สังคม

กมธ.ที่ดิน สภาฯ ลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ติดตามการแก้ปัญหาชาวบางกลอย

โดย weerawit_c

11 มี.ค. 2564

19 views

นายอภิชาติ ศิริสุนทร ประธานคณะกรรมาธิการที่ดินฯ สภาผู้แทนราษฎร ประชุมร่วมกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยมีนายพิชัย ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่ที่ 3 และ นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี หลังเกิดปัญหาชาวบางกลอย อพยพกลับบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เนื่องจากขาดที่ดินทำกิน จนนำมาซึ่งการจับกุมของอุทยานแห่งชาติและสิ่งแวดล้อมในข้อหาแผ้วถางและบุกรุกป่า ซึ่งมีการประกาศเขตอุทยาน 



ในขณะที่ชาวบ้านอ้างสิทธิทำกินตั้งแต่บรรพบุรษ ทำให้คณะกรรมาธิการที่ดิน ต้องรวบรวมข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะเรื่องที่ดิน ซึ่งจะมีการขอภาพถ่ายแผนที่ทหาร แผนที่ดาวเทียม เพื่อให้มีชุดข้อมูลเดียวกันในการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงพื้นที่บางกลอยล่างที่อพยพชาวบ้านมาตั้งแต่ปี 2539 แต่บางรายยังไม่มีที่ดินทำกิน ทำให้ต้องอพยพกลับไปที่ตั้งชุมชนดั้งเดิม และเป็นที่มาของปัญหาที่ต้องแก้ให้ตรงจุด



ภาพปฏิบัติการเมื่อวันที่ 5 มีนาคม ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นำหมายจับไปแสดงกับชาวบางกลอย 30 ราย ที่บริเวณบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ซึ่งยืนยันว่าปฏิบัติตามกฏหมายและหลักมนุษยธรรม โดยทาง นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ได้จัดเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และสหวิชาชีพ รวมทั้งล่าม มาร่วมปฏิบัติงานภายใต้ความปลอดภัย เนื่องจากต้องนำตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งมีทั้งเด็ก ผู้หญิง ผู้พิการ และผู้สูงอายุ จึงต้องมีเจ้าหน้าที่ผู้หญิงไปด้วย ส่วนการมัดมือไพล่หลัง ยืนยันว่า มีเพียง 3 คนที่ขัดขืน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องขอมัดมือ 



เนื่องจากต้องนำตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์เพื่อความปลอดภัย มีการนำอาหาร ขนมไปให้ และเมื่อนำมาที่อุทยาน ก็มีการตรวจสุขภาพ ส่วนการตรวจดีเอ็นเอ ทางพนักงานสอบสวน ระบุว่ามีคดีล่าสัตว์ป่าและเก็บไว้เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์สัญชาติด้วย โดยระหว่างปฏิบัติหน้าที่มีอัยการมาให้คำปรึกษา ส่วนการยึดโทรศัพท์ ยอมรับว่าเก็บไว้ 12 เครื่อง และแจ้งให้มารับไปแล้ว



ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 ชี้แจงด้วยว่า อุทยานดำเนินการตามขั้นตอน ตั้งแต่การเจรจา และรวบรวมหลักฐานจนออกหมายจับ และหากเจ้าหน้าที่ไม่รักษากฏหมายอาจถูกฟ้องละเว้นปฏิบัติหน้าที่เพราะบริเวณนั้นไม่สามารถทำกินได้และพบการบุกรุกแผ้วถาง และกำลังตรวจสอบสิทธิทำกินของชาวบางกลอย 57 ครอบครัวที่อพยพมาเมื่อปี 2539 ซึ่งพบว่าปัจจุบันมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่เกษตรที่กำลังแก้ปัญหาแหล่งน้ำ และในการประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการที่ดิน ยังมีสมาคมรักษ์ป่าแก่งกระจาน และคณะทำงานกระทรวงทรัพยากรที่สนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่อุทยานในการรักษาป่าต้นน้ำเพชร และเห็นด้วยให้ชาวบางกลอยอยู่ในพื้นที่ที่จัดสรรให้ในปัจจุบัน



ในที่ประชุมยังถกเถียงถึงความเป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ความเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่ ส.สชาติพันธุ์ มองว่า เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ต้องแก้ไขด้วย การลงพื้นที่ของคณะกรรมาธิการที่ดิน สภาผู้แทนราษฏร ยังมีผู้แทน สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ UNOHCHR มาร่วมสังเกตุการณ์ด้วย

คุณอาจสนใจ

Related News