เศรษฐกิจ

ภาคธุรกิจ-โรงแรม ร้องอีกรอบ วอนรัฐช่วยตรึงค่าไฟ หวั่นขึ้นพรวดดันสินค้าพาเหรดขึ้นราคา

โดย petchpawee_k

24 ธ.ค. 2565

100 views

วันที่ 23 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน นำโดยผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และผู้แทนจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดแถลงข่าวเรื่อง ผลกระทบจากการขึ้นค่าไฟฟ้าและข้อเสนอของภาคอุตสาหกรรม การค้าและบริการ การเงิน หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศผลการคำนวณค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 โดยให้คงอัตราค่าไฟฟ้าประเภทบ้านที่อยู่อาศัยรวมเฉลี่ยที่ 4.72 บาทต่อหน่วย แต่ปรับขึ้นในส่วนของอัตราค่าไฟฟ้าประเภทอื่นๆโดยเฉพาะภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม เป็น 5.69 บาทต่อหน่วย


นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลทบทวนค่าไฟฟ้าโดยการตรึงไว้คงเดิมเพราะหากปรับขึ้นตามที่ กกพ.ประกาศจะกระทบ 3 ด้านได้แก่ 1.ความสามารถการแข่งขันของประเทศที่ปี 2566 อาจจะลดลงไปอีกจากปีนี้ที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับลดลงถึง 5 อันดับจากปีที่ผ่านมา ไปอยู่อันดับที่ 33 2. เป็นห่วงสถานการณ์เงินเฟ้อที่จะเพิ่มขึ้นเพราะค่าไฟฟ้าที่จะทำให้ต้นทุนราคาสินค้าปรับขึ้นเฉลี่ย 5-12% และ 3. กระทบต่อการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยเฉพาะคู่แข่งทางการค้าและการลงทุนอย่างเวียดนามที่มีค่าไฟภาคอุตฯเพียง 2.88 บาทต่อหน่วยเท่านั้น

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้มีการประเมินว่าการปรับขึ้นค่าเอฟทีครั้งนี้จะกระทบต่อเงินเฟ้อไทยปี 2566 เพิ่มขึ้น 0.5% ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดิมในปี 2566 ที่คาดว่าจะอยู่ระดับ 3% จะเป็น 3.5% กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจให้หยุดชะงักได้

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจีกล่าวว่า เอสซีจีพยายามจะยืนระดับราคาสินค้าไว้ให้ได้มากที่สุด โดยปีนี้กลุ่มเอสซีจีได้ปรับขึ้นราคาสินค้าในกลุ่มไปแล้วเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20% หากค่าไฟฟ้าในปีหน้าปรับขึ้นอีกยอมรับก็ต้องพิจารณาปรับเพิ่มอีก 20% ยอมรับว่าภาคเอกชนมีความกังวล เพราะค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นจะทำให้บริหารกิจการได้ลำบาก เพราะบางรายหากสู้ไม่ได้ก็ต้องหยุดกิจการไป หรือก็ต้องปรับราคาสินค้า “ขณะนี้โจทย์เศรษฐกิจเปลี่ยนไป จึงอยากให้รัฐบาลปรับสมมติฐานใหม่ภายใต้โจทย์เศรษฐกิจระยะข้างหน้า”

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทยกล่าวว่า กลุ่มค้าปลีก 80% เป็นเอสเอ็มอีที่ผ่านมาประสบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งดอกเบี้ย ค่าแรง โดยขณะนี้มูลค่าค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าคิดเป็นเงิน 30,000 ล้านบาทต่อปี หากต้องปรับเพิ่มค่าเอฟที จะมีผลให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นอีกกว่า 20% หรือ 8,000 ล้านบาท ดังนั้นเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี 2.4 ล้านราย และการจ้างงานรวม 13 ล้านคน จึงอยากให้ตรึงค่าไฟฟ้าออกไป


ด้านนางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทยกล่าวว่า โควิด-19 ที่เกิดขึ้นเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจโรงแรมและที่พักมีต้นทุนภาระหนี้สินที่รอการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว โดยค่าไฟฟ้าเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุด ซึ่งปกติไม่เกิน 5% ของรายได้ แต่ปัจจุบันปรับสูงถึง 6-8% จึงอยากขอของขวัญจากรัฐบาลในการช่วยตรึงค่าไฟฟ้าตลอดปี 2566


https://youtu.be/c6WRyPZVLiY

คุณอาจสนใจ

Related News