ต่างประเทศ

'จาตุรนต์-ณัฐวุฒิ' จวก 'ดอน' คิดได้ไง หลังเชิญชาติอาเซียน ถกวิกฤตเมียนมา

โดย weerawit_c

18 มิ.ย. 2566

1.4K views

วานนี้ (17 มิ.ย.) รอยเตอร์รายงานว่า รัฐบาลรักษาการของไทย กำลังเสนอให้มีการ “มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่อีกครั้ง” กับผู้นำทหารเมียนมา และได้เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศ ประเทศในอาเซียน มาเข้าร่วมประชุมอย่างไม่เป็นทางการ ในวันอาทิตย์ เพื่อหารือเกี่ยวกับแผนสันติภาพที่ชะงักงันไป


รอยเตอร์เปิดเผยว่า จดหมายดังกล่าวได้มีขึ้นในวันที่ 14 มิถุนายน โดยนายดอน ปรมัตถ์วินัย ได้เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ซึ่งได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าว 3 แหล่ง ที่รับรู้เกี่ยวกับการประชุมนี้


ในการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อเดือนที่แล้ว ผู้นำอาเซียนต่างเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงในเมียนมาโดยทันที ซึ่งการเคลื่อนไหวครั้งนี้ของประเทศไทยทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อความเป็นเอกภาพของอาเซียน


แหล่งข่าว 3 แหล่งเปิดเผยว่า อินโดนีเซีย ประธานอาเซียน ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซียระบุว่า “ไม่เคยได้ยิน” เกี่ยวกับคำเชิญดังกล่าว


ขณะที่วิเวียน บาลากริชนัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสิงคโปร์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์ในพม่ายังไม่พัฒนาขึ้น จึงยังเร็วเกินไปที่จะสานสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารอีกครั้ง ในระดับการประชุมสุดยอด หรือแม้แต่ในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ


ด้านกระทรวงการต่างประเทศของไทยปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นกรณีดังกล่าว และคาดว่าประเทศไทยจะมีรัฐบาลใหม่ในเดือนสิงหาคม ซึ่งจากผลคะแนนเลือกตั้งเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลจากฝ่ายทหารพ่ายแพ้


รอยเตอร์ระบุว่า ตลอดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ผู้นำระดับสูงรัฐบาลทหารพม่าถูกอาเซียนห้ามไม่ให้เข้าร่วมการประชุมระดับสูง เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงปี 2564 หรือที่เรียกว่า “ฉันทามติ 5 ประการ” ยกเว้นท่าทีของรัฐบาลไทยที่ทำสวนทางกับอาเซียน


รอยเตอร์ยังระบุอีกว่า รัฐบาลไทยซึ่งมีนายกฯที่ขึ้นสู่อำนาจครั้งแรกด้วยการรัฐประหาร ได้พยายามดึงเจ้าหน้าที่ทหารของเมียนมากลับสู่การเจรจาอย่างไม่เป็นทางการกับประเทศในอาเซียน ซึ่งบางครั้งสวนทางกับอินโดนีเซีย


ในจดหมายของนายดอนได้ระบุว่า การประชุมดังกล่าวเป็น “ส่วนหนึ่งของจุดเริ่มต้น” ของกระบวนการสันติภาพ และอ้างถึงการประชุมสุดยอดที่ “ชาติสมาชิก” ได้แถลงอย่างชัดเจนว่า อาเซียนควรกลับมามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่กับเมียนมาในระดับผู้นำ


ทั้งนี้ รอยเตอร์ระบุอีกว่า หลังจากพรรคก้าวไกลได้ที่นั่งมากที่สุดในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม ได้ส่งสัญญาณว่าหากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็จะมีนโยบายกับพม่าที่แตกต่างไปจากเดิม


ด้านสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานถึงประเด็นนี้เช่นกัน โดยมีข้อมูลเพิ่มเติมซึ่งอ้างเจ้าหน้าที่ที่ใกล้ชิดกับเรื่องนี้เปิดเผยว่า มาเลเซียจะไม่ร่วมการประชุมที่มีการเสนอมา แต่รัฐบาลกัมพูชาระบุว่า รัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชาจะเข้าร่วมการหารืออย่างไม่เป็นทางการดังกล่าวที่มีขึ้นเป็นเวลา 2 วันที่กรุงเทพฯ


ด้าน นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้ทวีตแสดงความคิดเห็นกรณีดังกล่าวว่า รัฐบาลรักษาการไม่พึงแต่งตั้งแยกย้ายข้าราชการระดับสูง ไม่พึงอนุมัติงบประมาณใหม่ๆ


โดยเฉพาะงบผูกพันไป เขาจึงห้ามทำสิ่งเหล่านี้ การดำเนินนโยบายต่างประเทศในเรื่องสำคัญมีผลดีหรือร้ายยิ่งกว่าการอนุมัติงบประมาณหรือการแต่งตั้งข้าราชการเสียอีก รัฐบาลรักษาการจึงยิ่งไม่ควรทำ


รัฐบาลทหารเมียนมามาจากการยึดอำนาจ และได้สังหารประชาชนไปอย่างโหดเหี้ยม ถูกประณามไปทั่วโลก ไม่จำเป็นยิ่งยวดจริงๆ รัฐบาลไทยไม่ควรเชิญมาประเทศไทย ยิ่งไปทำอะไรที่ไม่สอดคล้องกับประเทศในอาเซียนด้วยกันยิ่งไม่ควรทำ ถึงขนาดอินโดนีเซีย ประธานอาเซียนไม่มานี่ รัฐบาลรักษาการของไทยต้องทบทวนตัวเองแล้ว


การดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างที่กำลังทำอยู่นี้เป็นเรื่องที่ผูกพันไปข้างหน้า เป็นผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย เป็นภาระของคนไทยทั้งประเทศ รัฐบาลรักษาการจึงไม่ควรทำไปอย่างไร้ความรับผิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศควรจะรู้ขนบธรรมเนียมในเรื่องนี้ดีกว่าใคร แต่กลับไม่รู้แม้แต่มารยาทเบื้องต้นได้อย่างไร”


ขณะที่ด้าน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย อดีตแกนนำ นปช. ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ "รัฐบาลประยุทธ์โอบรับ สนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมาร์มาตลอด ล่าสุดดอน รมว.ตปท.จะเชิญอาเซียนหารือเรื่องพม่า คิดได้ไง รัฐบาลคุณแพ้ไปแล้ว รัฐบาลใหม่กำลังจะมา จุดยืนและท่าทีเรื่องนี้ต่างจากพวกคุณแน่ รับผิดชอบต่อเผด็จการในภูมิภาค แต่ไม่เคารพอำนาจประชาชนในประเทศที่ลงคะแนนเลือกตั้ง"



https://youtu.be/Hg53Pi3aLaE

คุณอาจสนใจ

Related News