ตัวแทนบริษัทรับจำนำแบรนด์เนม แจ้งความ "ดิว อริสรา" ข้อหาฉ้อโกง นำสร้อย "Bvlgari" มาขายฝาก

ทนายวิฑูรย์ พร้อม ตัวแทนบริษัทแบรนด์เนมมันนี่ เข้าแจ้งความเอาผิด ดิว อริสรา ข้อหาฉ้อโกง หลังนำสร้อย Bvlgari มาจำนำ แล้วอ้างว่าเป็นของตัวเอง ระบุ ในอนาคต สามารถเจรจากันได้แต่เจ้าตัวคือ ดิว จะต้องมาเจรตาด้วยตนเอง ตัวแทนบริษัทเผย ที่ผ่านมา ดิวจ่ายดอกเบี้ย ทุกเดือน มีหลักฐานครบ ไม่กังวลว่า เป็นเรื่องรับของโจร เพร่ะมีหลักฐานครบ

นายวิฑูรย์ เก่งงาน ในฐานะทนายความของบริษัทแบรนด์เนม มันนี่ ซึ่งเป็นบริษัทที่ ดิว อริสรา เอาสร้อย Bvlgari มารับขายฝากไว้จำนวนเงิน 7ล้านบาท พร้อมด้วย นางสาวณัฐจุฑา ปุณณธนาวัฒน์ ตัวแทนบริษัทแบรนด์เนม มันนี่ จำกัด นำหลักฐานทั้งหนังสือรับรองบริษัท หนังสือมอบบอำนาจ สัญญาขายฝาก 4 ฉบับ ทั้งสัญญาฉบับแรกและสัญญาต่อขยาย , ภาพถ่ายสร้อย , หลักฐานการโอนเงิน และหลักฐานการจ่ายดอกเบี้ย เข้ามาแจ้งความดำเนินคดีกับ คุณดิว อริสรา ในข้อหาฉ้อโกง ที่ สน.ปทุมวัน


โดย ทนายวิฑูรย์ บอกว่า วันนี้พาผู้รับมอบอำนาจบริษัทแบรนด์เนม มันนี่ มาแจ้งความคุณดิว ในข้อหาฉ้อโกง เพราะคุณดิว เอาสร้อยมาบอกบริษัทว่า เป็นของตัวเขาเอง เพื่อให้ได้เงินบริษัทไป ซึ่งเป็นการปกปิดข้อเท็จจริง ทุจริต หลอกลวง และเป็นสัญญาขายฝากแต่ 19 ส.ค. จนมีการต่อสัญญามาเรื่อยๆ รวมการต่อสัญญาทั้งหมด 4 ฉบับ และยืนยันว่าที่ผ่านมา ยังไม่มีการร่างสัญญาพูดคุยกับทนายความของคุณดิว ซึ่งไม่ทราบว่าคุยกับใคร แต่ทางบริษัทต้องรักษาสิทธิตามกฎหมาย เพราะบริษัทได้รับความเสียหาย ในการทำธุรกิจถูกหลอกลวงโดยทำให้เชื่อว่าทรัพย์สินเป็นของลูกหนี้แล้วเอามาขายฝากไว้

ขณะที่ ตัวแทนบริษัทแบรนด์เนม มันนี่ จำกัด บอกด้วยว่า การทำสัญญาขายฝากของคุณดิว มีการทำสัญญาวันที่ 19 ส.ค. ซึ่งในวันดังกล่าว ทางบริษัทได้สอบถามใบเซอร์แล้ว ทางคุณดิวแจ้งว่าอยู่อีกที่ และบริษัทเป็นการทำธุรกิจสินเชื่อ จึงไม่ได้ต้องการของฟลูเซ็ทมาขายต่อ แต่เป็นการรับฝาก แม้ไม่มีอุปกรณ์ครบ ก็รับขายฝากได้ แต่ราคาจะลดหลั่นไป ซึ่งวันที่รับขายฝากได้มาแค่สร้อยกับกล่อง และไม่ได้ทวงถามใบเซอร์ต่อหลังจากนั้น และการรับฝากขายสินค้าแบรนด์เนมไม่สามารถไปเช็กกับช็อปได้ว่าเป็นของใคร เพราะตีเป็นสินค้ามือสอง ซึ่งชื่อที่มาขายฝากเป็นชื่อของคุณดิว มีการทำธุรกรรมและเซ็นต์สัญญาถูกต้องทั้งหมด โดยเป็นการทำสัญญาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ มีบัตรประชาชนและมีการลงนามในสัญญา และในวันที่ทำสัญญาก็ไม่ได้กังวลว่าจะถูกหลอก

ส่วนจะมีความเสี่ยงเป็นการรับของโจรหรือไม่ ตัวแทนบริษัทฯ ยืนยันว่า บริษัทมีสัญญาขายฝากชัดเจน และในสัญญาลูกค้าจะต้องถ้อยแถลงว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิแต่เพียงผู้เดียวไม่ได้ทุจริตมา ซึ่งหากตรวจสอบพบว่าไม่ใช่เข้าของกรรมสิทธิ์ ก็จะต้องดำเนินการ

ส่วนจะมีการคืนของให้กับคุณเมย์หรือไม่ ทนายวิฑูรย์ ตอบคำถามนี้ว่า ให้เป็นเรื่องหลังจากนี้ เพราะเป็นกระบวนการของกฎหมาย เนื่องจากวันแรกที่บริษัทรับมาเข้าใจโดยสุจริตว่าเป็นของคุณดิว ส่วนเรื่องราคา บริษัทตีเป็นของมือสองแล้ว และเป็นราคาขายฝากในการรับฝากสินค้า โดยต้องเผื่อสินเชื่อให้เขาไถ่ของคืน เหมือนกับโรงจำนำ หลักการเดียวกัน โดยบริษัท คิดอัตราดอกเบี้ย สูงสุด 15% ต่อปี และคุณดิว ส่งดอกเบี้ยตรงเวลาทุกเดือน ตั้งแต่ส.ค. -มี.ค.ก่อนจะเป็นข่าว ดอกเบี้ยมีการโอนชำระทุกเดือน คิดดอกเบี้ยที่ผ่านมา 1.25% ตามกฎหมายกำหนด โดยชื่อที่โอนชำระดอกเบี้ย เป็นชื่อคุณดิว

ขณะที่ ตัวแทนบริษัท บอกเพิ่มเติมว่า เรื่องคืนของให้เป็นไปตามกฎหมาย เพราะของต้องกลับไปคืนเจ้าของอยู่แล้ว พร้อมขอสื่อมวลชนด้วยว่า อย่าให้สื่อมาการกดดันการคืน เพราะเราเป็นผู้เสียหาย เงิน 7 ล้าน ไม่น้อย และเราทำธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา จึงต้องปกป้องชื่อเสียงของบริษัท จึงจำเป็นต้องดำเนินการทางกฎหมายกับคุณดิว แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่อยากให้เข้าใจเรื่องกระแสการคืนของ อยากให้สังคมเข้าใจด้วย

ส่วนโอกาสที่จะเจรจากันได้หรือไม่นั้น ตัวแทนบริษัท ย้ำว่า ขอดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายก่อน และมีขั้นมีตอน ทำบนสัญญาที่ถูกต้องทั้งหมด ตอนนี้จึงยังเจรจาไม่ได้ แต่หลังจากนี้จะมีการเจรจาแน่นอน

ทนายวิฑูรย์ บอกเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องการเจรจา ว่าจะต้องเป็นการเซ็นรับสภาพหนี้หรือไม่ ว่า การเซ็นรับสภาพหนี้ต้องดูว่าเป็นหนี้หรือไม่ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของการหลอกลวงว่าเป็นทรัพย์สินของตัวเองเอามาขายฝาก ซึ่งเป็นการหลอกลวงเป็นคดีอาญาและข้อหาฉ้อโกง เป็นความผิดที่ยอมความถอนคำร้องทุกข์ได้ ก็สามารถคุยกันได้ว่าจะรับผิดชอบอย่างไร ในอนาคตถ้าคุยกันจบและเยียวยาอะไรมาบ้างก็ค่อยพิจารณาอีกครั้ง

“แต่นโยบายหลักๆ ที่พูดคุยกับผู้บริหารบริษัท การเจรจา การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เจ้าตัวคือคุณดิว จะต้องบินกลับมาพูดคุยด้วยตนเอง เพื่อให้ตัวความ มานั่งเจรจาด้วยกัน จะทำให้บรรยากาศดีกว่าเยอะ”

โดย nutda_t

23 มี.ค. 2568

3.1K views

EP อื่นๆ