เลือกตั้งและการเมือง

ดุเดือด! เวทีประชันวิสัยทัศน์ เลือกตั้ง 66 เปลี่ยนใหม่หรือไปต่อ ตอน ขุนพลมหานคร

โดย panisa_p

12 เม.ย. 2566

382 views

เมื่อคืนที่ผ่านมาช่อง 3 เปิดเวทีประชันวิสัยทัศน์ เลือกตั้ง 66 เปลี่ยนใหม่ หรือ ไปต่อ ตอน ขุนพลมหานคร ดำเนินรายการโดย ปรินดา คุ้มธรรมพินิจ ที่มีตัวแทนจาก 6 พรรคการเมือง ได้แก่ นาย สกลธี ภัททิยกุล หัวหน้าทีม กทม. พรรคพลังประชารัฐ

นาย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล , นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ หัวหน้าทีม กทม. พรรคภูมิใจไทย , นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย , นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. และ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ลงชิงชัยในสนามการเลือกตั้ง กรุงเทพมหานคร ที่มี ส.ส.มากถึง 33 เก้าอี้



โดยประเด็นที่ถูกถามถึงคือปัญหา PM 2.5 ที่ชาว กทม.ได้รับผลกระทบ ซึ่งตัวแทนแต่ละพรรคก็เสนอแนวคิดที่หลากหลาย อย่าง นายเอกนัฏ ก็ระบุถึงการสนับสนุนให้ใช้รถไฟฟ้า EV พร้อมหนุนให้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่รัฐบาลยุคพลเอกประยุทธ์ ผลักดันให้รถไฟฟ้าขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 11 สาย , นายสุชัชวีร์ ยกตัวอย่าง กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ที่ใช้เวลากว่า 8 ปีในการแก้ปัญหาได้ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์จะผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด



นายวิโรจน์ เน้นย้ำเรื่องการลดการเผาข้าวโพดในพื้นที่ภาคเหนือ และออกบทลงโทษที่ชัดเจนแก่นายทุน นายสกลธี สนับสนันเพิ่มรถไฟฟ้าที่มีนับ 10 สายซึ่งถูกพัฒนาในรัฐบาลชุดนี้ และนายพุทธิพงษ์ ยกนโยบายภูมิใจไทย ที่ทำแล้วคือ รถเมล์ไฟฟ้า ที่แก้ตรงจุดเพราะปัญหา PM2.5 ในกทม. มาจากเครื่องรถยนต์สันดาปดีเซล



ส่วนเรื่องกัญชา ทุกพรรคก็เห็นตรงกันว่า เป็นเรื่องของสูญญากาศทางกฎหมาย และไม่เห็นด้วยกับคำว่า กัญชาเสรี ที่ไม่มีขอบเขต แต่ต้องกลับไปดำเนินการทางสภาให้ถูกต้อง



ส่วนประเด็นที่ร้อนแรงในการประชันวิสัยทัศน์ครั้งนี้ คือ จุดยืนทางการเมือง  ที่ดำเนินรายการต่อในช่องทางออนไลน์ที่ 3PlusNews โดยเฉพาะเรื่อง พรรคที่ได้อันดับที่ 1 ได้จัดตั้งรัฐบาลก่อนหรือไม่ ซึ่ง ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย และ ก้าวไกล ยืนยันว่าควรเป็นเช่นนั้นตามหลักมารยาททางการเมือง พร้อมชี้ว่าถ้ามีรัฐบาลเสียงข้างน้อยเกิดขึ้น หรือ มีเสียง ส.ว.มาร่วมโหวตให้กับเสียงข้างน้อย วันแรกที่เปิดประชุมก็จะโหวตไม่ไว้วางใจทันที และจะมีนายกรัฐมนตรีที่สั้นที่สุดในประวัติศาสตร์



ขณะที่นายพุทธิพงษ์ ย้ำว่า พรรคที่ได้คะแนนอันดับที่ 1 มีสิทธิ รวมเสียงก่อนก็จริง แต่ถ้าพรรคที่ได้คะแนนเสียงรองลงมา สามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้ ก็เป็นสิทธิของเค้า จากนั้นตัวแทนแต่ละพรรคก็ตอบโต้ในประเด็น ส.ว.ที่ไม่ควรมาโหวต หรือมากดดัน



นายสกลธี โต้ว่า คนที่ลงเลือกตั้ง ตั้งแต่ปี 62 รู้อยู่แล้วว่า ส.ว.มีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ จากคำถามพ่วงในการทำประชามติ ทำให้เกิดการโต้ตอบกัน ของนายวิโรจน์ และ นายจิรายุ ว่า ช่วงที่ลงประชามติ มีการจับกุม หรือ ข่มขู่ คนที่ออกมารณรงค์ไม่ให้โหวตรับ แต่นายสกลธี และ นายพุทธิพงษ์ ก็ยืนยันว่า ทุกคนสามารถไปลงคะแนนเสียงในคูหา โดยไม่มีใครมาบังคับ หรือ เอาปืนจ่อหัว ก็ทำให้เกิดการโต้เถียงในประเด็นนี้แบบเผ็ดร้อน



ก่อนที่สุดท้ายนายสุชัชวีร์ จะบอกว่า อยากให้ทุกพรรคการเมืองเข้าสภา มาจับมือกันแก้รัฐธรรมนูญ ไม่อยากให้ทะเลาะกันเรื่องอดีต ส่วนรวมเสียงส.ส.เพื่อเป็นรัฐบาลนั้น พรรคอันดับ 1 มีสิทธิก่อน แต่ถ้าทำไม่ได้ ก็เป็นสิทธิของพรรคที่รองๆ ลงมา


https://youtu.be/iRdC6pajX0I

คุณอาจสนใจ

Related News