'สว.วรพงษ์' ค้านชนฝา แสดงจุดยืนต้าน 'สมรสเท่าเทียม' อ้างจะสะเทือนสถาบันครอบครัว

ยอมไม่ได้ “สว.วรพงษ์” ค้านชนฝา แสดงจุดยืนต้าน “สมรสเท่าเทียม” ขอเปลี่ยนนิยามกลับมาเป็น “ชายหญิง” แทน “บุคคล” แทบทุกมาตรา อ้างจะสะเทือนสถาบันครอบครัว ถามเพื่อน สว.ไม่เอะใจบ้างหรือ ซัดจะเป็นการ “เซาะกร่อนบ่อนทำลาย” ครอบครัว มองแก้กฎหมายแบบนี้ เป็นการกดเพศ “ชายหญิง” ลงไปอยู่กับกลุ่ม LGBTQ


วันที่ 18 มิ.ย. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา สมัยวิสามัญ ที่มีพลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (สมรสเท่าเทียม) ซึ่งผ่านการพิจารณาในชั้น สส. และคณะกรรมาธิการวิสามัญ วุฒิสภาพิจารณาเสร็จแล้ว จำนวน 69 มาตรา


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศเป็นไปอย่างราบรื่น เนื่องจาก สว.ส่วนใหญ่ เห็นพ้องเหมือนคณะกรรมาธิการ โดยมีสมาชิกอภิปราย 1-2 คนในแต่ละมาตรา ซึ่งหนึ่งในคนที่เป็นที่สังเกตคือ พลเอก วรพงษ์ สง่าเนตร เป็น สว.ที่ขอสงวนคำแปรญญัตติแทบทุกมาตรา โดยพยายามเปลี่ยนนิยามของคำ เช่น คำว่าคู่สมรส เปลี่ยนเป็นสามีภรรยาหรือคู่สมรส , คำว่าบุคคล เปลี่ยนเป็นชายและหญิง หรือผู้หมั้น


โดยในที่ประชุม พลเอกวรพงษ์ ย้ำว่าตนไม่เห็นด้วยกับวิธีการและหลักการในการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ การเอาคำว่าสามีภรรยา เพศชาย เพศหญิงออกไป และใช้คำอื่นมาแทน เช่น คู่สมรสอคู่หมั้น ซึ่งไม่ได้ระบุเพศที่ชัดเจนมาแทนอโดยอ้างว่าเพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม การแก้ไขแบบนี้ตนถือว่าเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันครอบครัวอย่างรุนแรงที่สุด เพราะสถาบันครอบครัวเป็นสถาบันที่สำคัญของสังคมไทย และอยู่ในสภาพที่เปราะบาง การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้สถาบันครอบครัวพังทะลายลงเร็วขึ้น


“ถ้าถามว่าครอบครัวประกอบด้วยใครบ้าง ถามเด็ก ถามใคร ถามผู้ใหญ่ ถามที่โรงเรียน เราก็จะบอกว่าประกอบด้วยพ่อแม่ลูกพ่อคือผู้ชายแม่คือผู้หญิงหรืออาจจะบอกว่าประกอบด้วยสามีภรรยาและบุตรสามีคือผู้ชายภรรยาคือผู้หญิง บุตรก็ว่าไป คำพวกนี้ เขามีความหมาย และระบุเพศไว้ชัดเจนว่าเพศอะไร เพศกำเนิด ที่สำคัญคือคำว่าสามีภรรยาจะปรากฏอยู่ในกฎหมายฉบับนี้เป็นที่แรก เพราะเกิดจากการสมรส ถ้าเอาออกไปจะหายไปจากสารบบภาษาไทย จะสะเทือนถึงสถาบันครอบครัว ไปถึงเรื่องเพศชายเพศหญิง” พลเอกวรพงษ์ กล่าว


พลเอกวรพงษ์ กล่าวต่อว่า การแก้ไขตรงนี้จะบานปลายต่อไปอีก เพราะฉะนั้นต้องคิดให้ดี ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร ตนจึงบอกว่าการแก้กฎหมายแบบนี้ไม่ได้เป็นการยกระดับ LGBTQขึ้นมาให้เท่าเทียมกับเพศชายเพศหญิง แต่เป็นการกดเพศชายเพศหญิงลงไปให้เข้ากับ LGBTQ จะทำให้ภาพเบลอไม่ชัด


“LGBTQ ก็จะไปเรียกร้องให้แก้แบบเรียน มหาดไทยต่างๆ เพื่อให้เข้าไปในกลุ่มของท่าน ทะเบียนสมรสก็ออกแบบใหม่อีกแล้ว ไม่มีผู้ชายชื่ออะไร ผู้หญิงชื่ออะไร ผมติดใจการแก้ไขกฎหมาย ทำไมท่านถึงไม่เอะใจ ว่ากฎหมายฉบับนี้จะก่อให้เกิดปัญหาอะไรบ้าง” พลเอกวรพงษ์ กล่าว


พลเอกวรพงษ์ ระบุว่าการแก้ไขกฎหมายแบบนี้ได้ 10 เสีย 90 สังคมสภาพครอบครัวถูกเซาะกร่อนทำลาย ถ้าไม่ตั้งใจก็ถือว่าดี แต่ถ้าตั้งใจก็ถือว่าแย่มาก ตนขอให้พอ ยังกลับตัวทัน พร้อมขอให้เพื่อนสมาชิกฟังตนอธิบายด้วยความรอบคอบก่อนที่จะลงมติ

โดย chawalwit_m

18 มิ.ย. 2567

206 views

EP อื่นๆ