สังคม

ศาลปกครอง ยกฟ้อง ให้ศาลยุติธรรม ใช้ ‘บ้านป่าแหว่ง’ สร้างบ้านพักได้

โดย attayuth_b

27 ก.ค. 2565

984 views

วันนี้ (27 ก.ค.) ศาลปกครองเชียงใหม่ได้มีคำพิพากษาในคดี ที่กรมธนารักษ์ ถูกฟ้อง กรณี อนุญาตให้สำนักงานศาลยุติธรรม ใช้พื้นที่ราชพัสดุแปลง ตําบลดอนแก้ว อําเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 147ไร่3 งาน 30ตารางวา ก่อสร้างอาคารที่ทำการศาล บ้านพักตุลาการและข้าราชการศาลอุทธรณ์ ภาค 5 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยอ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่า บางส่วนทับซ้อนกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดอยสุเทพ และอำนาจการอนุญาตใช้ประโยชน์เป็นอำนาจของอธิบดีกรมป่าไม้

ส่งผลให้เกิดการตัดโค่นต้นไม้ทำลายป่าทำให้เกิดสภาพป่าแหว่ง และผู้ฟ้องใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญขอฟ้องร้องให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนและให้มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและปรับปรุงพื้นที่ให้กลับมามีสภาพดังเดิมนั้น

ศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่าพื้นที่ราชพัสดุแปลงพิพาทดังกล่าวทั้งแปลงอยู่นอกแนวเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยสุเทพ และนอกแนวเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ - ปุย อำนาจอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุแปลงพิพาทเป็นอำนาจของกรมธนารักษ์

แม้ราชพัสดุแปลงพิพาทมีสภาพเป็นป่าที่ลาดเชิงเขา บางส่วนเป็นที่สูงชันอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคเหนือ (ลุ่มน้ำปิง-วัง) แต่เมื่อพื้นดังกล่าวมิได้มีพื้นที่ส่วนหนึ่งส่วนใดทับซ้อนกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่อุทยานแห่งชาติ พื้นที่ราชพัสดุแปลงพิพาทจึงไม่อยู่ในบังคับพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504

พื้นที่ราชพัสดุแปลงพิพาทอยู่ในพื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น2 ชั้น3และชั้น 4 สำนักงานศาลยุติธรรม จึงได้รับยกเว้นไม่จำต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตาประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และไม่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียก่อนเริ่มโครงการ ดังนั้น การพิจารณาอนุญาตให้สำนักงานศาลยุติธรรมใช้ที่ราชพัสดุแปลงพิพาทจึงเป็นไปตามขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ยังฟังไม่ได้ว่าการอนุญาตของกรมธนารักษ์เป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบแต่อย่างใด

ส่วนข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีที่ว่าการก่อสร้างอาคารดังกล่าวมีการโค่นต้นไม้ ทำลายป่า ทำให้เกิดเป็นพื้นที่ป่าแหว่ง อันเป็นการทำลายระบบนิเวศของพื้นที่ป่าไม้ที่สวยงามตามธรรมชาติก็ไม่อาจรับฟังได้  

เมื่อศาลได้วินิจฉัยแล้วว่า การที่กรมธนารักษ์ อนุญาตให้สำนักงานศาลยุติธรรม ใช้พื้นที่ดังกล่าวก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 และบ้านพักตุลาการ บ้านพักข้าราชการศาล เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดี กรมธนารักษ์จึงไม่ต้องรับผิดดำเนินการตามคำขอของผู้ฟ้องคดี ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง




คุณอาจสนใจ

Related News