สังคม

‘หมอโอภาส’ เตือนระเบิดเวลา ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ‘หมอศิริราช’ ชี้อาจไม่เพียงพอต้านเดลตา

โดย nicharee_m

21 ส.ค. 2564

290 views

วานนี้ (20 ส.ค.) ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก Opass Putcharoen ให้ความรู้เรื่องการฉีดวัคซีนโควิด ความว่า เวลาดูวัคซีนว่าฉีดได้พอหรือยัง ให้ดูที่จำนวนคนที่ได้เข็มสอง อย่าเพิ่งดีใจกับเข็มแรกว่าฉีดไปได้มาก


การตามเก็บเข็มที่สองในผู้สูงอายุกับคนที่มีโรคประจำตัวที่อยู่ในบ้านที่ไม่สามารถออกไปฉีดนอกบ้านไม่ได้สำคัญที่สุด ในที่ที่มีการระบาดสูง เช่น กทม. ต้องเน้นจำนวนครอบคลุมเข็มที่สอง


อีกกลุ่มที่น่าจะมีปัญหาแบบระเบิดเวลาในอีกไม่นาน คือ กลุ่มคนที่ได้ sinovac ไปสองเข็มไประยะหนึ่ง ตอนนี้ภูมิเริ่มตก จะติดเชื้อและนอนโรงพยาบาลเนื่องจากมีปอดอักเสบ กลุ่มนี้ก็น่าจะเป็นกลุ่มที่รีบได้เข็มที่สาม จะเป็น Astra หรือ Pfizer ก็ได้


ขณะที่ ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก (SICRES) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เชื้อโควิดเดลตาดื้อต่อภูมิคุ้มกันวัคซีนมากขึ้น และอาจมีความดื้อมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม จึงต้องหามาตรการฉีดวัคซีนที่มีในมือจำกัดทั้งชนิดและจำนวนให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น วิธีหนึ่งคือฉีดสลับชนิดและฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 แต่จะต้องจัดลำดับการฉีดให้ถูกต้อง


จึงดำเนินการวิจัยใน 2 โครงการ คือ 1.ฉีดสลับในคนแข็งแรงดีทั่วไป วัดภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโดยวิธีที่ใช้ทั่วไป anti-RBD IgG (BAU/mL) พบว่า การฉีดซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า (SA) ภูมิคุ้มกันขึ้นจาก 24 หน่วย เป็น 1,354 หน่วย หากฉีดแอสตร้าฯ ตามด้วยซิโนแวค (AS) ภูมิขึ้นเล็กน้อยจาก 147 หน่วย เป็น 222.47 หน่วย เมื่อเทียบกับการฉีดแบบไม่สลับคือ ซิโนแวค 2 เข็ม และแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม พบภูมิสูงไม่เท่าการฉีดสลับ ส่วนไฟเซอร์ 2 เข็มภูมิคุ้มกันอยู่ที่ 1,900 หน่วย


2.การฉีดกระตุ้นในคนที่รับซิโนแวคครบ 2 เข็ม เนื่องจากป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ได้ลดลง แต่ยังลดความรุนแรงได้ จึงศึกษาการฉีดกระตุ้นด้วยซิโนฟาร์มและแอสตร้าเซนเนก้า พบว่าเมื่อกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ภูมิคุ้มกันเพิ่มจาก 52 หน่วย เป็น 1,558 หน่วย ส่วนกระตุ้นด้วยซิโนฟาร์ม ภูมิคุ้มกันเพิ่มจาก 44 หน่วย เป็น 218 หน่วย การฉีดแอสตร้าเซนเนก้าสลับเป็นเข็ม 2 หรือกระตุ้นเป็นเข็ม 3 ได้ภูมิคุ้มกันดีทั้งคู่


นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์วัดภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อสายพันธุ์เดลตาโดยเฉพาะ ใช้วิธีวัดแบบ Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT) นำเลือดของผู้ที่ฉีดวัคซีนมาดูว่ายับยั้งไวรัสที่มีชีวิตในหลอดทดลองได้ดีแค่ไหน พบว่าซิโนแวค 2 เข็ม ภูมิขึ้น 24 หน่วย ต่ำกว่าแอสตร้าฯ 2 เข็ม ที่ภูมิขึ้น 76 หน่วย หากฉีดสลับด้วย SA ภูมิคุ้มกันอยู่ที่ 78 หน่วย แต่หากฉีดสลับเป็น AS ได้ภูมิคุ้มกัน 25 หน่วย


“ส่วนซิโนแวค 2 เข็ม กระตุ้นเข็ม 3 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ได้ภูมิคุ้มกัน 271 หน่วย ใกล้เคียงกับคนที่เพิ่งหายป่วยจากเชื้อเดลตาหรืออัลฟา และสูงกว่าการฉีดไฟเซอร์ 2 เข็ม ที่ได้ภูมิคุ้มกัน 155 หน่วย แต่หากฉีดซิโนแวค 2 เข็มแล้วกระตุ้นด้วยซิโนฟาร์มที่เป็นวัคซีนเชื้อตายเหมือนกัน ภูมิคุ้มกันขึ้น 61 หน่วย ถือว่าภูมิคุ้มกันขึ้นได้แต่ไม่สูง”


“สรุปฉีดวัคซีนไขว้ SA ภูมิคุ้มกันขึ้นดีกว่าซิโนแวค 2 เข็ม และ AS ประมาณ 3 เท่า จึงไม่ควรฉีดแอสตร้าฯ ตามด้วยซิโนแวค นอกจากนี้ SA ภูมิสูงกว่าแอสตร้าฯ 2 เข็มเล็กน้อย ต่ำกว่าไฟเซอร์ 2 เข็มราว 1 เท่า แต่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สูงแล้ว ส่วนการฉีดซิโนแวค 2 เข็มกระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ เป็นเข็มที่ 3 ได้ภูมิคุ้มกันสูงกว่ากระตุ้นด้วยซิโนฟาร์ม 4 เท่า สูงกว่าไฟเซอร์ 2 เข็ม 1.7 เท่า ใกล้เคียงกับผู้ที่หายป่วยจากเชื้อเดลตาหรืออัลฟา ส่วนการฉีดสลับซิโนแวคตามด้วยไฟเซอร์ หรือการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยไฟเซอร์ ผลการศึกษากำลังจะออกมาเร็วๆ นี้ ไม่เกิน 2-3 สัปดาห์”


ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวต่อว่า ผู้ที่ได้รับซิโนแวค 2 เข็มไม่เพียงพอที่จะป้องกันสายพันธุ์เดลตา ยังสามารถติดเชื้อได้ค่อนข้างมาก แต่อาการอาจจะไม่รุนแรง ส่วนน้อยที่มีอาการรุนแรงได้หากมีปัจจัยร่วม ระหว่างที่ยังรอเข็ม 3 บูสเตอร์โดสจึงยังต้องเคร่งครัดในมาตรการส่วนบุคคลทั้งสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง เพราะถือว่ามีความเสี่ยงที่จะยังติดเชื้อได้ และเข้ารับเข็ม 3 ไม่ว่าชนิดใดให้เร็วสุดเมื่อมีโอกาส แม้ว่าจะเป็นการบูสต์ด้วยซิโนฟาร์มก็ยังสามารถกระตุ้นได้ แม้จะไม่ดีเท่าแอสตร้าฯ และไฟเซอร์


รับชมทางยูทูปที่ : https://youtu.be/xfRIstOtLH8

คุณอาจสนใจ

Related News