เศรษฐกิจ

'หมูแพง' เทียบราคา 1 สัปดาห์ พุ่งทะลุ 200 แม่ค้าเขียงหมูโอด ขายมา 20 ปี เพิ่งเคยเจอยุคนี้

โดย thichaphat_d

5 ม.ค. 2565

193 views

สมาคมผู้เลี้ยงสุกร ประกาศปรับราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม ประจำวันพระแรกของปีนี้ วันที่ 2 มกราคม 65 / หมูเป็นปรับราคาขึ้นกิโลฯ ละ 6-8 บาท ส่งผลราคาแนะนำหมูเนื้อแดง ทะลุ 200 บาททั่วประเทศ ภาคเหนือกินหมูแพงที่สุด


โดยภาคตะวันตก ราคาหมูเป็นปรับขึ้น 6 บาท จาก 98 บาท เป็น 104 ต่อกิโลกรัม / ภาคตะวันออก ปรับขึ้น 6 บาท จาก 99 เป็น 105 บาท / ภาคอีสาน ปรับขึ้น 7 บาท จาก 99 บาท เป็น 106 บาท / ภาคเหนือ ปรับขึ้น 8 บาท จาก 100 บาท เป็น 106 -108 บาท ส่วนภาคใต้ ยังคงราคาไว้ที่ 98 บาท เพื่อรอการประชุมราคาในวันนี้ (4)


ส่วนราคาลูกสุกรขุนเล็ก 16 กิโลกรัม ขึ้น 300 บาท จาก 3,200 บาท เป็น 3,500 บาท


ราคาหมูเป็นที่ปรับขึ้น ส่งผลให้ราคาแนะนำหมูเนื้อแดง ขยับขึ้นยกแผง ภาคตะวันตก ขึ้น 12-16 บาท ต่อกิโลฯ จาก 190-196 บาท ขยับขึ้นเป็น 206-208 บาท / ภาค ตะวันออก ขึ้น 12 บาท จาก 196-198 บาท เป็น 208-210 บาท / ภาคอีสาน ขึ้น 14 บาท จาก 196-198 บาท เป็น 210-212 บาท / ภาคเหนือ ขึ้น 12-14 บาท จาก 198 – 200 บาท เป็น 210-214 บาท ส่วนภาคใต้ราคายังคงเดิมที่กิโลฯละ 194-196 บาท


โดยเป็นผลจากมีปริมาณหมูออกสู่ตลาดน้อย ทำให้ราคาสุกรหน้าฟาร์มขยับต่อ ในขณะที่หลายฝ่ายยังรอการประชุมร่วมเพื่อประเมินความเพียงพอของผลผลิตสุกรในอนาคตที่เป็นข้อกังวลกว่าการปรับขึ้นของราคาสุกรหน้าฟาร์ม รวมถึงการยับยั้งการระบาดที่ยังไม่หยุด และการหาทางฟื้นฟูการประกอบอาชีพของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย ที่การประเมินทั้งระบบลดลงจาก 200,000 ราย เหลือเพียง 80,000 รายในปัจจุปัน โดยหนี้สินเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งสมาคมผู้เลี้ยนงสุกรฯ เสนอให้แก้หนี้สินเกษตรกรเป็นเรื่องเร่งด่วน


เมื่อเวลา 18.00 น. วานนี้ (4 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากสถานการณ์เนื้อหมูที่มีราคาแพงขึ้นจากต้นทางหรือโรงชำแหละ ฟาร์มสุกรขนาดใหญ่ พร้อมใจกันปรับราคาขึ้นทั่วประเทศ ส่งผลให้ผู้บริโภคเดือดร้อนไล่เรียงกันตั้งแต่ เขียงหมูตลาดสด ผู้ซื้อค้าปลีกหรือพ่อค้า-แม่ค้า ยันประชาชนได้รับผลกระทบเดือดร้อนจากการปรับราคาขึ้นของเนื้อหมูดังกล่าวในครั้งนี้ ที่ราคาขยับขึ้นในแต่ละอาทิตย์ราคาโดดพุ่งกระฉูดสูงสุดในรอบหลายปี


น.ส.วันเพ็ญ หรือเพ็ญ เเผ้วบุญตา อายุ 47 ปี แม่ค้าขายข้าวแกง เปิดเผยว่า วันนี้ราคาเนื้อหมู แพงกว่าเก่าเยอะมาก จากเคยซื้อ 1 กก.ราคา 70-80 และ 90 บาท ตอนนี้มา 100 กว่าบาทขึ้นไปแล้ว ขึ้นราคามาเรื่อยๆ ต้นทุนมันสูงขึ้นแต่กำไรเท่าเดิม จะไปปรับราคาขายให้กับลูกค้าเพิ่มก็ไม่ได้เพราะชาวบ้านก็ลำบากเหมือนกัน อย่างขาหมูขายเป็นกับข้าวถุงละ 50 บาท 60 บาท เราก็ขาย อาจได้น้อยลงหน่อย อย่างคากิเคยขาย 40 บาท ก็ต้องขาย ต้นทุนตอนนี้ก็มา 300 บาทแล้ว จากเดิมต้นทุนแค่ 200 บาทเอง ฝากถึงภาครัฐช่วยลงมาดูเรื่องราคาหมูด้วย อย่าให้ขึ้นสูงเยอะกว่านี้เลย ประชาชนไม่ไหวกันแล้วลำบากกันมาก เดือดร้อนกันถ้วนหน้าแล้ว


นางสุรีรัตน์ กลิ่นแก้ว แม่ค้าเขียงหมู อายุ 50 ปี เปิดขายเขียงหมูที่ตลาดสดเทศบาลนครนนทบุรี มาเกือบ 20 ปี เปิดเผยว่า พึ่งเคยเจอยุคนี้เนื้อหมูและทุกชิ้นส่วนของตัวหมูขึ้นราคากันพรวดเดียวเกือบ 20-30 บาท จากเมื่อก่อนขึ้นกันเพียง 5-10 บาทเท่านั้น และค่อยๆ เริ่มขึ้นราคากันมาก่อนช่วงปีใหม่แล้วจนถึงวันนี้


ตอนนี้ราคาหมูขึ้นมากเลย ขึ้นอย่างก้าวกระโดดขึ้นกันที 20-30 บาท ผู้บริโภคก็แย่ไปตามกัน อย่างเนื้อแดง เมื่อสองสามวันที่แล้ว เราขายกันอยู่ที่ 1 กิโล 170 บาท ตอนนี้ก้าวกระโดดไป 1 กก.190 บาทเลย เราก็ยังช่วยผู้บริโภคอยู่ ที่อื่นก็ขาย 1กก. 200-240 บาท ส่วนเนื้อหมูสามชั้นนี้แพงมากเลย ตอนนี้อยู่ที่ 250 บาทต่อ 1กก.จากเมื่อก่อน 180-190 บ. เป็น 250 บาท ขึ้นมาเป็นเดือนแล้ว ขึ้นมาทุกอาทิตย์ขึ้นมาเรื่อยๆ เลย ขึ้นราคาทุกชิ้นส่วนของตัวหมู สงสารผู้บริโภคด้วย ลูกเขียงอย่างเราก็แย่กันหมด เดือดร้อนกระทบกันเป็นลูกโซ่


อยากให้ทางรัฐบาลลงมาดูแลช่วยเหลืออย่าให้ราคาหมูมันขึ้นสูงมากเกินไป ตอนนี้ชาวบ้านหรือผู้บริโภคจากเคยซื้อเนื้อหมูไปทำอาหารทานกัน ขีดละ 15 บาท ตอนนี้ขึ้นมาขีดละ 20 บาทได้นิดเดียว บางครอบครัวลำบาก ตอนนี้ได้หมูกันน้อยลงเนื่องจากราคาปรับตัวสูงขึ้น


ขณะที่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยังคงมีประชาชน และนักท่องเที่ยว เดินทางมาซื้อหมูย่างเมืองตรัง เพื่อนำไปฝากและรับประทานกับครอบครัว แม้จะมีการปรับขึ้นจากราคาเดิมกิโลกรัมละ 400 บาท มาเป็นกิโลกรัมละ 480-500 บาท ตามราคาหมูเป็น หรือหมูหน้าฟาร์มที่ขึ้นสูง แต่ลูกค้าขาประจำที่มาซื้อหมูย่างบางราย จากเดิมที่เคยซื้อครั้งละ 1 กิโลกรัม ก็ลดลงมาเหลือครึ่งกิโลกรัมแทน เพื่อประหยัดงบ ขณะที่ร้านหมูย่างบางรายก็ต้องยอมปิดเตาย่างหมูชั่วคราว เนื่องจากสู้ราคาต้นทุนไม่ไหว หลังจากที่ราคาหมูเป็นพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง


นายประเสริฐ น้ำผุด เจ้าของร้านตรังหมูย่าง และอดีตประธานชมรมผู้ประกอบการหมูย่างจังหวัดตรัง ได้ลองคิดต้นทุนหมูย่าง 1 ตัว จากหมูเป็นที่น้ำหนัก 85 กิโลกรัม คิดราคากิโลกรัมละ 103 บาท เป็นเงิน 8,755 บาท บวกค่าแรง 2,000 บาท รวมเป็นเงิน 10,755 บาท แต่เมื่อย่างแล้วจะเหลือน้ำหนักหมูประมาณ 18 กิโลกรัม คิดราคากิโลกรัมละ 500 บาท เป็นเงิน 9,000 บาท แยกขายเฉพาะหัวหมู ได้ 300 บาท ขาหมู 600 บาท และเครื่องใน อีก 1,200 บาท รวมเป็นเงินที่ขายได้ทั้งหมด 11,100 บาท เมื่อนำไปหักลบกับต้นทุน 10,755 บาท เท่ากับว่าหมูย่าง 1 ตัว จะเหลือกำไรแค่ 345 บาท


ดังนั้น ล่าสุดจึงทำให้มีผู้ประกอบการหมูย่าง 4-5 ร้านในจังหวัดตรัง ต้องจำยอมหยุดพักเตาย่างหมู เพราะประสบกับภาวะขาดทุน พร้อมเชื่อว่าราคาหมูเป็น หรือหมูหน้าฟาร์ม จะพุ่งขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 115-120 บาท ซึ่งถ้าราคาหมูเป็นยังสูงขึ้นแบบนี้ ช่วงเทศกาลตรุษจีนกำลังมาถึงในช่วงปลายเดือนมกราคม คาดว่าคงจะต้องมีการปรับราคาหมูย่างขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 600 บาทอย่างแน่นอน จากเดิมที่อยู่แค่กิโลกรัมละ 400-420 บาท หรือปรับขึ้นกิโลกรัมละ 200 บาทเลยทีเดียว


ส่วนการแก้ปัญหาจากทางภาครัฐ นายวัฒนศักดิ์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ในวันที่ 7 มกราคมนี้ จะมีการหารือกับกระทรวงเกษตรฯ เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาราคาหมูแพง โดยกระทรวงเกษตรฯ จะเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้


ซึ่งประเด็นหลักที่จะพูดคุยคือเรื่องการเพิ่มปริมาณให้เร็วที่สุด เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรมีต้นทุนการเลี้ยงหมูที่พุ่งสูง ประกอบการมีปัญหาโรคระบาด ทำให้เกษตรกรเลิกเลี้ยงหมูไปจำนวนมาก ทำให้เนื้อหมูเข้าสู่ตลาดน้อย และมีราคาแพงขึ้น


ส่วนรายละเอียดแนวทางจะเป็นอย่างไร คงต้องรอการประชุมในวันที่ 7 ม.ค.นี้ ซึ่งทางกระทรวงเกษตรฯ จะเป็นผู้เสนอแนวทาง เบื้องต้นมีรายงานว่าอาจมีการขอความร่วมมือผู้ผลิตรายใหญ่เพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการบริโภคไปก่อน


ส่วนกรณีที่ห้างโมเดิร์นเทรด จำหน่ายหมูในราคาที่สูงกว่าที่กรมการค้าภายในขอความร่วมมือให้จำหน่ายกิโลกรัมละ 150 บาท นั้น อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ราคาเนื้อหมู 150 บาท เป็นราคาขายในโครงการพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชน


แต่ที่ผ่านมาก็ได้ขอความร่วมมือห้างโมเดิร์นเทรดในการตรึงราคาหมูช่วงปีใหม่ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี และมีการขายในราคาที่สูงกว่าโครงการพาณิชย์ลดราคาไม่มากนัก โดยอยู่ที่กิโลกรัมละ 160 บาทเป็นส่วนใหญ่


ส่วนจะมีการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศเพื่อมาพยุงราคาหรือไม่นั้น อธิบดีกรมการค้าภายในบอกว่าเบื้องต้นขอเน้นไปที่การเพิ่มปริมาณหมูเป็นหลักก่อน อย่างไรก็ตามหลังจากได้แนวทางเพิ่มปริมาณหมูที่ชัดเจนแล้ว เชื่อว่าสถานการณ์จะค่อย ๆ ดีขึ้น


ด้าน นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวถึง สถานการณ์ราคาหมูในขณะนี้ว่า ราคาจะยังคงสูงถึงช่วงตรุษจีนและอาจยังคงลามไปถึงช่วงสงกรานต์ด้วย เพราะขณะนี้พ่อแม่พันธุ์ไม่มี หมูที่เลี้ยงในฟาร์มก็ล้มตายไปจำนวนมากจากโรคระบาด ทำให้ไม่มีผลลิตออกสู่ตลาด ทางเกษตรกรก็ไม่รู้ต้องทำอย่างไร การที่จะเพิ่มพ่อแม่พันธุ์นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายและทำได้ทันที ดังนั้นจึงไม่มีผลต่อราคาในช่วงนี้เพราะต้องใช้เวลาในการเลี้ยงสักพัก


ส่วนสาเหตุที่ทำทำให้หมูล้มตายไปจำนวนมากนั้น ในฐานะเกษตรกร ตนคงไม่สามารถฟันธงหรือยืนยันว่าตายเพราะโรคอะไร ก็ต้องเชื่อสัตวแพทย์ ด้านปัจจัยความไม่เพียงพอของผลผลิต ทำให้ราคาหมูหน้าฟาร์มขยับเพิ่มต่อ


ในขณะที่หลายฝ่ายยังรอการประชุมร่วมเพื่อประเมินความเพียงพอของผลผลิตสุกรในอนาคต ซึ่งมีคนเป็นข้อกังวลว่า การปรับขึ้นของราคากับปัญหาโรคระบาด จะทำให้เกษตรกรลดลงจาก 2 แสนราย เหลือเพียง 8 หมื่นรายในปัจจุปัน


“ขอให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรที่เลี้ยงหมูด้วย ขอให้เป็นประเด็นที่ต้องจัดการเร่งด่วน เหมือนที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศไว้ว่าปีนี้ จะเป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือนให้สำเร็จ พวกเราก็หวังจะได้รับการแก้ปัญหาด้วย”


ด้าน พรคคฝ่ายค้าน นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้ราคาขายปลีกเนื้อสุกรอยู่ที่ 230 บาทต่อกิโลกรัม และคาดว่าจะปรับราคาขึ้นไปอยู่ที่ 250-300 บาทต่อกิโลกรัมในระยะเวลาอันใกล้นี้ เนื่องจากเกิดโรคระบาดในสุกร โรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ (ASF) หรืออหิวาห์สุกร ซึ่งระบาดไปทั่วโลก ทั้งยุโรป อเมริกาและเอเชีย โดยระบาดในไทยมากว่า 3 ปี แต่รัฐบาลไม่เคยยอมรับว่าเกิดการระบาด และยังแจ้งว่าเป็นโรคเพิร์ส ซึ่งโรคนี้มีวัคซีนป้องกันได้


ทั้งนี้ในกรณีที่เกิดอหิวาห์สุกร หากสุกรติดเชื้อเพียง 1 ตัว ในรัศมี 3 กิโลเมตรต้องฆ่าสุกรฝังกลบทั้งหมด และห้ามเลี้ยงสุกรต่อ ทำให้เกษตรกรได้รับความเสียหายหนัก ซึ่งต้องขอขอบคุณสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งประเทศไทยที่ชดเชยให้เกษตรกร 70% แต่ยังไม่เพียงพอและสถานการณ์การระบาดยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยการระบาดได้แพร่กระจายไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาค ใต้ และจังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่เลี้ยงสุกรมากที่สุดในประเทศ ทำให้จำนวนสุกรหายไปจากระบบ 10 ล้านตัว จากช่วงก่อนการระบาดมีสุกร 22 ล้านตัว ปัจจุบันเหลือ 12 ล้านตัว ส่วนแม่พันธุ์สุกรจากเดิมมี 1.2 ล้านตัว ปัจจุบันลดลงเหลือ 5 แสนตัว


ล่าสุดประเทศไทยส่งออกกุนเชียงไปไต้หวัน ถูกตรวจพบว่าเนื้อกุนเชียงมีการปนเปื้อนเชื้ออหิวาห์แอฟริกัน แต่ทางการไทยปฏิเสธว่าเป็นหมูนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่้งไม่เป็นความจริงเพราะการเคลื่อนย้ายนำเข้าจะต้องมีใบรับรองจากปศุสัตว์ และยังไม่เคยรายงานการระบาดของอหิวาห์สุกรกับองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเองยังได้สะท้อนปัญหามายังพรรคเพื่อไทยว่าการปกปิดข้อมูลการระบาด รัฐบาลทำเพื่อใครกันแน่ เพราะการส่งออกเนื้อสุกรไปต่างประเทศของไทยสูงถึงปีละ 22,000 ล้านบาท


พรรคก้าวไกลก็ซัดหนักไม่แพ้กัน เมื่อนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล โพสต์บทความในหัวข้อ “หมูแพงอาการของปัญหาเศรษฐกิจฐานราก” โดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า ราคาหมูที่แพงขึ้น ไม่ใช่ว่าจะเดือดร้อนเฉพาะครัวเรือนที่มาจับจ่ายตลาด พ่อค้าแม่ขายที่ซื้อหมูไปปรุงอาหารขาย เจ้าของร้านอาหาร ล้วนแต่ได้รับความเดือดร้อน เพราะเศรษฐกิจที่ยอดขายซบเซาแบบนี้ หากขึ้นราคาก็เสี่ยงที่จะทำให้ยอดขายตกลงไปอีก แม้แต่เขียงหมูที่ขายเนื้อหมู ก็ยังไม่อยากให้หมูราคาแพงเลย เพราะขายยากมากๆ ลูกค้าที่ซื้อปลีก เช่น 30-40 บาท ก็ไม่รู้จะตัดแบ่งขายอย่างไร แถมยังต้องคอยรับฟังเสียงบ่นจากลูกค้าอีกด้วย


นายวิโรจน์ระบุด้วยว่า สาเหตุที่หมูราคาแพง เท่าที่ตามข่าวคาดว่ามาจากหลายสาเหตุ อาทิ

1.ช่วงโควิดระบาดและมีการล็อกดาวน์ ทำให้ปริมาณการบริโภคหมูลดลง ทำให้เกษตรกรลดการเลี้ยงหมูลง พอมีการคลายล็อกดาวน์ และการบริโภคหมูเพิ่มมากขึ้น ทำให้อุปทานของเนื้อหมูมีไม่เพียงพอ และปัจจุบันเกษตรกรก็ยังไม่มีความมั่นใจที่จะเพิ่มปริมาณการเลี้ยง

2.ต้นทุนในการควบคุมโรคในฟาร์ม และต้นทุนค่าอาหารสัตว์แพงขึ้น

3.การระบาดของโรคพีอาร์อาร์เอส (PRRS) โรคท้องร่วงติดต่อในสุกร (PED) และโรคอหิวาต์สุกร (CSF) แต่ในเรื่องโรคระบาดที่ต้องตรวจสอบติดตามอย่างใกล้ชิด ก็คือ โรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) นั้นมีการระบาดเกิดขึ้นหรือไม่ เนื่องจากเป็นโรคระบาดที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และไม่มียารักษา ต่อกรณีนี้ อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้ให้สัมภาษณ์ว่ามีการระบาดของโรค ASF เกิดขึ้น ทำให้หมูที่เลี้ยงไว้ล้มตายเป็นจำนวนมาก ในขณะที่กรมปศุสัตว์ยืนยันว่าไม่มีการระบาดของโรค ASF ในประเทศไทย ซึ่งประเด็นนี้ อย่างไรคงต้องมีการตรวจสอบให้สิ้นข้อสงสัยต่อไป


“สรุปแล้ว ต้นตอของปัญหาราคาหมูแพงก็คือ เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูลดลงจาก 2 แสนราย โดยปัจจุบันเหลืออยู่เพียงเพียง 8 หมื่นรายเท่านั้น ปริมาณสุกรแม่พันธุ์ก็ลดลงจาก 1.1 ล้านตัว ก็เหลืออยู่เพียง 6.6 แสนตัว ทำให้จำนวนสุกรขุนเหลืออยู่เพียง 15 ล้านตัวต่อปี จากที่เคยมีถึง 19-20 ล้านตัวต่อปี สาเหตุที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูลดลง ก็เป็นเพราะภาวะขาดทุนสะสมจนเกินจะแบกรับไหว จากการบริโภคเนื้อหมูที่ลดลงจากการระบาดของโควิด-19


ทางแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ ก็คือ การสนับสนุนเงินกู้ระยะยาว ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยมีกลไกภาครัฐ หรือ บสย. เข้าไปค้ำประกันเงินกู้ เพื่อทำให้ธนาคารพาณิชย์มีความมั่นใจที่จะปล่อยกู้ให้กับเกษตรกร โดยระยะแรกที่ทำได้เลย คือ การจูงใจให้เกษตรกรที่เลิกเลี้ยงปล่อยให้เล้าว่างไปแล้ว ให้หันกลับมาลงทุนเลี้ยงสุกรอีกครั้ง ส่วนในระยะถัดไปคือ การสนับสนุนให้เกษตรกรรายใหม่ลงทุนเลี้ยงสุกรในระบบฟาร์มปิดที่ได้มาตรฐานต่อไป” วิโรจน์ระบุ


นายวิโรจน์กล่าวอีกว่า ปัญหาการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนของคนตัวเล็กตัวน้อย ไม่ใช่มีเพียงแค่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเท่านั้น แต่ยังมีเกษตรกรที่เพาะปลูก หรือทำปศุสัตว์อื่นๆ ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน พ่อค้าแม่ขาย ผู้ประกอบการร้านอาหาร และเจ้าของร้านรวงต่างๆ ซึ่งรัฐบาลควรนำเอาเงินกู้ 5 แสนล้านในส่วนของแผนงานที่ 3 ที่เหลืออยู่ 87,178 ล้านบาท มาสนับสนุนเป็นแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการ ที่เป็นตัวเล็กตัวน้อย ที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะกู้เงินผ่านมาตรการ Soft Loan การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจหลังโควิด หรือระหว่างโควิด จำเป็นต้องเข้าไปซ่อมที่ฐานราก จะเอื้อเฉพาะนายทุนไม่ได้ นอกจากแหล่งเงินกู้แล้ว สิ่งที่เกษตรกรกังวลที่สุด ก็คือ ความไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้หรือไม่ มีโอกาสที่จะล็อกดาวน์อีกหรือไม่ ถ้าล็อกดาวน์อีก เงินที่ลงทุนไปก็จะขาดทุนอีก ความกังวลนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเท่านั้น แต่เป็นความกังวลร่วมของคนที่ทำมาหากินในหลายภาคส่วน ในประเด็นข้อกังวลนี้ รัฐบาลต้องเร่งสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน และผู้ประกอบการ ผ่านมาตรการทางสาธารณสุข


“ขณะนี้ ต้องส่งเสียงดังๆ บอกกับรัฐบาลว่า ประชาชนในระดับรากหญ้า ในภาพรวมกำลังเครียดด้วยปัญหาหนี้ครัวเรือน เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน พ่อค้าแม่ขายรายย่อย เจ้าของร้านรวงต่างๆ ต้องการแหล่งเงินทุน เพื่อฟื้นฟูปากท้อง และการทำมาหากินอีกครั้ง ราคาหมูแพง เป็นแค่จุดเริ่มต้นของปัญหาเศรษฐกิจฐานราก ถ้าไม่เร่งวางกลไกในการแก้ไข ปัญหาเศรษฐกิจฐานรากในอีกหลายๆ ภาคส่วน ที่เกิดขึ้นกับคนตัวเล็กตัวน้อย ก็จะทยอยผุดขึ้นให้เห็นอีกเรื่อยๆ และจะส่งผลกระทบเป็นทอดๆ ต่อเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนในทุกระดับชั้นในวงกว้าง และสิ่งที่น่ากลัวที่สุดของปัญหาเศรษฐกิจ ที่เรียกว่า ภาวะเศรษฐกิจฟุบเฟ้อ (Stagflation) ที่เป็นการผสมกันระหว่างการชะลอตัวหรือภาวะการถดถอยทางเศรษกิจ อัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น และภาวะอัตราเงินเฟ้อสูงจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ก็อาจจะเกิดขึ้นได้” วิโรจน์ระบุ


นายวิสุทธิ์ เรียกร้องไปยังรัฐบาลให้เยียวยาชดเชยเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากการระบาดของอหิวาห์สุกรที่ 150% ของความเสียหายทั้งหมด เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรมีหนี้สินจากการสร้างโรงเรือนและฝังกลบสุกรที่ติดเชื้อโรคระบาด และรัฐบาลต้องเร่งเจรจากับสถาบันการเงินในการชะลอการจ่ายสินเชื่อออกไปก่อน ขณะที่ราคาเนื้อหมูเร็วๆนี้ จะเพิ่มขึ้นเทียบเท่าค่าแรงขั้นต่ำแล้ว คนไทยทำงานทั้งวันได้เนื้อหมูกิโลเดียว สวนทางกับต่างประเทศ อย่างสหรัฐ ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 2,000 บาท อังกฤษวันละ 3,000 บาท ราคาเนื้อหมู 300 กว่าบาท ทั้งนี้ในส่วนของพรรคเพื่อไทยในฐานะฝ่ายค้าน ทันที่เปิดสมัยประชุมสภา จะยื่นญัตติเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมสภา เพื่อให้ทุกฝ่ายมาร่วมศึกษาหาวิธีการแก้ไข ยืนยันว่าฝ่ายค้านไม่ต้องการดิสต์เครดิต เราพร้อมให้ความร่วมมือรัฐบาล เพื่อเยียวยาชีวิตผู้เลี้ยงเกษตรกรทั่วประเทศให้กลับคืนมาอีกครั้ง


สิ่งที่รัฐบาลทำผิดพลาด คือการไม่ยอมรับความจริงมา 3 ปี ทำเกษตรกรเสียหาย รัฐบาลไม่ได้ฆ่าหมูอย่างเดียว ยังเข่นฆ่าเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูด้วย


นางสาวสกุณา สาระนันท์ ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าต้นตอปัญหาเกิดจากการบริหารจัดการของภาครัฐ ที่ไม่ยอมรับสาเหตุหลักของปัญหา และดำเนินการแก้ไข ทำให้ประเทศไทยสูญเสียสุกรมากไปกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ การส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อหมู ต่างประเทศตรวจพบเชื้อจากผลิตภัณฑ์เนื้อหมูของไทย เกษตรกรในประเทศรับรู้การระบาดนี้ แต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กลับไม่รับรู้


ที่ผ่านมาตั้งแต่ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคลัมปีสกินในวัว จนโรค ASF ในหมู ไม่เคยมีสักครั้งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวง เกษตรฯ จะพูดถึงการแก้ปัญหาและเยียวยาประชาชน แสดงถึงความไม่จริงใจ ไม่ศึกษาจนรู้ปัญหาที่แท้จริง นำสู่การเกิดปัญหาซ้ำซาก รัฐบาลจะรับผิดชอบปัญหานี้อย่างไร หากยอมรับปัญหานี้ตั้งแต่ 3-4 เดือนที่แล้ว ปัญหาของประเทศ เกษตรกร และประชาชน จะไม่หนักเท่าวันนี้


ทำใจ!”ปศุสัตว์” เผยปชช.ต้องบริโภคหมูแพงอีกครึ่งปีเหตุ “แม่พันธุ์-หมูขุน” ตายเยอะ ชี้ราคาจะเข้าสู่ปกติหลัง ก.ค. (มติชน)


นายสัตวแพทย์บุรินทร์ สรสิทธิ์สุขสกุล ปศุสัตว์จังหวัดราชบุรี เปิดเผยถึงสถานการณ์การเลี้ยงหมูในพื้นที่ราชบุรีว่า จากตัวเลขที่สำรวจผ่านระบบอี สมาร์ท พลัส ของกรมปศุสัตว์เมื่อต้นปีที่แล้ว ซึ่งสำรวจปีละ 2 รอบ พบมีแม่พันธุ์ที่ราชบุรีประมาณ 2 แสนตัวเศษ เกษตรกรผู้เลี้ยง 24,000 ราย ถือเป็นจำนวนที่เลี้ยงหมูมากที่สุดในประเทศ สำรวจแยกเป็นรายอำเภอในข้อมูลของอี สมาร์ท พลัส นั้น เช่น พื้นที่หลักอยู่ที่ อ.ปากท่อ 3,331 ราย มีแม่พันธุ์ 67,405 ตัว รองลงมา อ.จอมบึง มีเกษตรกร 3,006 ราย มีแม่พันธุ์ 65,218 ตัว และรองลงมาที่ อ.โพธาราม 4,356 ราย มีแม่พันธุ์ 32,139 ตัว ที่โพธารามจะเป็นผู้เลี้ยงรายกลางถึงรายย่อยเป็นส่วนใหญ่ หากเป็นรายใหญ่จะอยู่ที่ อ.ปากท่อ และ อ.จอมบึง และ อ.เมือง


นายสัตวแพทย์บุรินทร์กล่าวว่า ส่วนวงจรราคาหมูแพง ณ ปัจจุบัน กับตัวเลขที่เห็นนั้นเป็นตัวเลขที่สำรวจมาจากหลายอำเภอ หลังจากที่ผ่านมาปัญหาของโรคระบาด ทั้งโรคเพิร์ส PRRS ที่ทำให้เกิดความเสียหายฝูงแม่พันธุ์และฝูงหมูขุน รวมถึงโรคที่มีการระบาดปละปลาย อย่างโรคระบบทางเดินอาหารที่ทำให้ลูกหมูมีความเสียหาย เปรียบเทียบเหมือนโรคไข้หวัดใหญ่ของคน โรคจะสะสมในธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความเสียหาย ในวงการหมูก็เช่นเดียวกัน คือจะมีการวนเวียนประมาณ 4 ปี จะเกิดการระบาดรอบหนึ่งและมาตรงกันพอดีทำให้ความเสียหายค่อนข้างเยอะ


นายสัตวแพทย์บุรินทร์กล่าวว่า ส่วนสถานการณ์ราคาหมูแพงนั้น เริ่มเกิดการเสียหายเมื่อกลางปีที่แล้ว ทำให้แม่พันธุ์ที่มีในระบบเกิดการสูญเสีย ซึ่งตัวเลขการสูญเสียนั้น สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอยู่ระหว่างใช้โปรแกรมของอี สมาร์ท พลัส ของกรมปศุสัตว์ ลงไปสำรวจอีกทีว่าจำนวนแม่พันธุ์ที่มีการสูญเสียไปนั้นมากน้อยแค่ไหน ตามที่ในข่าวว่าเสียหายไปประมาณ 40-50% นั้น เป็นแค่การประมาณการ ส่วนตัวเลขจริงนั้นยังไม่มีใครตอบได้ จึงต้องลงไปสำรวจพื้นที่จริง ต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์


“จากที่ได้สอบถามเกษตรกร ความเสียหายน่าจะอยู่ที่ 10-20% แต่เกิดมาช่วงกลางปีที่แล้วและสะสมมาเรื่อยๆ จำนวนแม่พันธุ์อยู่ที่ 2 แสนตัวเศษ จาก 20% ตกประมาณ 4 หมื่นตัวที่เสียหาย แต่เสียหายหนักจริงๆ น่าจะเป็นช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ คือ 3 เดือนแรกของปีนี้ เดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมนี้ และขาดหนักขึ้น ส่วนความเสียหายจะต้องดูการทดแทนขึ้นมา พอเริ่มมีการสูญเสียเมื่อกลางปีที่ผ่านมาแล้ว เกษตรกรก็รู้แล้ว ได้ชดเชย คัดเลือกหาแม่พันธุ์มาเลี้ยงใหม่ ต้องใช้เวลาอีก 3-4 เดือนกว่าจะพร้อมที่จะมาขยายพันธุ์ต่ออีก 5 เดือน ลูกหมูเข้าสู่ระบบตลาดได้ อย่างช้าสุดน่าจะเกินกลางปีไปแล้ว จำนวนสุกรก็จะมีตัวเลขที่อัพขึ้น เพื่อที่ให้เพียงพอต่อการบริโภค จึงต้องให้เลยช่วงเดือนกรกฎาคมไปก่อน ผลผลิตชุดใหม่จะเริ่มออกมาทดแทน” นายสัตวแพทย์บุรินทร์กล่าว


นายสัตวแพทย์บุรินทร์กล่าวว่า ส่วนต้นทุนการผลิตหมูนั้น ลูกสุกรตอนนี้ราคาขายประมาณ 3,200 บาท ต่อ 16 กิโลกรัม แต่หากเกินกว่านั้นจะมีการบวกเพิ่มตามที่ซื้อขายกัน ต้นทุนที่จะตามมาคือ วัตถุดิบ อาหารที่เลี้ยงหมู เช่น รำ ปลายข้าว ข้าวโพด แพงมาก เนื่องด้วยสภาวะอากาศ รวมทั้งแร่ธาตุต่างๆ ที่นำมาผสมขึ้นราคาไม่ต่ำกว่า 40-50 เปอร์เซ็นต์ นำมาให้หมูกินเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง ประกอบกับระบบการจัดการการควบคุม มีทั้งเรื่องปัญหาโควิด-19 มีผลกระทบกับการเลี้ยงหมูสูงมาก เพราะห้ามไม่ให้คนเลี้ยงออกจากฟาร์มเลย


คาดว่าสถานการณ์หมูคงอยู่ที่เราตั้งราคาไว้กลางเดือนกรกฎาคมไปแล้ว ประมาณกิโลกรัม 80 บาทหมูตัวเป็น ส่วนที่เขียงตลาดจะอยู่ประมาณ 150-160 บาท จะทำให้สถานการณ์ราคาหมูดีขึ้น





รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/Uw5b-WzjPK0

คุณอาจสนใจ