น และไม่นำไปสู่การปิดกั้นนักเรียนในการเข้ารับการศึกษา) แต่ต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่ง เกิดจากการที่กฎระเบียบโรงเรียนในภาพรวม ยังไม่ได้ถูกพูดคุยหรือทบทวนอย่างจริงจัง


หลังจากที่นักเรียนหลายกลุ่มได้ออกมาตั้งคำถามอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมาถึงกฎระเบียบที่พวกเขามองว่าขัดหลักสิทธินักเรียนและสิทธิมนุษยชน ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการมีบทบาทเชิงรุกในการออกข้อกำหนดเพื่อห้ามไม่ให้โรงเรียนใดยังคงมีช่องในการออกกฎที่ขัดหลักสิทธินักเรียน นำไปสู่การร่วมกันทบทวนกฎระเบียบระดับโรงเรียนทั้งหมด จะทำให้การคุ้มครองสิทธินักเรียนและการให้นักเรียนปฏิบัติตามกฎระเบียบเป็นสิ่งที่ไม่ขัดแย้งกัน


ดิฉันเห็นความพยายามของหลาย ๆ โรงเรียนที่ต้องการสร้างพื้นที่ทดลองทั้งเรื่องการแต่งกาย และทรงผมของนักเรียนให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น สร้างพื้นที่พูดคุยด้วยเหตุผล รับฟังความเห็นของนักเรียนด้วยความใส่ใจ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่นำไปสู่พื้นที่การเคารพกัน นี่คือวิธีที่สร้างสรรค์ และเป็นระบบการศึกษาที่ดิฉันต้องการเห็น


อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงชุดความคิด (mindset) เกี่ยวกับสิทธิเด็ก ตั้งแต่ระดับกระทรวงสู่ระดับโรงเรียน ตลอดจนถึงผู้ปกครอง ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นมาก ๆ เพราะดิฉันเองก็เข้าใจและให้ความสำคัญกับ ครู โรงเรียน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ถูกกดทับจากวัฒนธรรมอำนาจนิยม ทั้งระดับผู้ปกครอง ระดับโรงเรียน และระดับกระทรวง เช่นกัน


สรุป - ดิฉันเห็นว่าการที่โรงเรียนยืนกรานว่าไม่มีการปฏิเสธนักเรียน และพยายามที่จะทำให้กระบวนการมอบตัวนั้นเกิดขึ้นได้ก่อนหน้านี้ เป็นเรื่องที่เหมาะสม แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน ดิฉันขอเสนอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 2 ต้นสังกัดของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ และคุณหยกกับผู้แทนผู้ปกครองได้หารือร่วมกันเพื่อรักษาสิทธิของผู้เรียนในการเข้าเรียนตามหลักการและกระบวนการที่ควรจะเป็น


จงอย่าลืมว่า เพราะมี ‘เด็ก’ ระบบการศึกษาจึงมีความหมาย ระบบการศึกษาจึงไม่ควรละเมิด และทำลายเด็ก การเปลี่ยนแปลงที่ยกระดับการศึกษาให้ดีขึ้นเป็นเรื่องที่ควรส่งเสริมให้เกิดขึ้นอย่างยิ่งนะคะ"


ด้าน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โพสต์ภาพลูกสาว พร้อมระบุข้อความว่า “มีความสุขทุกครั้งที่เห็นลูกใส่ชุดนี้ อยากให้หนูเป็นเด็กดี มีความรู้เเละสามารถอยู่ร่วมกับทุกคนในสังคมได้อย่างมีความสุข ปล. ปีนรั้วเข้าโรงเรียนผมไม่ห่วงครับ ผมห่วงเด็กปีนรั้วออกครับ”


ด้าน 'คุณปลื้ม' ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล สะท้อนปม 'หยก' บอกผู้ใหญ่ฝ่ายประชาธิปไตยที่คอยให้ท้ายเด็ก ต้องไม่ให้ท้ายเด็ก ต้องหัดอบรมเด็กบ้าง แล้วเด็กรุ่นต่อไปเติบโตขึ้นมาจะได้รู้สึกภาคภูมิใจ ชี้การเคารพผู้อื่นเป็นสิ่งที่ต้องมี สิทธิเสรีภาพต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย



รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/bYINaWVOkVQ

คุณอาจสนใจ

Related News