สังคม

เปิดกลโกงแก๊งคอลเซนเตอร์หลอกหมอ สูญ 101 ล้านบาท

โดย panwilai_c

29 ต.ค. 2565

582 views

ปัญหาแก๊งคอลเซนเตอร์ที่แม้ที่ผ่านมา จะมีการออกข่าวเตือนภัยมาตลอดหลายช่องทาง แต่ก็ยังมีผู้ตกเป็นเหยื่อรายใหม่เกิดขึ้นทุกวัน มีหลายคดีที่ผู้ที่ถูกหลอกเป็นกลุ่มที่มีฐานะ ความรู้ แต่ด้วยกลอุบายที่แยบยลของแก๊งคอลเซนเตอร์ ที่ได้ข้อมูลบุคคลและฐานะทางเงินเชิงลึกของเหยื่อบางคน ทำให้ผู้ที่ถูกหลอกหลงเชื่อว่า ผู้ที่โทรมาน่า จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจริง



สาเหตุหนึ่ง ตำรวจ พบว่า มีตำรวจและเจ้าหน้าที่บางรายคอยเป็นผู้หาข้อมูลของเหยื่อไปป้อนให้ได้ค่าจ้างเดือนละ 6 แสนบาท ตามที่เราได้นำเสนอไปเมื่อวานนี้



และวันนี้ตำรวจก็สามารถจับหนึ่งในแก๊งคอลเซนเตอร์คนไทยได้อีกคน คนนี้ถือว่า เป็นตัวการสำคัญคนหนึ่ง ที่มีประวัติหลอกเหยื่อคนไทยได้เงินไปมากถึง 150 ล้านบาท หนึ่งในนั้นเป็นคุณหมอคนหนึ่งที่จังหวัดชุมพร รายนี้สูญเงินไปมากถึง 101 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามากที่สุดเท่าที่ตำรวจได้ข้อมูลมา



การหลอกลวงคุณหมอคนนี้ เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรศัพท์ แอบอ้างเป็นตำรวจสภ.เมืองเชียงราย ข่มขู่ว่า พัวพันพัสดุผิดกฎหมาย ตอนแรก มีสายโทรไปหาลูกสาว อ้างว่า เป็นพนักงานขนส่งบริษัทขนส่ง ทำทีว่ามีพัสดุผิดกฎหมายมาถึง จะต้องถูกดำเนินคดีที่ สภ.เมืองเชียงราย ก่อนจะแนะนำว่า ต้องติดต่อกับ ตำรวจ สภ.เมืองเชียงราย



จากนั้นมีการส่งต่อผู้เสียหาย ให้กับคนที่อ้างว่าเป็น ตำรวจ เพื่อข่มขู่ ให้กลัว และ เชื่อว่าจะต้องถูกดำเนินคดีจริง แล้วให้คุยกับตัวละคร ที่ 3 ที่อ้างว่า เป็นผู้กำกับ สภ.เมืองเชียงราย ชื่อว่า "พ.ต.อ.กิตติพงษ์"



โดยขั้นตอนนี้ เป็นการข่มขู่ต่อ ว่าจะต้องถูกยึดทรัพย์สิน ถูกจำคุก แล้วเสนอทางออกว่า หากไม่อยากถูกดำเนินคดีให้ โอนเงินมาตรวจสอบ เสร็จแล้วจะคืนให้



ผู้เสียหาย จึงหลงเชื่อ ให้ข้อมูลการเงินและ โอนเงินไปเข้าบัญชีปลายทางที่บอกมา หลายบัญชี รวมมูลค่าทั้งสิ้น 101,871,381 บาท แต่ปรากฎว่า ต่อมาเจ้าหน้าที่ธนาคารต้นทาง สงสัย จึงติดต่อไป ทำให้ทราบว่าถูกหลอกจากแก๊งคอลเซนเตอร์ จากนั้นจึงแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจให้ติดตามคนร้าย ตามเส้นทางการเงินที่โอนไป



ส่วนความคืบหน้า กรณีที่ตำรวจไซเบอร์ จับตำรวจยศ พ.ต.ท. และเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ ที่เอาข้อมูลบุคคลในทะเบียนราษฎร์ และเลขบัญชีการค้าของคนไทยไป ขายให้แก๊งคอลเซนเตอร์ เพื่อใช้สร้างความน่าเชื่อในการหลอกลวง ล่าสุดผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ได้สั่ง ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง นายตำรวจคนดังกล่าว พร้อมมีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน



มีรายงาน สำหรับพฤิตการณ์ของ พ.ต.ท.คนดังกล่าว ได้เข้ารหัสเฉพาะของตำรวจ เข้าไปดูฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของผู้เสียหายนับครั้งไม่ถ้วน รวมทั้งพบความถี่ในการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร จนเป็นเหตุแห่งการสงสัย ขณะที่เจ้าตัว อ้างว่าได้ให้ข้อมูลกับเพื่อนหญิง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ นำไปใช้ในงานวิจัยการเรียนระดับปริญญาโทเท่านั้น ไม่ได้นำไปขายให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ปักใจเชื่อ เนื่องจากมีผลตอบแทนเป็นเงินโอนเข้าบัญชีเดือนละกว่า 600,000 บาท



จึงถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อน พร้อมตั้งข้อหา ร่วมกันฉ้อโกง และ ม. 157 ใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และอาจถูกตั้งข้อหาอื่นร่วมด้วย เนื่องจากยังมีหมายจับอีก 2 หมายที่กรุงเทพมหานคร



ด้านนายวัฒนศักดิ์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน สั่งตั้งกรรมการตรวจสอบข้าราชการของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เช่นกัน โดยให้ได้ข้อสรุปภายใน 5 วัน ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่



หากพบมีส่วนเกี่ยวข้องจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุด หากพบเข้าข่ายกระทำความผิดร้ายแรงทางวินัย ก็จะดำเนินการขั้นเด็ดขาด คือโดนปลดจากตำแหน่งหรือไล่ออก ซึ่งล่าสุดได้ออกคำสั่งให้ดึงตัวมาแขวนไว้ที่ส่วนกลาง กระทรวงพาณิชย์ เพื่อรอการตรวจสอบ เริ่มตั้งแต่ 31 ต.ค.นี้ โดยห้ามทำงานหรือยุ่งเกี่ยวข้องใด ๆ กับข้อมูลทางราชการ / ส่วนคดีอาญาทางกรมการค้าภายใน ก็พร้อมให้ความร่วมมือกับตำรวจเต็มที่



ข่าว 3 มิติได้สรุป ตัวอย่างการหลอกลวงของแก๊งคอลเซนเตอร์ที่พบบ่อย เช่น มีการโทรมาอ้างมาจากบริษัทขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ หลอกว่า มีพัสดุผิดกฎหมายอยู่ภายในเช่น ยาเสพติดหรือของต้องห้ามนำเข้าราชอาณาจักรเป็นต้น หากหลงเชื่อ กดเข้าไปทำธุรกรรม หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม การหลอกลวงจะเริ่มขึ้น ด้วยการส่งสายให้กับแก๊งคอลเซนเตอร์อีกคน ทำหน้าที่ข่มขู่ ให้กลัว ด้วยวิธีการต่างๆ



แล้วแนะนำทางแก้ โดยให้คุยกับคนที่3 คนที่เป็นคนที่จะหาทางให้เหยื่อโอนเงินไปเคลียร์คดี โดยบางรายจะส่งแอพมาให้กด ซึ่งจะเป็นลิงค์ที่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ได้ โดยหากมีการโอนเงินก็จะใช้บัญชีคนที่รับจ้างเปิดเรียกว่า บัญชีม้า



วิธีต่อมาเป็นการอ้างว่า มีชื่อพัวพันยาเสพติด ส่วนจะอ้างว่า มีหมายจับอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่และเชียงรายเป็นต้น วิธีการส่งต่อก็จะคล้ายๆกัน



หากเหยื่อโอนเงินไปแล้ว จะมีคนทำหน้าที่ดูยอดเงินจากบัญชี แบบออนไลน์ ทันที่มีเงินเข้าก็จะโอนออกออนไลน์ทันที่ทำให้ไม่สามารถติดตามคืนมาได้



ส่วนวิธีป้องกันเบื้องต้นที่ง่ายสะดวกที่สุด คือ ปกติ แก๊งคอลเซนเตอร์ จะใช้โปรแกรมอัตโนมัติโทรมาก่อน หากเราไม่กดรับ หรือกดไปตามที่บอก สายจะตัดไปเอง แล้วหากสงสัยโทรกลับไปเบอร์เดิมก็ไม่สามารถติดต่อได้ เนื่องจากเป็นการตั้งระบบโทรทางเดียว ผ่านระบบดาวเทียม



ซึ่งหากสังเกตพบว่า แก๊งคอลเซนเตอร์จะเปลี่ยนเลขใหม่อยู่ตลอดเวลา และที่สำคัญระบบราชการ ระบบสถานการเงิน ไม่มีการสอบปากคำออนไลน์ หากพบสายที่โทรมาพฤติกรรมเช่นนี้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นแก๊งคอลเซนเตอร์ ถ้าวางสายไปหมายเลขนั้นก็จะไม่โทรกลับอีก เพราะเป็นระบบสุ่มโทรตามโปรแกรมของหัวหน้าแก๊งชาวจีน

คุณอาจสนใจ

Related News