สังคม

ศาลปกครอง เพิกถอน คำสั่งสำรอง-ปลด "พล.ต.อ.วิระชัย" พ้นรองผบ.ตร. ปมคลิปเสียง "บิ๊กแป๊ะ"

โดย panisa_p

30 ก.ย. 2564

856 views

วันนี้ (30 ก.ย. 64) ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตามคำสั่งสำนักสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 387/2563 ลงวันที่ 29 ก.ค. 63 ที่ให้ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สำรองราชการ และประกาศของนายกรัฐมนตรีตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 31 ส.ค. 63 ที่ให้ พล.ต.อ.วีระชัย พ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค. 63


และมติของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจในคราวการประชุมครั้งที่ 11/2563 เมื่อวันที่ 26 พ.ย.63 ที่ยกคำร้องอุทธรณ์ของ พล.ต.อ.วีระชัย โดยให้มีผลย้อนหลังนับแต่วันที่คำสั่งของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มติของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ และประกาศของนายกรัฐมนตรีมีผลใช้บังคับ


คดีนี้ พล.ต.อ.วิระชัย ยื่นฟ้องผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ นายกรัฐมนตรี ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการสำรองราชการตนเองทั้งหมดจากเหตุถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง กรณีถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ปล่อยคลิปเสียง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในขณะนั้น สนทนาทางโทรศัพท์สั่งการคดีคนร้ายลอบยิงรถยนต์ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล เมื่อครั้งเป็นผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง


ทั้งนี้ศาลได้พิจารณาแล้ว และมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งสำรองราชการดังกล่าวทั้งหมด ตามที่ พล.ต.อ.วิระชัย ยื่นฟ้อง โดยศาลชี้ว่า แม้คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงของผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งบัญชาการตำรวจแห่งชาติจะชอบด้วยกฎหมาย และเป็นเหตุให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งบัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจออกคำสั่งให้ พล.ต.อ.วิระชัย สำรองราชการหรือพักราชการได้ก็ตาม แต่ก่อนที่ผู้บังคับบัญชาจะออกคำสั่งดังกล่าวจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นกรณี ๆ


โดยคดีนี้ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง เนื่องจากเห็นว่า พล.ต.อ.วิระชัย ลักลอบบันทึกเสียงการสนทนาและส่งบันทึกเสียงการสนทนาให้บุคคลอื่นกรณี จึงเห็นได้ว่าผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเกี่ยวข้องในเรื่องนี้โดยตรง ดังนั้นแม้ผู้ซึ่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะมีอำนาจในการออกคำสั่งและตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรง แต่ขั้นตอนการสำรองราชการเป็นคนละขั้นตอนกับการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มีวัตถุประสงค์ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่ามีมูลที่ควรกล่าวหาว่า พล.ต.อ.วิระชัย ทำผิดวินัยและอาญาหรือไม่


ส่วนการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงมีจุดประสงค์เพื่อพิสูจน์ว่า พล.ต.อวิระชัย กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงหรือไม่ นั้น พบว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงมาจากการสั่งการของผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และต่อมาผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้นำผลจากการสอบข้อเท็จจริงมาใช้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง และยังดำเนินคดีอาญากับ พล.ต.อ.วิระชัย ด้วย ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติย่อมมีอคติต่อ พล.ต.อ.วิระชัย ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง


อีกทั้งผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติทราบอยู่แล้วว่า ในปีงบประมาณ 2563 ตนเองจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ต.ค.63 ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะเป็นผู้สรรหาข้าราชการตำรวจไปดำรงตำแหน่งแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่ง พล.ต.อ.วิระชัย ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น ย่อมอยู่ในบัญชีที่มีสิทธิ์ได้รับการคัดเลือก แต่เมื่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งให้สำรองราชการแล้ว และยังเสนอไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมีผลทำให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้นไม่สามารถเสนอชื่อ พล.ต.อ.วิระชัย เพื่อไปดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้ เพราะเป็นผู้ถูกสำรองราชการอยู่


นอกจากนี้ ก่อนที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น จะมีคำสั่งสำรองราชการ พล.ต.อ.วิระชัย ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง หรือมีพยานบุคคลใดร้องว่า พล.ต.อ.วิระชัย ไปยุ่งกับพยานหรือเป็นอุปสรรคในการสอบสวนหรือทำให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ


ดังนั้น การที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น มีคำสั่งให้ พล.ต.อ.วิระชัย สำรองราชการจึงไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในคำสั่งที่ว่าเพื่อประโยชน์แห่งความเป็นธรรมในการดำเนินการทางวินัย ละอาญา หากแต่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่ไม่ได้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในคำสั่งให้สำรองราชการ จึงเห็นว่าพฤติการณ์หรือการกระทำของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในขณะนั้น ถึงแม้จะไม่ใช่ความไม่เป็นกลางโดยสภาพภายนอกตามมาตรา 13 (1) พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 ก็ตาม


แต่พฤติการณ์ของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องดังกล่าว ย่อมมีความคิดเป็นปฏิปักษ์ต่อ พล.ต.อ.วิระชัย จึงถือว่าผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีสภาพร้ายแรงอันทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลางโดยสภาพภายในตามมาตรา 16 ของกฎหมายเดียวกัน คำสั่งสำรองราชการตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 387/2563 ลงวันที่ 29 ก.ค.63 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีผลทำให้คำสั่งนายกรัฐมนตรีตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 31 ส.ค.63 ที่ให้ พล.ต.อ.วิระชัย พ้นจากตำแหน่งไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย


อย่างไรก็ตาม ศาลได้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาว่าให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติคืนสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้แก่ พล.ต.อ.วิระชัย ตามกฎหมายและระเบียบกำหนดต่อไป

คุณอาจสนใจ

Related News