ก.เกษตรฯ รับ 9 มาตรการ จากสมาคมการประมงฯ เพื่อแก้ปัญหาการระบาด เตรียมนำร่องรับซื้อ 1 ส.ค.นี้

ปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำ โดยเฉพาะในประเด็นข้อมูลของฝ่ายรัฐ กับ เอกชน ไม่ตรงกัน คำชี้แจงของ ซีพีเอฟ ที่ระบุว่า ปลาที่ขออนุญาตนำเข้ามาวิจัย ได้ตายไปตั้งแต่ปี 2554 ขณะที่เมื่อวานนี้ อธิบดีกรมประมง กลับเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่กรมประมง เคยเข้าไปตรวจสอบในศูนย์วิจัย ยังพบปลาหมอคางดำ และยังได้ตัดครีบมาเก็บไว้เป็นหลักฐาน หรือแม้แต่ข้อมูลที่ฝ่ายเอกชนบอกว่า ปี 54 ได้ดองซากปลาหมอคางดำ 50 ตัว ส่งให้กรมประมง ขณะที่อธิบดีกรมประมง บอกว่า ตรวจสอบแล้ว ไม่พบซากปลาดองดังกล่าว ข้อมูลสองฝ่ายที่ไม่ตรงกันนี้ เอง การสอบสวนหาข้อเท็จจริง จึงต้องดำเนินไป ขณะที่ การแก้ปัญหาการระบาด ก็ต้องดำเนินการควบคู่ไปด้วย


โดยวันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับข้อเสนอ 9 มาตรการ จากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เตรียมนำร่องรับซื้อปลาหมอคางดำ ที่จังหวัดสมุทรสาคร วันที่ 1 สิงหาคมนี้


ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ติดตามการแก้ไขปัญหา ปลาหมอคางดำ พร้อมทั้งได้หารือกับตัวแทน 16 องค์กรในพื้นที่ โดยสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหา 9 มาตรการ เช่น เสนอให้รัฐบาลกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน / ออกประกาศผ่อนผันเครื่องมือประมงพื้นบ้านที่เหมาะสมกับการจับปลาหมอคางคำ / การออกประกาศให้จับได้ในเขตอภัยทาน หลังการหารือกว่า 2 ชั่วโมง ร้อยเอกธรรมนัส ได้ให้สัมภาษณ์ ว่าเบื้องต้นปัญหานี้ถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่กำลังจะเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยแนวทางการแก้ไขปัญหา จะเริ่มประกาศใช้จริงในวันที่ 1 สิงหาคม โดยในระหว่างนี้ให้ประมงจังหวัดแต่ละจังหวัด พิจารณาแนวทางการแก้ไขข้อประกาศ กรณีเรื่องของเรือประมงเพื่ออนุญาตให้ล่าปลา หมอคางดำได้ มาตรการอื่นเช่นการรับซื้อปลาหมอคางดำ มอบหมายให้การยางแห่งประเทศไทย ดำเนินการจัดทำงบประมาณ สำหรับการรับซื้อ ปลาหมอคางดำ ในราคากิโลกรัมละ 15 บาทและมีค่าบริหารจัดการให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในราคา 5 บาท ซึ่งเท่ากับจัดให้มีการรับซื้อปลาหมอคางดำในราคากิโลกรัมละ 20 บาท


ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ยังได้เตือนกลุ่มเกษตรกรและชาวบ้านบางรายที่มีพฤติกรรมตระเวนรับซื้อปลาหมอคางดำในราคาถูก เพื่อนำมาขายให้กับภาครัฐ หรือบางรายลักลอบเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำเพื่อจะนำมาขายกับโครงการ ขอเตือนว่าไม่ควรทำเพราะมีความผิด โดยมีอัตราโทษผู้เพาะเลี้ยงจำคุก ไม่เกินหนึ่งปีปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท ส่วนผู้ที่ปล่อย ปลาหมอคางดำ จะมีโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้าน บาท


ส่วนประเด็นการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ซึ่งในขณะนี้กรมประมงได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงโดยโดยมีการเรียกผู้ประกอบการ 11 รายซึ่งเคยขออนุญาตส่งออก ปลาหมอคางดำ มาให้ข้อมูล ยังไม่มีการสรุปชี้ชัดการระบาด เกิดจากผู้ประกอบการรายใด ซึ่งจะครบกำหนดในวันอังคาร 30 กรกฏาคมนี้ หากได้ข้อสรุปแล้วจะออกมาชี้แจงต่อสาธารณะ ซึ่งหากพบว่าเกิดจากผู้ประกอบการรายใด ที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดการระบาดของปลาหมอคางดำ อาจต้องมีการดำเนินการและเรียกค่าเสียหาย เพื่อชดเชยต่อประชาชน แต่ตอนนี้ทุกอย่างยังไม่ชัดเจนไม่ขอระบุว่าผู้ประกอบการ ที่มีการกล่าวถึงต้นตอของการแพร่ระบาดในครั้งนี้หรือไม่

โดย parichat_p

22 ก.ค. 2567

62 views

EP อื่นๆ