เลือกตั้งและการเมือง

'วิโรจน์' ปรี๊ดแตก หนังสือเรียนป. 5 สอนเด็กรับสภาพอัตคัด พอใจกินไข่ต้มครึ่งซีกคลุกน้ำปลา ซัดผิดหลักโภชนาการ

โดย nut_p

21 เม.ย. 2566

2.3K views

'วิโรจน์' ปรี๊ดแตก รับไม่ได้หนังสือเรียนชั้น ป.5 สอนเด็กยอมรับสภาพกินไข่ต้มครึ่งซีก ข้าวคลุกน้ำปลา-เศษผัดผัก ซัด ผิดหลักโภชนาการ คนเขียนแบบเรียนโดนถอนหงอก ประณามให้หนัก จี้ ภาครัฐรับผิดชอบ-ขอโทษสังคม



วันที่ 21 เมษายน 2566 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ภาพพร้อมข้อความบนเพจเฟซบุ๊กของตนเองถึงแบบเรียนของเด็กวิชาภาษาไทย ว่า



เราควรปล่อยให้เด็กไทยยอมรับสภาพ การกินข้าวเปล่าคลุกน้ำปลา จริง ๆ หรือ?



มีคนส่งเนื้อหาในหนังสือเล่มหนึ่งมาให้ผมอ่าน ผมอ่านแล้วผมรู้สึกไม่เห็นด้วยอย่างมาก เพราะลำพังการปล่อยให้เด็กกินข้าวกับผัดผักบุ้งและไข่ต้มหนึ่งซีก โภชนาการเพียงเท่านี้ ก็ไม่เพียงพอต่อการเสริมสร้างพัฒนาการให้กับเด็ก ๆ อยู่แล้ว



แต่หนังสือเล่มนี้ ยังคงมีเนื้อหา สอนให้เด็กยอมจำนนต่อโชคชะตายอมรับสภาพกับการกินเข้าเปล่าราดน้ำปลา หรือข้าวเปล่าคลุกกับน้ำผัดผักบุ้ง



เข้าใจหรือยังครับว่าทำไมหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยแล้ว ผลการประเมินประสิทธิภาพในการเรียนรู้ในระดับสากลของเด็กไทย ไม่ว่าจะเป็น PISA หรือ TIMSS จึงมีแนวโน้มลดต่ำลงเรื่อย ๆ



ประเทศไทยควรลดงบประมาณในการจัดซื้ออาวุธที่ไม่จำเป็น และแพงเกินจริง นำมาจัดสรรเป็นสวัสดิการให้กับเด็ก ๆ พร้อมกับปรับปรุงโรงเรียน ทั้งหลักสูตรที่ยืดหยุ่นคืนเวลาให้กับครูและนักเรียน ลดการสอบ ลดการบ้าน ปลดภาระงานธุรการเพื่อคืนครูสู่ห้องเรียน เพิ่มงบประมาณอาหารกลางวัน มีสวัสดิการรถโรงเรียน มีการปรับปรุงความปลอดภัยภายในโรงเรียน มีอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ครบครัน ยกเลิดอำนาจนิยมภายในโรงเรียน ฯลฯ



งบประมาณของกระทรวงกลาโหมที่เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ จากปี 2547 ที่ 78,000 ล้านบาท จนปัจจุบันแตะระดับ 2 แสนล้านบาทต่อปี ประชาชนตอบไม่ได้เลยว่า ประชาชนได้รับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างไร เด็ก ๆ ที่เป็นอนาคตของชาติ ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากรัฐบาลเพิ่มขึ้นในแง่ไหนบ้าง



ประชาชนต้องการ "อาชีพ" ต้องการ "อาหาร" เลิกผลาญซื้อ "อาวุธ" ได้แล้วครับ






ทีมข่าวการเมืองสอบถามนายวิโรจน์ถึงรายละเอียด โดยนายวิโรจน์ กล่าวด้วยน้ำเสียงดุดันและมีอารมณ์ว่า เรื่องนี้ได้มีผู้ปกครองของนักเรียนส่งเนื้อหาที่ลูก ๆ กำลังเรียนมาให้ตนดู เป็นแบบเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 บทที่ 9 ชื่อหนังสือว่า “ชีวิตมีค่า ภาษาพาที” เมื่อตนได้อ่านแล้วรู้สึกตกใจมาก เพราะความแย่ในแบบเรียน มีการสอนให้เด็กยอมรับสภาพการกินข้าวกับไข่ต้มและผัดผักบุ้ง ซึ่งหากดูคุณค่าทางโภชนาการแล้ว เด็กกินไม่เพียงพออยู่แล้ว



“แทนที่เนื้อหาจะสะท้อนถึงงบประมาณภาครัฐ ที่ต้องจัดการดูแลเรื่องโภชนาการสำหรับเด็ก หรือเพิ่มงบกระทรวงสาธารณสุขในการดูแลอาหารกลางวันให้เป็นอาหารที่มีคุณภาพ ปรากฏว่าตัวละครในแบบเรียนเอาน้ำปลามาเหยาะใส่ข้าว แล้วบอกว่าอร่อย เอ๊า แล้วในเนื้อหาก็พูดต่ออีกว่า เศษน้ำผัดผักบุ้งก็อร่อยแล้ว พอเพียงแล้ว แสดงให้เห็นว่าประเทศนี้ไม่เคยมีสำนึกความรับผิดชอบต่อพัฒนาการและโภชนาการของเด็กที่เกิดมาในประเทศนี้เลย”



นายวิโรจน์ ย้ำว่า แบบเรียนเล่มนี้พยายามสอนและหลอนให้เด็กยอมจำนนกับสภาพความอดอยาก ความอัตคัด และเป็นการละเลยหน้าที่ของความเป็นรัฐ ที่ต้องดูแลเด็กที่เกิดมาในประเทศนี้ ซึ่งคนที่เห็นและวิพากษ์วิจารณ์หนังสือเล่มนี้ครั้งแรกก็เป็นกลุ่มเด็กนักเรียน



“เด็กนักเรียนในยุคนี้เขามีวิจารณญาณ เขารู้ว่าหนังสืออะไรที่เขียนแบบมีเหตุผล หนังสืออะไรที่เขียนแบบไร้สาระ พวกที่เขียนหนังสือเล่มนี้ จะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ และประณามอย่างหนัก ถ้าพูดง่าย ๆ คือถูกเด็กถอนหงอก ถูกพ่อแม่ผู้ปกครองประณามเลยนะว่า ยังมีความเป็นครูหรือนักการศึกษาอยู่หรือเปล่า” นายวิโรจน์กล่าว



นายวิโรจน์ ระบุว่า สาเหตุนี้จึงเป็นเหตุผลที่การทดสอบประสิทธิภาพการเรียนรู้ระดับสากลของประเทศไทย อยู่ในระดับที่ต่ำมาโดยตลอด ซึ่งไม่ได้เกิดจากตัวเด็ก แต่เป็นเพราะภาครัฐ ตนตั้งคำถามว่า แม้กระทั่งปรับหลักสูตรให้ดีมาก แต่ให้อดข้าว จะสามารถเรียนรู้เรื่องหรือไม่ พรรคก้าวไกลจึงนำเสนอระดับคุณภาพที่โรงเรียนพึงมี ทั้งความปลอดภัย อาหาร รถโรงเรียน ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของการเรียนรู้ของเด็กที่รัฐบาลชุดนี้ละเลยมาโดยตลอด

คุณอาจสนใจ

Related News