เศรษฐกิจ

ป.ป.ช.แนะรัฐบาล 8 ข้อ แจกเงินดิจิทัล ชี้เสี่ยงทุจริตสูง ยันเศรษฐกิจไทยยังไม่วิกฤติ เตือนกู้เสี่ยงขัด รธน.

โดย nattachat_c

8 ก.พ. 2567

89 views

ความเคลื่อนไหวต่อประเด็นโครงการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท หลัง ป.ป.ช. แถลงชี้ 4 จุดเสี่ยง และ 8 ข้อเสนอไปยังรัฐบาล ย้ำว่า ไม่ได้คัดค้าน เพียงแค่แนะนำให้พิจารณา ก็เตือนว่าการกู้เงิน เสี่ยงขัดต่อรัฐธรรมนูญ


วานนี้ (7 ก.พ. 67) เวลา 14.00 น.นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงต่อสื่อมวลชน ว่า


คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ของรัฐบาล เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่ และอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 32 ในการเสนอมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการ ในการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริต การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ซึ่งนโยบายดังกล่าว เป็นนโยบายที่ใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน  และอาจสร้างภาระการคลังในระยะยาว


ในการนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงแต่งตั้ง “คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณี การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet” เพื่อศึกษารายละเอียด ผลกระทบ และความเสี่ยงต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการตามนโยบายดังกล่าว โดยได้มีการศึกษาข้อมูล ข้อเท็จจริง จากเอกสารหลักฐานต่าง ๆ รวมถึงการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณี การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จากส่วนราชการและหน่วยงาน ตลอดจนนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง


ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า มีประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณา จำนวน 4 ประเด็นหลักๆ ได้แก่


1. ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริต อาทิ ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ความเสี่ยงต่อการทุจริตจากกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับเงินจากโครงการฯ


2. ประเด็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ กล่าวคือ การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะสมดุล จะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและมีความจำเป็น ตลอดจนผลกระทบ และภาระทางการเงิน การคลังในอนาคต และในกรณีที่มีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤต ควรมีการจัดลำดับความสำคัญ รวมถึงการพิจารณากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง อาทิ กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน จึงอาจเป็นทางเลือกที่จะไม่ส่งผลกระทบทางการคลัง โดยเฉพาะดอกเบี้ยและสัดส่วนของหนี้สาธารณะได้มากกว่า


3.ประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมาย กล่าวคือ การดำเนินโครงการภายใต้แนวนโยบายดังกล่าวรัฐบาลจะต้องตระหนัก และใช้ความระมัดระวังอย่างเคร่งครัดและรอบคอบภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ชัดเจน โปร่งใส ปราศจากการทุจริตและประพฤติมิชอบ อาทิ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ตลอดจนกฎหมาย คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และระเบียบอื่นๆ   ที่เกี่ยวข้อง


4. ประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และประเด็นเกี่ยวกับการ กำหนดนโยบายของพรรคการเมือง


คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 15/2567 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567พิจารณาแล้ว มีมติเห็นควรเสนอข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณี การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาดำเนินการตามควรแก่กรณี ในการป้องกันมิให้เกิดการทุจริต   หรือเกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน โดยมีข้อเสนอแนะฯ จำนวน 8 ข้อ ดังนี้


1. รัฐบาลควรศึกษา วิเคราะห์ การดำเนินโครงการตามนโยบายฯ รวมทั้งชี้แจงความชัดเจน อย่างเป็นรูปธรรม ว่าผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ จะไม่ตกแก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บุคคลรายใดรายหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพมากกว่าผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเป็นการดำเนินนโยบายที่อาจเข้าข่ายการทุจริตเชิงนโยบาย รวมทั้งประชาชน ที่เข้าร่วมโครงการเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะได้รับประโยชน์จากการดำเนินโครงการของรัฐบาลอย่างแท้จริง เช่น เป็นผู้ที่มีรายได้น้อย หรือกลุ่มเปราะบาง พร้อมกับต้องมีขั้นตอนและวิธีการที่เป็นรูปธรรมชัดเจนเพื่อให้สามารถกระจายการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม


2. การหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 และ พรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล ได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 เกี่ยวกับโครงการดังกล่าวนั้น มีความแตกต่างกัน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งควรดำเนินการตรวจสอบว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่ มาประกอบการพิจารณาด้วย มิฉะนั้น จะเป็นบรรทัดฐานสำหรับพรรคการเมืองสามารถหาเสียงไว้อย่างไร เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้ว ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามที่ได้หาเสียงไว้


3.การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ควรคำนึงถึงความคุ้มค่าและความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนผลกระทบ และภาระทางการเงิน การคลังในอนาคต ภายใต้หลักธรรมาภิบาล 4 ด้าน คือ ความโปร่งใส (Transparency) การถ่วงดุล (Checks and Balances) การรักษาความมั่นคงของระบบการคลัง (Fiscal Integrity) และความคล่องตัว (Flexibility) ซึ่งรัฐบาลพึงต้องใช้ความระมัดระวัง พิจารณาระหว่างผลดี ผลเสียที่จะต้องกู้เงินจำนวน 500,000 ล้านบาท ในขณะที่ตัวทวีคูณทางการคลังมีเพียง 0.4 การกู้เงินจึงเป็นการสร้างภาระหนี้แก่รัฐบาลและประชาชนในระยะยาว ซึ่งจะต้องตั้งงบประมาณในการชำระหนี้จำนวนนี้เป็นระยะเวลา 4 - 5 ปี กระทบต่อตัวเลขการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ


4. การดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet คณะรัฐมนตรีและหน่วยงาน  ที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมายอย่างรอบคอบ ประกอบด้วย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (มาตรา 172) พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (มาตรา 53) พระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (มาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 6) พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ตลอดจนกฎหมาย คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินโครงการ เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย


5.คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการประเมินความเสี่ยงในการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet อย่างรอบด้าน โดยกำหนดแนวทางหรือมาตรการในการบริหารความเสี่ยง และการป้องกันการทุจริต ตลอดจนมีกระบวนการในการตรวจสอบทั้งก่อน ระหว่าง และหลังจากการดำเนินโครงการ  ซึ่งอาจพิจารณานำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง การบูรณาการป้องกันการทุจริตของโครงการภาครัฐ (โดยการติดตามประเมินผลการดำเนินงาน) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553  มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet สามารถดำเนินการได้อย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติอย่างแท้จริง


6. ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้กับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาถึงความจำเป็นและความเหมาะสม ตลอดจนระยะเวลา และงบประมาณที่ต้องใช้ในการพัฒนาระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และระยะเวลาในการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการแจกเงินเพียงครั้งเดียวโดยให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน


7.จากข้อมูลภาวะเศรษฐกิจของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้จากการศึกษา และตัวทวีคูณทางการคลังรวมถึงตัวบ่งชี้ภาวะวิกฤตที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รวบรวมและประมวลข้อมูลจากงานศึกษาของธนาคารโลกและ IMF มีความเห็นตรงกันว่า ในช่วงเวลาที่ศึกษาอัตราความเจริญเติบโตของประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ เพียงแต่ชะลอตัวเท่านั้น


ดังนั้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน รัฐบาลควรพิจารณาและให้ความสำคัญต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่น การกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน การกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การเพิ่มทักษะให้แก่แรงงาน เป็นต้น ในกรณีที่รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤต ควรพิจารณากลุ่มประชาชนเป้าหมายที่เปราะบางที่สุด ซึ่งต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 อาทิ กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน


8. หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องการช่วยเหลือประชาชน รัฐบาลควรช่วยเหลือกลุ่มประชาชนที่มีฐานะยากจน ที่เปราะบาง ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เท่านั้น โดยแจกจากแหล่งเงินงบประมาณปกติ มิใช่เงินกู้  ตามพระราชบัญญัติเงินกู้ และจ่ายในรูปเงินบาทปกติในอัตราที่เหมาะสม เพื่อพยุงการดำรงชีวิตของกลุ่มประชาชน ที่ยากจน โดยการกระจายจ่ายเงินเป็นงวด ๆ หลายงวดผ่านระบบแอปเป๋าตังที่มีประสิทธิภาพ และมีฐานข้อมูลครบสามารถทำได้รวดเร็ว การดำเนินการกรณีนี้ หากใช้แหล่งเงินงบประมาณปกติ มิใช่จากการกู้เงินตามพระราชบัญญัติเงินกู้ จะลดความเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ ขัดพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 และขัดพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ประการสำคัญไม่สร้างภาระหนี้สาธารณะของประเทศในระยะยาว

--------------------

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. ตอบข้อซักถามนักข่าว ภายหลังแถลงความคืบหน้าข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลกรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ถึงประเด็นที่เสนอแนะ กกต.ให้ตรวจสอบนโยบายนี้ถือเป็นการสัญญาว่าจะให้หรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า ก็อยากให้ กกต. ไปตรวจสอบว่าการที่ให้นโยบายไว้อย่างนึง แต่พอได้เข้ามาบริหารประเทศได้ดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงไว้หรือไม่ มันแตกต่างกันอย่างไร


ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องที่มาของแหล่งเงิน แต่น่าจะต้องดูภาพรวมทั้งหมด สิ่งสำคัญคืออยากให้ทุกพรรคการเมืองคำนึงถึงการหาเสียง ควรจะพิจารณาให้รอบคอบก่อน ว่าพอมาบริหารประเทศแล้ว จะสามารถทำได้หรือไม่ มิเช่นนั้นจะเหมือนโฆษณาไว้ แต่เวลาซื้อจริงไม่ตรงตามโฆษณา ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะไม่ได้มีสภาพบังคับให้ กกต.ต้องดำเนินการ


เมื่อถามว่าส่วนที่ กกต.เคยตีตกคำร้องเรื่องนโยบาย Digital wallet มาแล้ว 1 ครั้งตอนหาเสียงเลือกตั้งว่าไม่ได้เข้าข่ายสัญญาว่าจะให้ นายนิวัติไชย กล่าวว่า อาจจะเป็นดุลพินิจของ กกต. ในตอนนั้นเราไม่ก้าวล่วง แต่ข้อเสนอขอ ป.ป.ช.เราก็พิจารณาจากนโยบายที่รัฐบาลแถลงตอนนี้ โดยที่ยังไม่ได้มีการขับเคลื่อนโครงการ ซึ่งเราก็เสนอแนะในรูปธรรม ยังไม่ได้บอกว่าจะเกิดการทุจริต


นักข่าวถามว่าหากรัฐบาลไม่ดำเนินการตามข้อเสนอ 8 ข้อ ของ ป.ป.ช.จะเสี่ยงทุจริตหรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า เราไม่ทราบว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร แต่ ป.ป.ช.มีหน้าที่เสนอแนะ ตามหน้าที่ในการป้องนำปราบ ไม่ใช่รอให้เกิดการทุจริตแล้วค่อยดำเนินการ พร้อมยืนยันว่าความเห็นของ ป.ป.ช. ไม่ใช่เรื่องมโน แต่มันเป็นความเห็นเชิงวิชาการ ไม่ใช่คิดเองเออเอง แต่มันเป็นความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิหลายภาคส่วน


เมื่อถามว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ รัฐบาลเดินหน้าโครงการตามแนวทางเดิม นายนิวัติไชย กล่าวว่า เป็นเรื่องของอนาคตหากดำเนินการไปแล้วสามารถอธิบายได้ สามารถชี้แจงต่อสาธารณชนได้ ไม่มีการทุจริตคอรัปชั่นเกิดขึ้น และไม่มีการเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ก็ไม่มีปัญหาอะไรที่ส่งผลกระทบต่อรัฐบาล


เมื่อถามว่าตอนนี้รัฐบาลมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจวิกฤต จึงต้องเดินหน้าโครงการนี้ นายนิวัติไชย กล่าวว่า สิ่งแรกที่เราต้องมองคือว่าประเทศไทยตอนนี้วิกฤตหรือไม่ซึ่งอาจจะมีความเห็นที่แตกต่างกัน แต่นักวิชาการ ของ ป.ป.ช.มองว่ายังไม่วิกฤต เราจึงได้เสนอมุมมองนี้ให้กับรัฐบาล แต่หากรัฐบาลมีมุมมองและข้อมูล ว่า วิกฤตก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการดำเนินโครงการ


เมื่อถามว่าหากมีการ ออก พ.ร.บ.กู้เงิน มาดำเนินโครงการใครจะเป็นคนชี้ว่าคุ้มค่าตามกฎหมายหรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า คงเป็นรัฐบาล เมื่อดำเนินโครงการแล้วก็จะต้องรับผิดชอบ แต่ในการขับเคลื่อนรัฐบาลก็ต้องมีข้อมูลพอสมควรว่าใช้ Big Data จากที่ไหน


นายนิวัติไชย ยังกล่าวด้วยว่า หลังจากนี้ ป.ป.ช.ติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิด เป็นแนวทางในการป้องกัน เพราะตอนนี้เราก็ยังไม่รู้ว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร แล้ว ป.ป.ช.ไม่สามารถที่จะชี้ชัดได้ว่า โครงการนี้ดีหรือไม่ดี รัฐบาลควรจะยึดติดโครงการนี้หรือเดินหน้าต่อ และยืนยัน ว่า ป.ป.ช.ไม่มีหน้าที่ไประงับยับยั้งโครงการ เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ เว้นแต่กรณีที่มีความผิดเกิดขึ้น เกิดการทุจริตไปแล้ว ป.ป.ช.สามารถขอศาลให้มีสั่งยกเลิกโครงการ


เมื่อถามว่าหากรัฐบาลยืนยันจะออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน เข้าสู่สภาฯ ป.ป.ช.สามารถตรวจสอบเชิงรุกได้เลยหรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า เราก็ตรวจสอบเป็นระยะ แต่การที่กฎหมายจะผ่านสภาฯ ก็ต้องความผ่านความเห็นจากสมาชิกซึ่งมาจากประชาชน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะต้องผ่าน ทั้ง สส.และ สว. เขาอาจจะหยิบยกข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.ไว้พิจารณาด้วย


เมื่อถามว่ารัฐบาลเดินหน้าโดยไม่รับฟังข้อเสนอแนะ มีโอกาสจะซ้ำรอยเหมือนโครงการรับจำนำข้าวหรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า เป็นเรื่องของอนาคต ไม่สามารถชิงที่จะวินิจฉัยก่อนได้ เป็นการลักไก่ไม่ถูกต้อง

-------------



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/uFCos12sVso

คุณอาจสนใจ

Related News