สังคม

'พีระพันธ์' หารือแก้ปัญหาพิพาทที่ดินเกาะหลีเป๊ะ จ่อตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ หากพบผิดต้องเพิกถอน

โดย panisa_p

28 ธ.ค. 2565

75 views

มีความคืบหน้ากรณีปัญหาที่ดินชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล หลังเกิดข้อพิพาทกับเอกชนที่อ้างเอกสารสิทธิ์มาปิดทางเข้าโรงเรียน และทางลงชายหาด ทำให้ชาวเลได้รับผลกระทบ โดยนายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออก โดยแนะนำให้ชาวเลฟ้องศาลในเรื่องการปิดเส้นทาง ส่วนกระบวนการออกเอกสารสิทธิในเกาะหลีเป๊ะ จะตรวจสอบหากพบได้มาโดยมิชอบจะเพิกถอนโฉนด และดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิดด้วย



นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยความเป็นธรรมและการปฏิบัติราชการ เป็นประธานในการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกรณีข้อพิพาทที่ดินในเกาะหลีเป๊ะ อ.เมือง จ.สตูล ตามที่ชาวเลเกาะหลีเป๊ะได้ร้องเรียนผ่านศูนย์ร้องเรียน 1111 โดยนายพีระพันธุ์ ให้แยกปัญหาเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเรื่องข้อพิพาททางเดินสาธารณะที่เอกชนซึ่งอ้างมีเอกสารสิทธิ์ได้ปิดทางเข้าออกโรงเรียน และทางลงชายหาด ได้แนะนำให้ชาวบ้านให้ฟ้องศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้เป็นทางจำยอม เพราะแม้ปัจจุบันจะมีเอกชนอ้างเอกสารสิทธิ์และฟ้องร้องชาวบ้านที่อาศัยอยู่และใช้ประโยชน์มาไม่น้อยกว่า 60 ปี โดยให้ยุติธรรมจังหวัดและรองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลให้คำปรึกษาในทางกฎหมาย



ส่วนประเด็นที่มาการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะได้มาโดยชอบหรือไม่ นายพีระพันธ์ จะทำการตรวจสอบใหม่ทั้งเกาะ ทั้งจากการออก ส.ค.1 บวม ที่มีเนื้อที่เกินมาจากเอกสารเดิม หากพบว่ามีการออกโฉนดโดยมิชอบหรือมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องในการกระทำผิด ก็จะดำเนินการเอาผิดทั้งกระบวนการ



สำหรับปัญหาที่ดินเกาะหลีเป๊ะ มีหลายหน่วยงานได้ทำการศึกษาทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในปี 2549 และล่าสุดกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ทำการสอบสวนข้อเท็จจริงตามที่มูลนิธิชุมชนไท เป็นตัวแทนกลุ่มชาวเลอูรักราโวยเกาะหลีเป๊ะ เกาะอาดัง จังหวัดสตูล ขอให้ตรวจสอบที่ดินชาวเลทับซ้อนที่ดินเอกชนและอุทยานแห่งชาติตะรุเตาซึ่งจากประวัตศาสตร์มีตั้งแต่ปี 2442 ชาวเลได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่จนเป็นกลุ่มคนที่ชี้หลักเขตให้แผ่นดินเกาะหลีเป๊ะเป็นของประเทศไทย จนในปี 2479 มี พ.ร.บ.ออกโฉนดที่ดินฉบับที่ 6 และในปี 2482 มีประกาศพื้นที่หวงห้ามเพื่อการราชทัณฑ์ และถอนสภาพในปี 2517 ก่อนจะมีประกาศอุทยานในปี 2517 ด้วย



รวมถึงการออกเอกสารสิทธิถือครองที่ดิน ส.ค.1 ให้กับชาวเล จำนวน 41 แปลง ตั้งแต่ปี 2478 และที่ออก น.ส.3 ไปแล้ว 17 แปลง ซึ่งดีเอสไอได้ตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศ ตั้งแต่ปี 2493 ยังไม่มีการทำประโยชน์เต็มแปลง แต่ปัจจุบันมีเอกชนมีการซื้อขายที่ดินต่อจากครอบครัวของชาวเล จนมีข้อพิพาทในการใช้พื้นที่สาธารณะ ดีเอสไอได้ตรวจสอบแล้วพบว่า มีที่ดิน 3 แปลงที่จะเพิกถอน รวมถึงแปลงที่ 11 ที่กำลังมีข้อพิพาทเรื่องทางเดิน ส่วนต่อไปจะให้เป็นคดีพิเศษหรือไม่ ต้องเสนอให้ทางคณะกรรมการดีเอสไอพิจารณา



ขณะที่ชาวเลเกาะหลีเป๊ะและมูลนิธิชุมชนไทยพอใจผลการประชุมวันนี้ เพราะทำให้เห็นว่าปัญหาชาวเลเกาะหลีเป๊ะได้เชื่อมโยงระดับชาติแล้ว คาดหวังว่าจะมีการตรวจสอบที่มาเอกสารสิทธิ์ให้ถูกต้องด้วย ส่วนคำแนะนำให้ชาวบ้านฟ้องกลับกรณีข้อพิพาททางเดิน คงต้องไปหารือกันก่อนเพราะที่ผ่านมาเหตุที่ไม่ฟ้องเพราะเห็นว่าการแก้ปัญหาทางเดินสาธารณะเป็นหน้าที่ของรัฐ



สำหรับกรอบการทำงาน นายพีระพันธุ์ ยืนยันว่า จะแก้ปัญหาทั้งสองส่วนให้เห็นความคืบหน้า และจากที่รับฟังข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชื่อว่าสามารถแก้ไขได้

คุณอาจสนใจ

Related News