เศรษฐกิจ

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ ตรึงราคาหน้าฟาร์ม 110 บาท/กก. - คาดอาหารสัตว์แพงลากยาวอีก 6 เดือน

โดย pattraporn_a

11 ม.ค. 2565

37 views

กรมปศุสัตว์ ก็ออกมายอมรับครั้งแรก ว่ามีโรค ASF ในสุกรจริง ซึ่งก็ต้องเร่งควบคุมกันต่อไป / แต่ในส่วนของราคา สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ประกาศตรึงราคาหมูเป็นหน้าฟาร์ม 110 บาทต่อกิโลฯ เท่ากันทั่วประเทศ พร้อมคัดค้านการนำเข้าหมูจากต่างประเทศ


สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ประกาศรายงานข้อมูลสภาวะตลาดสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม สัปดาห์ที่ 2 ประจำวันพระที่ 10 มกราคม 65 ว่า ภาครัฐ และสถาบันการเงิน โดยเฉพาะ ธกส.พร้อมช่วยกันฟื้นฟูเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนทั่วถึง


พร้อมยืนยันว่า ยังไม่ถึงจุดจำเป็นที่ต้องมีการนำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศ เนื่องจากต้องพิจารณาผลกระทบทั้งห่วงโซ่ แนวโน้มตลาดหลังจากสัปดาห์นี้น่าจะเริ่มทรงตัว หลังผู้บริโภคบริหารจัดการอาหารโปรตีนได้ดีขึ้น


สำหรับโครงสร้างราคาจำหน่ายปลีกเนื้อสุกรที่มีการประชุมระหว่างสัปดาห์ โดยผู้ค้าปลีก ค้าส่ง เห็นชอบโครงสร้างราคา ที่จะไม่ไปเพิ่มภาระผู้บริโภคปลายทางมากนัก จึงได้ตรึงราคาจำหน่ายหมูเป็นหน้าฟาร์ม ที่กิโลกรัมละ 110 บาทเท่ากันทั้งประเทศ ส่วนราคาแนะนำเนื้อแดง ขายส่ง 176 บาท ขายปลีก 218-220 บาทต่อกิโลฯ


ขณะที่ราคาหมูขายปลีก กรมการค้าภายใน เตรียมของบกลาง เพื่อเพิ่มจุดจำหน่ายหมูราคากิโลกรัมละ 150 บาท เพิ่มอีก 1,500 จุดทั่วประเทศ จากปัจจุบัน 600 จุด ถึงสิ้นเดือนมกราคมนี้ นอกจากนี้ยังได้จับมือกับกรมปศุสัตว์ ในการตรวจสอบและติดตามกลุ่มผู้ผลิตและฟาร์มเพื่อแจ้งปริมาณหมูมีชีวิตและหมูสำเร็จ ป้องกันการพยายามนำออกขายต่างประเทศให้มากที่สุด และกรมปศุสัตว์จะพยามผลักดัน เกษตรกรรายย่อยให้กลับมาเลี้ยงหมู


ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ สั่งตรึงราคาไก่หน้าฟาร์ม 6 เดือน ช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชน พร้อมประสานกรมปศุสัตว์และผู้เลี้ยง เร่งเพิ่มผลผลิตภายใน 45 วัน


นายวัฒนศักดิ์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ได้ขอความร่วมมือผู้เลี้ยง ร่วมตรึงราคาจำหน่ายไก่มีชีวิตหน้าฟาร์ม และราคาจำหน่ายปลีกชิ้นส่วนไก่สด เป็นระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่วันนี้ (11ม.ค.) จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 65


โดยไก่มีชีวิต ให้ตรึงราคาไว้ที่ 33.50 บาทต่อกิโลกรัม , ไก่สดรวมและไม่รวมเครื่องใน 60-65 บาท , น่องติดสะโพก  น่อง  สะโพก 60-65บาท และเนื้ออก 65-70บาทต่อกิโลกรัมฃ


และในระยะยาว กรมปศุสัตว์และผู้เลี้ยงจะเร่งเพิ่มการผลิตโดยเร่งด่วน ซึ่งการเลี้ยงไก่ จะใช้เวลา 45 วัน ถึงจะได้ผลผลิต โดยยืนยันขณะนี้ไก่ไม่ได้ขาดตลาด และการบริโภคก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น โดยปีที่ผ่านมาผลิตไก่ได้ 2.9 ล้านตัน บริโภคในประเทศ 1.32 ล้านตัน และส่งออกกว่า 1 ล้านตัน


ส่วนราคาไข่ไก่ ที่ สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ขอปรับขึ้นราคาไข่คละหน้าฟาร์มฟองละ 20 สตางค์ จากเดิม 2.80 สตางค์ เป็น 3 บาท ก็ยังไม่อนุญาตให้ปรับขึ้นราคาเช่นกัน ซึ่งในวันนี้ (11 ม.ค.) ได้หารือกับผู้เลี้ยง และแต่ละฝ่าย จะนำไปหารือกับผู้เกี่ยวข้องในกลุ่มของตนเอง และนำข้อสรุปมาหาข้อยุติร่วมกันอีกครั้งหนึ่งในวันพฤหัสบดีนี้


ทั้งนี้ นอกจากปัญหาโรคระบาด อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้หมู -ไก่แพง คือ ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์แพง ปรับขึ้นมาตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 63 และคาดว่าจะสูงขึ้นไปอีก 6 เดือน


โดย นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า ค่าอาหารสัตว์ คิดเป็น 60% ของต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ โดยราคาข้าวโพด ได้ปรับขึ้นมาตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 63 ตามความต้องการในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ส่งผลให้ราคาข้าวโพดในตลาดโลกสูงขึ้น 15-20% ขณะที่ราคาในประเทศไทย แพงที่สุดในโลก ปีนี้พุ่งแตะ 12-14 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิม 8-9 บาท


โดยสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย คาดการณ์ว่า ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ จะยังพุ่งสูงขึ้นไปอีก 6 เดือน เนื่องจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เข้าสู่ปลายฤดูการผลิตและผลผลิตจะมีน้อย กากถั่วเหลืองที่ปรับขึ้น เพราะจีนเร่งซื้อก่อนปิดตรุษจีน บวกกับปัจจัยเสริม คือ ค่าเงินบาทอ่อนตัว ค่าระวาง ราคาน้ำมัน และค่าจัดการปรับสูงขึ้น ทั้งนี้ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เห็นด้วยที่ภาครัฐ จะยกเว้นภาษีการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพื่อให้ต้นทุนถูกลง ส่วนการบรรเทาผลกระทบผู้บริโภค ให้อุดหนุนผ่านโครงการคนละครึ่ง



ชมผ่านยูทูบ :    https://youtu.be/8AmcgO0SMZs

คุณอาจสนใจ

Related News