สังคม

การเรียนแบบ 'ไฮสโคป' ตอบโจทย์เด็กยุคใหม่

โดย thichaphat_d

6 พ.ย. 2564

220 views

ต้อนรับเปิดเทอมภาคเรียนที่ 2 ด้วยหนึ่งในแนวคิดการสอนเด็กปฐมวัยที่น่าสนใจ ด้วยการเรียนแบบ “ไฮ สโคป” (High Scope) ซึ่งเหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ในเด็กยุคใหม่อย่างมาก


โดยที่โรงเรียนเกษมพิทยา กทม. เป็นหนึ่งในโรงเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ


ที่นี่เป็นที่แรกที่มีการจัดการศึกษาปฐมวัย ด้วยการใช้แนวคิด “ไฮ สโคป” (High Scope) หลักการ คือ ให้เด็กฝึกเรียนรู้ผ่านกระบวนการเล่น เน้นการลงมือทำ เพื่อให้เด็กยุคใหม่มีพัฒนาการหลากหลายรอบด้าน รู้คิด ปฎิบัติได้ และมีความสุขในการเรียนรู้


การจัดการศึกษาตามแนวคิด “ไฮสโคป” สำหรับเด็กอนุบาล คือ เน้นกระบวนการเรียนรู้ และ การลงมือทำ หรือ Active Learning มากกว่าการท่องจำ ให้เด็กได้ลองวางแผน ลงมือปฏิบัติ และ คิดทบทวน Plan-Do-Review


เด็กแต่ละคนจะเรียนรู้ได้ดีที่สุด จากการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ฝึกความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ โดยโรงเรียนจัดสภาพแวดล้อม และ บรรยากาศเอื้อต่อการเรียนรู้ผ่านมุมสำคัญที่หลากหลาย ทั้งมุมศิลปะ มุมหนังสือ มุมบ้าน มุมวิทยาศาสตร์ มุมบล็อก ผ่านสื่อการเรียนและอุปกรณ์ การจัดวางอย่างเป็นระเบียบจะช่วยส่งเสริมให้เด็กรู้จักสังเกต เปรียบเทียบ และมีความรับผิดชอบมากขึ้น


ดร.วรนาท รักสกุลไทย ผอ.แผนกอนุบาล รร. เกษมพิทยา เผยว่า “ไฮสโคปเข้ามาในจังหวะที่เรากำลังจะเปลี่ยนความคิด Mind Set ของพ่อแม่ว่า เราไม่ใช่เตรียมอนุบาลเพื่อขึ้น ป.1 แต่เราต้องการเพื่อการศึกษาระยะยาวของชีวิต คนที่เรียนผ่าน “ไฮสโคป” จะเป็นนักคิดนักวางแผน แล้วก็มีเป้าหมายที่ชัดเจน คือมี Focus Attention คือ มีจิตมุ่งมั่น อยากทำอะไรต้องทำให้สำเร็จ เพราะฉะนั้นตรงนี้จะทำให้เวลาที่เด็กทำกิจกรรม ได้ทั้ง Working Memory จำเพื่อใช้งาน มี Flexibility Thinking คือ มีการคิดยืดหยุ่น และที่สำคัญคือมี Reflective Thinking มีการคิดไตร่ตรอง”


โรงเรียนเกษมพิทยา ได้นำหลักการแนวคิด “ไฮสโคป” มาใช้ในโรงเรียน ตั้งแต่ปี 2533 ภายใต้การนำของ ดร.วรนาท รักสกุลไทย ผู้อำนวยการแผนกอนุบาล เด็กทุกคนได้รับการฝึกพัฒนาการตามความสนใจ แต่เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทางโรงเรียนต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้เพื่อความปลอดภัยของนักเรียนทุกคนเป็นสำคัญ


“มันมีผลกระทบมาก จากการเล่นร่วมกันไม่ได้ ได้แค่ต่างคนต่างเล่น เพราะฉะนั้น Plan-Do-Review จากเดิมที่เคยวางแผนเป็นกลุ่มใหญ่ หรือ กลุ่มย่อยก็ตาม เปลี่ยนเป็นการวางแผนรายบุคคล ครูต้องเข้าไปฟังเด็กทีละคน สิ่งหนึ่งคือครูเข้าไปใกล้ชิดเด็กมากขึ้น เพราะต้องฟังเด็กคิด ฟังเด็กพูด และจดบันทึกสิ่งที่เด็กคิด เด็กพูด และดูลำดับการเจริญเติบโตของเขาทางภาษาเป็นอย่างไร” ดร.วรนาท กล่าว


กระทรวงศึกษาธิการ สนับสนุนแนวคิดนวัตกรรมจัดการศึกษาปฐมวัย มองเห็นประโยชน์ของการให้โรงเรียนมีอำนาจตัดสินใจเลือกใช้แนวคิด วิธีคิด ที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กไทยรุ่นใหม่อย่างเต็มที่


สามารถติดตามสาระดี ๆ จาก ศธ.360 องศา ได้ทางแฟนเพจ Facebook / Youtube Channel / CH3ThailandNews และ www.ch3plus.com

คุณอาจสนใจ

Related News