สังคม

นักวิชาการด้านวิศวกรรมโยธา เตือนปิดไซต์งานก่อสร้างกะทันหัน อันตรายถึงขั้นเกิดโศกนาฏกรรม

โดย thichaphat_d

29 มิ.ย. 2564

31 views

นักวิชาการด้านวิศวกรรมโยธา เตือน ปิดไซต์งานก่อสร้างกะทันหัน อันตรายถึงขั้นเกิดโศกนาฏกรรมขึ้นได้โดยไม่ตั้งใจ บ้านเรือนรองข้างเสียหาย เหตุกทม.เป็นดินอ่อน 


เมื่อวานนี้ (28 มิ.ย. 64) เฟซบุ๊ก Suttisak Soralump ของ รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความถึงกรณีที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ออกมาตรการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หนึ่งในนั้นคือการปิดไซต์งานก่อสร้างและแคมป์คนงาน 30 วัน


ระบุว่า “ความอันตรายของการประกาศปิดไซต์งานก่อสร้าง ในโครงการที่มีงานขุดระดับลึกในกรุงเทพฯ การประกาศปิดไซต์งานของ ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19) อย่างกะทันหัน อาจจะทำให้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นได้โดยไม่ตั้งใจ


งานขุดระดับลึกในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นงานที่ยากเเละอันตรายระดับต้นๆ ในงานด้านโยธาในโลกนี้ เพราะพื้นดินกรุงเทพฯ เป็นดินอ่อน แถมปัจจุบันตั้งแต่เราหยุดใช้น้ำบาดาล น้ำใต้ดินใน กทม. ก็ยกระดับสูงขึ้นมาก การขุดระดับลึก คือ ลึกลงไปตั้งแต่ 5 เมตร จนบางที่ถึง 30 เมตร จึงต้องการการควบคุมน้ำใต้ดินตลอดเวลา และต้องมีโครงสร้างกันดินทั้งชั่วคราวและถาวรที่แข็งเเรง รวมถึงต้องทำการตรวจวัดการเคลื่อนตัว ฯลฯ เพื่อปรับมาตรการความปลอดภัยระหว่างก่อสร้าง


ความอันตรายที่สุดคือ ช่วงที่ขุดถึงระดับลึกสุด ที่แรงดันดินและแรงดันน้ำมหาศาลสามารถจะทะลุก้นบ่อขุดขึ้นมา แล้วทำลายทุกสิ่งอย่างจนค้ำยันต่างๆ พังลงแล้วทำให้บ่อขุดยุบพัง ส่งผลให้บ้านข้างเคียงได้รับผลกระทบ ในสภาวะการก่อสร้างปกติ ความอันตรายดังกล่าวได้ถูกควบคุมด้วยวิศวกร ทำให้ปลอดภัย โดยการสูบน้ำใต้ดิน หรือการรีบเทคอนกรีตพื้นล่างสุดเมื่อขุดถึงระดับลึกสุด (Base Slab) เเละเราก็ไม่เคยได้ยินข่าวที่รุนแรงดังกล่าวใน กทม. มากนัก แต่ในสถานการณ์ที่งานขุดกำลังลงไปในระดับลึกและอันตราย เเต่ไซต์ต้องถูกปิดอย่างกะทันหัน ทำให้ไม่มีใครที่จะทำการป้องกันอันตรายดังกล่าว โดยเฉพาอย่างยิ่ง ไซต์ที่กำลังขุดในระดับลึกสุดและยังไม่ได้เท Base Slab ประเด็นนี้อันตรายยิ่งนัก


ข้อเสนอ : อยากขอเสนอให้ ศบค. ออกประกาศเพิ่มเติมเกี่ยวกับการหยุดไซต์งาน ให้มีข้อยกเว้นด้านเวลาสำหรับไซต์ที่ต้องการเวลาในการจัดการด้านความปลอดภัยต่างๆ จริงๆ ไม่ใช่แค่งานขุดที่ผมว่า แต่เรื่องอื่น เช่น อัคคีภัย สารเคมี ฯลฯ โดยน่าจะมีช่วงเวลาหรือให้ทางไซต์ทำแผนด้านความปลอดภัยสาธารณะ เผื่อให้เวลาเพิ่มเติมเพื่อจัดการเรื่องความปลอดภัยดังกล่าว ก่อนจะปิดไซต์ยาวๆ เพราะถ้าปล่อยให้เกิดเหตุขึ้น ใครจะรับผิดชอบ ถ้าไม่ใช่ผู้ประกอบการเอง”


โดย รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ เปิดเผยว่า งานนี้เป็นงานอันตรายอยู่แล้ว เช่น งานก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับงานขุดดิน โดยเฉพาะการขุดในระดับลึก แม้ระหว่างการก่อสร้างที่มีวิศวกรและคนงานควบคุมก็ต้องระวังอยู่พอสมควร แต่หากคนปฏิบัติงานหายไป การเฝ้าระวังก็อาจจะอันตรายขึ้น


ซึ่งตนพูดถึงงานขุดดินในระดับลึก ตั้งแต่ 5 เมตร ถึง 30 เมตร เป็นการก่อสร้างประเภทที่เกี่ยวกับชั้นใต้ดิน อาคารสำนักงาน คอนโด ที่มีชั้นใต้ดิน และสถานีรถไฟฟ้า เป็นต้น เป็นการก่อสร้างที่ลงระดับไปค่อนข้างลึก ยิ่งลงไปลึก ยิ่งมีโอกาสที่ระดับน้ำใต้ดินจะดันย้อนขึ้นมาสูง ซึ่งต้องใส่ใจในความปลอดภัยสาธารณะ หากบ่อที่ขุดพังหรือเคลื่อนตัว บ้านเรือนหรืออาคารข้างเคียงอาจเสียหายได้ รวมถึง การทำโครงสร้างชั่วคราว เช่นการทำค้ำยันเพื่อหล่อแบบ บางทีทิ้งไว้นานๆอาจจะเกิดปัญหาได้ หรือบ้านสำเร็จที่ใช้ผนังมาเชื่อมต่อกัน หากอยู่ระหว่างการเชื่อม แต่ยังไม่สมบูรณ์ แล้วต้องหยุดการก่อสร้าง ก็อาจจะเสียหายได้เช่นกัน


ทั้งนี้ ตนไม่ได้จะขัดในเรื่องการปิดแคมป์เพื่อป้องกันโควิด แต่อาจจะต้องขอเวลาผ่อนผันให้วิศวกรผู้คุมงานได้มีเวลาพิจารณา ประเมินสถานการณ์ เพื่อสร้างมาตรการความปลอดภัยของการหยุดการก่อสร้างระยะยาวไว้ ซึ่งล่าสุด ได้รับแจ้งจากศบค.อย่างไม่เป็นทางการว่า หากโครงการไหน บริษัทไหน เกรงจะไม่ปลอดภัยและอาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะก็ให้ทำเรื่องเสนอขอผ่อนผันไปที่ศบค.จะพิจารณาเป็นรายๆในแต่ละโครงการไป


ขณะที่ ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ไม่ใช่แค่เพียงโครงการขุดเจาะระดับลึกเท่านั้น ยังมีโครงการก่อสร้างหลายๆอย่างที่ดำเนินการค้างไว้ อาจส่งผลต่อความปลอดภัยต่อสถานที่ใกล้เคียงและสาธารณะชน ทางวิศวกรรมสถานฯ หรือผู้ก่อสร้างพร้อมให้ความร่วมมือกับมาตรการปิดไซต์ก่อสร้าง แต่ขอให้เว้นเป็นรายกรณี ซึ่งในวันนี้ (29 มิ.ย.) จะรวบรวมข้อมูล เพื่อนำเสนอถึงรัฐในโครงการที่สามารถผ่อนผันได้ พร้อมแถลงข้อเท็จจริงในมุมของสภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ

คุณอาจสนใจ

Related News