สังคม
น้ำมันดิบรั่วกลางทะเลระยอง ควบคุมในวงจำกัดได้แล้ว ก.ทรัพยากรฯ คาดไม่ซ้ำรอยเกาะเสม็ด ปี 56
โดย thichaphat_d
27 ม.ค. 2565
27 views
ความคืบหน้ากรณีน้ำมันดิบรั่วไหล จากท่อใต้ทะเลของทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเลของบริษัทสตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุด จ.ระยอง ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 20 กิโลเมตร เหตุเกิดช่วงเวลาประมาณ 21.06 น.ของวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา
นายพงษกร ช่อชูวงค์ ผู้จัดการฝ่ายชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม บริษัทสตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ชี้แจงว่า คืนวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา เรือที่เดินทางมาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บรรทุกน้ำมันดิบ 320,000 ลิตร มาส่งที่ทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล หรือ SPM เพื่อนำไปกลั่นที่บริษัท
ประมาณ 3 ทุ่มเศษ ได้กลิ่นไฮโดรคาร์บอน และพบว่ามีคราบน้ำมันพุ่งมาจากพื้นน้ำ จึงหยุดกระบวนการขนส่งน้ำมันตามขั้นตอนความปลอดภัย พร้อมแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวัง รวมทั้งพยายามเก็บกู้คราบน้ำมัน โดยใช้เรือล้อมคราบน้ำมันด้วยบูมไว้ได้ส่วนหนึ่ง
เบื้องต้นประเมินว่าน้ำมันที่รั่วไหว อยู่ที่ประมาณ 160,000 ลิตร โดยได้สลายคราบน้ำมันตามกระบวนการตั้งแต่คืนวันเกิดเหตุ และตลอดทั้งวันวานนี้ (26 ม.ค.) ส่วนสาเหตุที่เกิดการรั่วไหล อยู่ระหว่างการตรวจสอบ
เมื่อเวลา 19.00 น.วานนี้ (26 ม.ค.) บริษัทสตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 4 ระบุว่า บริษัทได้คำนวนแรงดัน (Pressure Balance) พบว่า มีปริมาณน้ำมันดิบรั่วไหลอยู่ที่ประมาณ 20-50 ตัน โดยได้ฉีดพ่นน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน โดยใช้เรือและเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพเรือภาคที่ 1 ดำเนินการ หลังจากนั้นมีการบินสำรวจ พบว่า สามารถควบคุมปริมาณน้ำมันให้อยู่ในวงจำกัด และยังคงมีปริมาณน้ำมันอยู่ในทะเลประมาณ 5.3 ตัน โดยโรงกลั่นน้ำมันของบริษัท ยังสามารถเดินเครื่องด้วยความปลอดภัยได้ตามปกติ และหากมีความคืบหน้า บริษัทจะรายงานสถานการณ์ให้ทราบเป็นระยะจนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ
ด้านสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ตรวจสอบภาพจากดาวเทียม ของวันที่ 26 ม.ค.65 เวลา 10.40 น. พบคราบน้ำมันลอยเป็นกลุ่มก้อนกลางอ่าวมาบตาพุด (กรอบสีเหลือง) คิดเป็นพื้นที่ 11.65 ตารางกิโลเมตร (7,280 ไร่) หรือกว่า 2 เท่าของเกาะเสม็ด อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลของอำเภอเมืองระยอง ประมาณ 16.5 กิโลเมตร จากการตรวจสอบทิศทางลม บริเวณอ่าวมาบตาพุด พบว่าระหว่างวันที่ 26-28 ม.ค.65 ทิศทางลมมีแนวโน้มเคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีระดับความเร็วลมเฉลี่ยอยู่ในช่วง 5-15 เมตร/วินาที
ลักษณะดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชายฝั่งเมืองระยอง ชายหาดแม่รำพึง และพื้นที่ชายหาดใกล้เคียง โดยข้อมูลจากการวิเคราะห์ ทาง GISTDA จะส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้วางแผน ติดตาม ตรวจสอบในพื้นที่ต่อไป
ขณะที่เมื่อวานนี้ หลายหน่วยงานลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์ และตั้งวอร์รูมติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นห่วงว่าคราบน้ำมันจะกระทบกับสิ่งแวดล้อมในทะเล โดยนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า จากแบบจำลองโมเดลประเมินสถานการณ์ก่อนหน้านี้ หากไม่เร่งควบคุมหรือกำจัดคราบน้ำมันที่รั่วออกมา คาดว่าจะพัดกระทบชายฝั่งมาบตาพุด หาดแม่รำพึง และหมู่เกาะเสม็ด ภายในวันที่ 30 ม.ค.นี้ แต่ทุกหน่วยงานเข้าดำเนินงานอย่างรวดเร็วทันท่วงที ทำให้เป็นสัญญาณดีว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
ด้านนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่พบผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แต่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะส่งนักวิชาการติดตามประเมินผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หากมีผลกระทบตกค้างสร้างความเสียหายต่อทรัพยากร ก็จะดำเนินคดีเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งกับบริษัทต่อไป
ขณะที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า จากการดูทิศทางการไหลของกระแสน้ำทะเลแล้ว น่าจะวางใจได้ว่าน้ำมันที่ลอยอยู่ ไม่น่าจะพัดเข้าชายฝั่ง สำหรับขั้นตอนที่ทำอยู่ขณะนี้ คือการใช้เครื่องบินโปรยสารเคมี ให้น้ำมันดิบ จับตัวเป็นก้อน และจมลงทะเล
ซึ่งในระยะยาวจะต้องศึกษาว่า น้ำมันที่จับตัวเป็นก้อนเหล่านี้ จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ใต้ทะเลและปะการังอย่างไร พร้อมได้สั่งการให้กรมควบคุมมลพิษ พิจารณาข้อกฎหมาย ซึ่งย้ำว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ทางบริษัท จะต้องรับเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหาย พร้อมย้ำว่า เหตุการณ์นี้จะไม่ซ้ำรอยเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่ว ที่เกาะเสม็ด เมื่อปี 2556 จึงขอให้ชาวจังหวัดระยองวางใจได้
ส่วนกระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน ติดตามสถานการณ์และตรวจสอบปริมาณน้ำมันสำรอง ซึ่งพบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่กระทบต่อการจัดหาน้ำมันเพื่อรองรับการใช้ของประเทศอย่างแน่นอน ซึ่งในภาพรวมประเทศไทยมีกำลังการกลั่นน้ำมันประมาณ 1.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในส่วนของโรงกลั่น SPRC มีกำลังการกลั่นประมาณ 175,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งการผลิตของโรงกลั่น SPRC ยังสามารถดำเนินการได้ และหากมีกรณีที่มีเหตุที่ไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ ก็สามารถเพิ่มการผลิตของโรงกลั่นที่ไม่ได้รับผลกระทบ หรือ นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเข้ามาได้ โดยปริมาณน้ำมันดิบสำรองของประเทศสามารถใช้ได้ประมาณ 28 วัน
ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรม ก็สั่งให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งร่วมหาสาเหตุของการรั่วไหล เบื้องต้นพบว่า ท่อดังกล่าวมีการบำรุงรักษาอุปกรณ์ตามแผนงานของบริษัทอย่างต่อเนื่อง แต่หลังจากนี้ อาจต้องขอดูแผนในการดูแลและบำรุงรักษา รวมทั้งตรวจสอบอายุการใช้งานของท่อ ว่าจำเป็นต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือไม่ โดยจะให้ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมวางแผน เพื่อป้องกันเหตุแบบนี้อีกในอนาคต
ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า ขณะนี้ ยังไม่มีข้อกังวลในการรับประทานอาหารทะเล แต่ขอให้เลือกซื้อจากร้านที่สะอาด และนำมาปรุงสุก
รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/ElvWk2RoCDc